บาลีวันละคำ

วิศวกร (บาลีวันละคำ 1,808)

วิศวกร

อ่านว่า วิด-สะ-วะ-กอน

แยกศัพท์เป็น วิศว + กร

(๑) “วิศว

อ่านว่า วิด-สะ-วะ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกว่า “วิศว” เป็นคำสันสกฤต ตรงกับคำบาลีว่า “วิสฺส” (วิด-สะ)

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) มีศัพท์ว่า “วิสฺส” บอกไว้ว่า –

วิสฺส รากศัพท์มาจาก วิสฺ (ธาตุ = พรากออกไป) + ปัจจัย

: วิสฺ + = วิสฺส แปลตามศัพท์ว่า “กลิ่นที่พรากออก” (คือไล่คนออกห่างเพราะเหม็น) หมายถึง เหม็นคาว

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ (THE PALI TEXT SOCIETY’S PALI-ENGLISH DICTIONARY EDITED BY T. W. RHYS DAVIDS) มีคำว่า “วิสฺส” 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) วิสฺส ๑ : (คุณศัพท์) ทั้งหมด, ทุกอย่าง, ทั้งเพ; เฉพาะในชื่อบุคคลเป็น วิสฺสกมฺม (all, every, entire; only in Np. Vissakamma.)

(2) วิสฺส ๒ : (คำนาม) เหม็นคาว (a smell like raw flesh)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “วิศว” 3 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) วิศว : (คุณศัพท์) สกล, ทั้งมวล, ทั้งสิ้น, ทั่วไป; entire, whole, all, universal.

(2) วิศว : (คำนาม) โลก; ขิงแห้ง; the world; dry ginger.

(3) วิศว : (คำนาม) เทวดาองค์หนึ่งในจำพวกพิเศษซึ่งนับได้สิบองค์ด้วยกันอันมีนามว่า วสุ, สัตยะ, กระตุ, ทักษะ, กาละ, กามะ, ธฤติ, กุรุ, ปุรุรวะ, และมทรวะ; a deity of a particular class in which ten are enumerated; their names are Vasu, Satya, kratu, Daksha, Kāla, Kāma, Dhriti, Kuru, Pururava, and Madrava.

อนึ่ง พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกด้วยว่า คำว่า “วิสฺส” ในบาลีที่หมายถึง all, every, entire คือที่ตรงกับ “วิศว” ในสันสกฤตนั้น เป็นคำรุ่นเก่าในบาลี (antiquated) ในคัมภีร์ใช้คำว่า “สพฺพ” แทนหมดแล้ว

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำที่ขึ้นต้นด้วย “วิศว-” ดังนี้ –

(1) วิศว– : (คำวิเศษณ์) ทั้งหมด, ทั้งปวง. (ส. วิศฺว; ป. วิสฺส).

(2) วิศวกร : (คำนาม) ผู้ประกอบงานวิศวกรรม.

(3) วิศวกรรม : (คำนาม) ชื่อเทวดาตนหนึ่ง ผู้ชํานาญในการช่างทั้งปวง, วิษณุกรรม วิสสุกรรม เวสสุกรรม หรือ เพชฉลูกรรม ก็เรียก. (ส.; ป. วิสฺสกมฺม, วิสฺสุกมฺม); การนําความรู้ทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติมาประยุกต์ใช้.

(4) วิศวกรรมศาสตร์ : (คำนาม) วิชาที่เกี่ยวกับการนําความรู้ทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติมาประยุกต์ใช้ มีหลายสาขา เช่น วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล. (อ. engineering).

(๒) “กร

บาลีอ่านว่า กะ-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย

: กรฺ + = กร แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “การทำ” หมายถึง ผลิต, ก่อ, ประกอบ, กระทำ (producing, causing, forming, making, doing)

(2) “ผู้ทำ” หมายถึง ผู้กระทำ (the maker)

(3)“อวัยวะเป็นเครื่องทำงาน” หมายถึง มือ (the hand)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “กร” ไว้ว่า –

(1) กร ๑ : (คำนาม) ผู้ทํา, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น กรรมกร เกษตรกร. (ป.).

(2) กร ๒ : (คำนาม) มือ (มักใช้ในบทประพันธ์); แขน เช่น เจ้างามกรอ่อนดังงวงเอราวัณ. (กลบท); (ราชา) มือ, แขน, ปลายแขน, ใช้ว่า พระกร หรือ กร. (ป., ส.).

(3) กร ๓ : (คำนาม) แสง, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น รัชนีกร นิศากร. (ป.).

ในที่นี้ “กร” มีความหมายตามข้อ (1)

วิศว + กร = วิศวกร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำวิศวะ” หมายถึง ผู้ประกอบงานวิศวกรรม (ดูความหมายตามพจนานุกรมฯ ข้างต้น)

พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกว่า “วิศวกร” ตรงกับคำอังกฤษว่า engineer

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล engineer เป็นบาลีว่า

: yantasippī ยนฺตสิปฺปี (ยัน-ตะ-สิปฺ-ปี) = ผู้ชำนาญทางเครื่องยนต์กลไก

…………..

อภิปราย :

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล engineer เป็นบาลีว่า “ยนฺตสิปฺปี” = ผู้ชำนาญทางเครื่องยนต์กลไก นับว่าตรงตามคำอังกฤษ แต่คำไทยบัญญัติศัพท์เป็น “วิศวกร” นับว่าแปลกอยู่

วิศว” ตามศัพท์แปลว่า ทั้งมวล, ทั้งสิ้น, ทั่วไป (entire, whole, all, universal) ไม่ได้หมายถึงเครื่องจักรเครื่องกลแต่ประการใด แล้วทำไมคำอังกฤษว่า engineer เราจึงบัญญัติศัพท์เป็น “วิศวกร” ไปได้

ในบาลีมีศัพท์ว่า “วิสฺสกมฺม” และ “วิสฺสุกมฺม” คือที่เรามักเรียกกันว่า “พระวิษณุกรรม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานดังที่อ้างข้างต้นที่คำว่า “วิศวกรรม” บอกว่า ก็คือ วิษณุกรรม หรือวิสสุกรรม เป็นชื่อเทวดาตนหนึ่ง ผู้ชํานาญในการช่างทั้งปวง

สันนิษฐานว่า คำว่า “วิศวกรรม” นี่เองที่เป็นต้นเหตุให้เกิดคำว่า “วิศวกร” นั่นคือ ผู้คิดคำนี้คงแยก “วิศวกรรม” เป็น วิศว + กรรม และเข้าใจว่า “กรรม” หมายถึง “การกระทำ” ถ้าจะให้หมายถึง “ผู้กระทำ” ก็ต้องเปลี่ยนเป็น “กร” เมื่อจะคิดคำมาเรียกผู้ชํานาญในการช่างทั้งปวงซึ่งมีผู้ชำนาญเรื่องเครื่องจักรกลเด่นอยู่เป็นพิเศษ จึงเอาคำว่า “กร” ไปต่อท้ายคำ “วิศว” ที่ตั้งใจตัดมาจาก “วิศวกรรม” รวมเข้าเป็น “วิศวกร” และใช้ในความหมายว่า ผู้นำเอาความรู้ทางวิศวกรรมมาประยุกต์ใช้ ดังที่เราเข้าใจกันอยู่ทุกวันนี้

ความหมายของคำว่า “วิศว” จึงเพี้ยนไปจากเดิมด้วยประการฉะนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนไม่ใช่เครื่องจักร

: ถ้าไม่มีความเห็นใจ ไม่ให้ความรัก – ไม่ใช่คน

21-5-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย