สัญลักษณ์ (บาลีวันละคำ 1,811)
สัญลักษณ์
ไม่ใช่ สัญญาลักษณ์
อ่านว่า สัน-ยะ-ลัก
แยกศัพท์เป็น สัญ + ลักษณ์
(๑) “สัญ”
บาลีเป็น “สญฺญา” (สัน-ยา) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน) + ญา (ธาตุ = รู้) แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ญฺ (สํ > สญฺ) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ
: สํ > สญฺ + ญา = สญฺญา + กฺวิ = สญฺญากฺวิ > สญฺญา (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเครื่องจำ”
“สญฺญา” ในบาลีมีความหมายหลายอย่าง คือ –
(1) ความรู้สึก, ความรับรู้, ความจำได้, ความหมายรู้ (sense, consciousness, perception)
(2) ความสังเกตจดจำ, ความสุขุม, ความตระหนัก (sense, perception, discernment, recognition)
(3) แนวความคิด, ความคิด, ความเข้าใจ (conception, idea, notion)
(4) สัญญาณ, กิริยาท่าทาง, เครื่องแสดง, เครื่องหมาย (sign, gesture, token, mark)
(5) ความประทับใจที่เกิดจากความรู้สึกและการจำได้, ความรู้สึกว่ามีบางสิ่งที่เหมือนกัน (เช่นเห็นคนหนึ่งแล้วนึกถึงอีกคนหนึ่ง) (sense impression and recognition)
ความหมายในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สัญญา : (คำนาม) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) ข้อตกลงระหว่างบุคคล ๒ ฝ่ายหรือหลายฝ่ายว่าจะกระทําการหรืองดเว้นกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่ง; ข้อตกลงกัน, คำมั่น, เช่น เขาให้สัญญาว่าจะมาหาพรุ่งนี้; ความจํา เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. (คำกริยา) ให้คํามั่น, รับปาก, ทําความตกลงกัน, เช่น แม่สัญญากับลูกว่าถ้าสอบได้ที่ ๑ จะให้รางวัล. (ป.).”
(๒) “ลักษณ์”
บาลีเป็น “ลกฺขณ” (ลัก-ขะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ลกฺขฺ (ธาตุ = กำหนด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, แปลง น เป็น ณ
: ลกฺขฺ + ยุ > อน = ลกฺขน > ลกฺขณ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สภาวะอันธรรมดากำหนดไว้อย่างนั้นนั่นเอง” (2) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขาใช้กำหนดหมาย”
“ลกฺขณ” หมายถึง สัญลักษณ์, เครื่องหมาย, เครื่องหมายที่เด่นหรือลักษณะที่สำคัญ, คุณภาพ (sign, characteristic, mark, a distinguishing mark or salient feature, property, quality)
“ลกฺขณ” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ลักษณ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ลักษณ-, ลักษณะ : (คำนาม) สมบัติเฉพาะตัว เช่น น้ำมีลักษณะเป็นของเหลว ลูกบิลเลียดมีลักษณะกลม ลูกเต๋ามีลักษณะเหลี่ยม คนไทยมีลักษณะอ่อนโยน; ประเภท เช่น ใน ๓ ลักษณะ. (ส.; ป. ลกฺขณ).”
“ลักษณ-, ลักษณะ” เมื่ออยู่โดดๆ หรืออยู่ท้ายคำและต้องการให้อ่านว่า “ลัก” จึงใส่ไม้ทัณฑฆาต (ที่มักเรียกกันว่า “การันต์”)ที่ ณ เขียนเป็น “ลักษณ์”
สัญญา + ลักษณ์
ขั้นที่ ๑ ใช้สูตรสมาสบาลี “ลบสระหน้า” หมายถึงลบสระท้ายที่ศัพท์หน้าคือ สัญญา ลบ อา = สัญญ
: สัญญา + ลักษณ์ = สัญญาลักษณ์ > สัญญลักษณ์
ขั้นที่ ๒ ใช้หลักนิยมในภาษาไทยที่ให้ตัดตัวซ้อนในคำบาลีสันสกฤต ในที่นี้ “สัญญ” (ซึ่งคำเดิมคือ สัญญา) ญ เป็นตัวสะกด และมี ญ เป็นตัวซ้อนอีกตัวหนึ่ง ตัดตัวซ้อนออก สัญญ = สัญ แต่ยังคงอ่านว่า สัน-ยะ เนื่องจากมีคำมาสมาสข้างท้าย
: สัญญ + ลักษณ์ = สัญญลักษณ์ > สัญลักษณ์ อ่านว่า สัน-ยะ-ลัก แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องหมายที่รับรู้ร่วมกัน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สัญลักษณ์ : (คำนาม) สิ่งที่กําหนดนิยมกันขึ้นเพื่อให้ใช้หมายความแทนอีกสิ่งหนึ่ง เช่น ตัวหนังสือเป็นสัญลักษณ์แทนเสียงพูด H เป็นสัญลักษณ์แทนธาตุไฮโดรเจน + − x ÷ เป็นสัญลักษณ์เครื่องหมายทางคณิตศาสตร์. (อ. symbol).”
“สัญลักษณ์” เป็นคำที่บัญญัติมาจากคำอังกฤษว่า symbol
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล symbol เป็นบาลีดังนี้
(1) ciṇha จิณฺห (จิน-หะ หรือ จิน-หฺนะ) = เครื่องหมาย
(2) visesalakkhaṇa วิเสสลกฺขณ (วิ-เส-สะ-ลัก-ขะ-นะ) = ลักษณะพิเศษ, เครื่องหมายพิเศษ
…………..
อภิปราย :
คำว่า “สัญลักษณ์” นี่เมื่อแรกปรากฏตัว มีความสับสนบางประการ เช่น –
๑ มี ญ หญิง ตัวเดียวหรือสองตัว คือจะเขียนเป็น “สัญญลักษณ์” หรือ “สัญลักษณ์” กันแน่
๒ คำที่อ่านว่า “ลัก สะกดอย่างไร “-ลักษณ์” ตามสันสกฤต หรือ “-ลักขณ์” ตามบาลี
เพราะฉะนั้น จึงมีผู้สะกดกันหลายแบบ คือ –
“สัญญลักษณ์” = “-ลักษณ์” ตามสันสกฤต ญ สองตัว
“สัญลักษณ์” = “-ลักษณ์” ตามสันสกฤต ญ ตัวเดียว
“สัญญลักขณ์” = “-ลักขณ์” ตามบาลี ญ สองตัว
“สัญลักขณ์” = “-ลักขณ์” ตามบาลี ญ ตัวเดียว
ปัจจุบันยุติแล้ว คือพจนานุกรมฯ สะกดเป็น –
“สัญลักษณ์” = “-ลักษณ์” ตามสันสกฤต ญ ตัวเดียว
แต่ก็มีปัญหาใหม่อีก คือมีคนนิยมพูดและเขียนคำนี้เป็น “สัญญาลักษณ์” เหมือนกับจะเข้าใจว่าคำนี้คือ สัญญา + ลักษณ์ = สัญญาลักษณ์
จะว่าไม่ได้สังเกต ไม่รับรู้ ไม่ยอมรับ หรือทำไปด้วยความเคยชินจากความเข้าใจผิดๆ ว่าคำนี้เขียนอย่างที่เขียนผิด (สัญญาลักษณ์) นั่นน่ะถูก หรือเพราะเหตุอันใดก็เหลือเดา
เทียบกับคำว่า “อุปาทาน” แล้วก็ชวนให้คิดว่าช่างแปลกพิลึก
“อุปาทาน” มีสระ อา ไพล่ไปเขียนและพูดเป็น “อุปทาน” (ไม่มีสระ อา)
“สัญลักษณ์” ไม่มีสระ อา ไพล่ไปเขียนและพูดเป็น “สัญญาลักษณ์” (มีสระ อา)
จะว่าไม่เคารพกติกา ก็ไม่น่าจะใช่
เรียกว่าไม่เอาใจใส่หรือไม่ใฝ่รู้ น่าจะถูกกว่า
…………..
ดูก่อนภราดา!
: การไม่เคารพกฎกติกาที่สังคมสมมุติ
: เป็นสัญลักษณ์ของมนุษย์ที่ยังด้อยพัฒนา
24-5-60