บาลีวันละคำ

นรสีห์ (บาลีวันละคำ 1,812)

นรสีห์

อ่านว่า นอ-ระ-สี

แยกศัพท์เป็น นร + สีห์

(๑) “นร

บาลีอ่านว่า นะ-ระ รากศัพท์มาจาก –

(1) นี (ธาตุ = นำไป) + อร ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือลบ อี ที่ นี (นี > )

: นี > + อร = นร แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้นำไป” (2) “ผู้นำไปสู่ความเป็นใหญ่

(2) นรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป; นำไป) + ปัจจัย

: นรฺ + = นร แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ดำเนินไปสู่ภพน้อยภพใหญ่” (2) “ผู้อันกรรมของตนนำไป” (3) “ผู้ถูกนำไปตามกรรมของตน

นร” (ปุงลิงค์) ความหมายที่เข้าใจกันคือ “คน” (man) (ปกติไม่จำกัดว่าหญิงหรือชาย)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความไว้ว่า in poetry esp. a brave, strong, heroic man (โดยเฉพาะในบทร้อยกรอง หมายถึงคนผู้กล้าหาญ, แข็งแกร่ง, วีรบุรุษ)

(๒) “สีห์

บาลีเป็น “สีห” อ่านว่า สี-หะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สีหฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ปัจจัย

: สีหฺ + = สีห แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่เบียดเบียนพวกกวาง

(2) สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + อีหฺ (ธาตุ = พยายาม) + ปัจจัย, ลบ , ลบนิคหิตที่ สํ (สํ > )

: สํ > + อีหฺ = สีหฺ + = สีหณ > สีห แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่พยายามพร้อมที่จะฆ่าพวกกวาง

(3) สหฺ (ธาตุ = อดทน) + ปัจจัย, แปลง อะ ที่ -(หฺ) เป็น อี (สหฺ > สีห)

: สหฺ + = สหฺ > สีห แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่อดทน

สีห” (ปุงลิงค์) หมายถึง สิงโต, ราชสีห์ (a lion)

บาลี “สีห” สันสกฤตเป็น “สึห” (สิง-หะ)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สึห : (คำนาม) ‘สิงห์,’ เกสริน, สัตว์มีผมคอ; สิงหราศิ, ราศีสิงห์; ต้นมะเขือ; มารดาของราหุหรือราหู; พาลพฤกษ์; ต้นพฤหดีหรือตรังตังช้าง; a lion; Leo, the sign of the zodiac; the egg-plant; the mother of Rahu; a shrub; the prickly night-shade. – (คุณศัพท์) (คำใช้ในการรจนา) วิศิษฏ์; เอก; (In composition) pre-eminent; chief.”

สึห” รูปคำสันสกฤต เราเอามาใช้ในภาษาไทยว่า “สิงห์” อ่านว่า สิง

สีห” รูปคำบาลี เราเอามาใช้ในภาษาไทย การันต์ที่ เป็น “สีห์” อ่านว่า สี

นร + สีห = นรสีห > นรสีห์ แปลตามศัพท์ “คนผู้กล้าเพียงดังราชสีห์

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “นรสีห, นรสิงฺห” บอกความหมายไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

นรสีห, นรสิงฺห : (คำนาม) ‘นรสิงห์,’ พระวิษณุในอวตารครั้งที่สี่, นรผู้มีศีรษะเปนสิงห์; อธิบดี, ประธานบุรุษ, ผู้เปนเจ้า, ผู้เปนใหญ่; Vishṇu in his fourth Avatār or dedcent, the lion-headed man; a chief, a man of eminence or power.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เก็บคำว่า นรสีห์ นรสิงห์ ไว้ด้วยกัน บอกไว้ว่า –

นรสิงห์, นรสีห์ : (คำนาม) คนปานสิงห์, นักรบผู้มหาโยธิน. (ส., ป.).”

แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บแยกเป็น 2 คำบอกไว้ว่า –

(1) นรสิงห์ : (คำนาม) คนที่เก่งกล้าดุจราชสีห์, อวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ มีหน้าเป็นสิงห์ตัวเป็นมนุษย์. (ส., ป.).

(2) นรสีห์ : (คำนาม) คนที่เก่งกล้าดุจราชสีห์, สัตว์หิมพานต์พวกหนึ่ง ท่อนบนเป็นมนุษย์ผู้ชาย ท่อนล่างเป็นราชสีห์. (ส., ป.).

ในเมืองไทย “นรสีห์” เป็นนามพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่ง เรียกว่า “พระพุทธนรสีห์

…………..

ความรู้เรื่องพระพุทธนรสีห์ :

เมื่อครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จไปตรวจราชการเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2441 เสด็จไปที่วัดพระสิงห์ เมืองเชียงใหม่ ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรแบบเชียงแสนองค์หนึ่ง ตั้งไว้บนฐานชุกชีในพระวิหารหลวงวัดพระสิงห์ มีลักษณะงาม จึงตรัสขอเจ้าอินทรวโรรสสุริยวงศ์ อัญเชิญลงมาไว้สำหรับทรงสักการบูชาในท้องพระโรงวังที่ประทับในกรุงเทพฯ

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างวัดเบญจมบพิตร มีพระราชประสงค์จะใคร่ได้พระพุทธรูปโบราณที่มีลักษณะงาม สำหรับตั้งในศาลาการเปรียญ ซึ่งกะว่าจะทรงสร้างใหม่ มีพระราชดำรัสสั่งให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสืบหา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงกราบทูลถึงพระพุทธรูปที่ได้ทรงเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปที่วัง ได้ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปองค์นี้ก็ตรัสว่า “พระองค์นี้งามแปลกจริงๆ” และจึงโปรดเกล้าฯ ให้แห่อัญเชิญพระพุทธรูปไปที่พลับพลาในพระราชวังดุสิต แล้วถวายพระนามว่า “พระพุทธนรสีห์

เมื่อสร้างพระอุโบสถ (ชั่วคราว) ที่วัดเบญจมบพิตรแล้วเสร็จในปีต่อมา จึงอัญเชิญพระพุทธนรสีห์ไปเป็นพระประธาน “ทรงพระราชดำริว่า พระพุทธนรสีห์ เป็นพระพุทธรูปอันมีพระพุทธลักษณะงามยิ่งนัก จะหาเสมอเหมือนได้โดยยาก” ต่อมาเมื่อสร้างพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรแล้วเสร็จ จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธชินราชจำลองมาเป็นพระประธานภายในพระอุโบสถ

ส่วนพระพุทธนรสีห์นั้นโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานบนชั้นที่ 3 ของพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต อันเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ และประดิษฐานสืบมาจวบจนทุกวันนี้

คัดลอกจาก:

https://www.silpa-mag.com/club/miscellaneous/article_9455

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2560

…………..

เป็นที่น่าสังเกตว่า ชนชาติต่างๆ ทั่วโลกต่างก็ยกย่องว่า ราชสีห์เป็นสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ ความไม่หวาดหวั่นครั่นคร้ามต่อสิ่งใดๆ-แม้แต่ความตาย

…………..

ดูก่อนภราดา!

มนุษย์ประเสริฐกว่าสัตว์ –

: ถ้ากลัวที่จะทำความดี

: ก็จงอายแก่ราชสีห์ที่ไม่กลัวแม้แต่ความตาย

25-5-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย