คำบูชาข้าวพระ [6] (บาลีวันละคำ 2,005)
คำบูชาข้าวพระ [6] – คำแนะนำทั่วไป
คำว่า “ข้าวพระ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ข้าวพระ : (คำนาม) อาหารคาวหวานที่จัดใส่สำรับสําหรับถวายพระพุทธ.”
คำบูชาข้าวพระนิยมกล่าวเป็นภาษาบาลี มีข้อความดังนี้ –
เขียนแบบบาลี :
อิมํ สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ สาลีนํ โอทนํ อุทกํ วรํ พุทฺธสฺส ปูเชมิ.
เขียนแบบคำอ่าน :
อิมัง สูปะพ๎ยัญชะนะสัมปันนัง สาลีนัง โอทะนัง อุทะกัง วะรัง พุทธัสสะ ปูเชมิ.
แปลยกศัพท์ :
อหํ อันว่าข้าพเจ้า
ปูเชมิ ขอบูชา
โอทนํ ซึ่งข้าวสุก
สาลีนํ อันบริสุทธิ์ (คืออันดี, อันประณีต)
สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ อันสมบูรณ์ด้วยสูปะและพยัญชนะ
อุทกํ (และ) น้ำ
วรํ อันประเสริฐ
อิมํ นี้
พุทฺธสฺส แก่พระพุทธเจ้า
แปลโดยใจความ :
ข้าพเจ้าขอบูชาข้าวสุกอันบริสุทธิ์ พร้อมทั้งแกงและกับและน้ำอันประเสริฐนี้ แด่พระพุทธเจ้า
…………..
คำแนะนำทั่วไป :
๑. เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานใหม่ๆ ชาวพุทธยังชินอยู่กับการจัดพุทธอาสน์และภัตตาหารถวายพระพุทธเจ้า เมื่อนิมนต์พระสงฆ์ไปฉันภัตตาหาร ก็จึงจัดที่ประทับของพระพุทธเจ้าและจัดภัตตาหารตั้งไว้ เสมือนหนึ่งว่าพระพุทธองค์เสด็จมาประทับอยู่ด้วย และกลายเป็นธรรมเนียมจัดข้าวพระพุทธ และประกอบบุญกิริยาที่เรียกกันว่า “บูชาข้าวพระ” มาจนถึงทุกวันนี้
ด้วยเหตุผลทางความเป็นมาเช่นนี้ ข้าวพระหรือข้าวพระพุทธ จะจัดก็ต่อเมื่อมีการถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์เท่านั้น ไม่ใช่จัดเป็นเครื่องบูชาประจำวัน
๒. ข้าวพระ ต้องจัดให้ประณีตเหมือนที่จัดถวายพระสงฆ์หรือประณีตกว่า สมมุติว่าถ้าพระพุทธเจ้าเสด็จมาก็จะเสวยได้เต็มอิ่มจริงๆ
๓. อย่าใช้ถ้วยเล็กๆ ถาดเล็กๆ จัดข้าวพระเหมือนของเซ่นผี เพราะพระพุทธเจ้าไม่ใช่ผี
๔. ชนิดของอาหารที่เป็นหลัก ควรจัดให้สอดคล้องกับคำบูชา คือ –
1. ข้าวสุก (โอทนํ)
2. กับข้าว (สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ)
3. น้ำดื่ม (อุทกํ)
นอกจาก 3 สิ่งนี้แล้วจะมีอย่างอื่นเสริมอีกก็ได้ตามแต่จะพึงมี
๕ คำที่เรียก มักได้ยิน 2 คำ คือ “บูชาข้าวพระ” และ “ถวายข้าวพระ”
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอให้ใช้คำว่า “บูชาข้าวพระ” ด้วยเหตุผลดังนี้ –
1. สอดคล้องกับคำบูชาที่ใช้คำกริยาว่า “ปูเชมิ” (ข้าพเจ้าขอบูชา)
ทราบมาว่า คำบูชาข้าวพระนี้บางสำนักใช้คำกริยาว่า “ทมฺมิ” หรือ “เทมิ” ซึ่งแปลว่า “ข้าพเจ้าขอถวาย” พึงเข้าใจว่านั่นเป็นเพียงมติของบางสำนักเท่านั้น คำบูชาที่ถือว่าเป็นคำกลางๆ ใช้กันทั่วไปย่อมใช้คำกริยาว่า “ปูเชมิ” เป็นพื้น
2. สอดคล้องกับหลักที่ว่า “ถวาย” ต้องมีตัวผู้รับของสิ่งนั้น แต่ “บูชา” จะมีตัวผู้รับหรือไม่มีก็ได้ กรณีข้าวพระนี้ผู้บูชาไม่ได้มีเจตนาจะให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาเสวยอาหารนั้นจริงๆ อาหารจึงอยู่ในฐานะเป็นเครื่องบูชา ไม่ใช่ของถวาย (ดูเพิ่มเติม: “คำบูชาข้าวพระ [1]” บาลีวันละคำ (2,000) 3-12-60)
3. ถ้าใช้คำว่า “ถวายข้าวพระ” ย่อมจะขัดแย้งกับธรรมเนียมลาข้าวพระซึ่งมีคำกล่าวว่า “เสสํ มงฺคลํ ยาจามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าขอส่วนที่เหลืออันเป็นมงคล” คือจะกลายเป็นว่าถวายแล้วยังจะขอคืนอีก ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้น
ถ้าใช้คำว่า “บูชาข้าวพระ” จะไม่มีปัญหาเช่นนั้น เพราะข้าวพระอยู่ในฐานะเป็นเครื่องบูชา เมื่อมีเหตุอันควร ผู้บูชาหรือใครๆ ย่อมสามารถนำไปดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรได้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ข้าวพระไม่ใช่ของเซ่นผี
: จัดให้ถูกวิธี เจริญศรีสวัสดิมงคล
#บาลีวันละคำ (2,005)
8-12-60