บาลีวันละคำ

มหาบัณฑิต (บาลีวันละคำ 1,814)

มหาบัณฑิต

อ่านว่า มะ-หา-บัน-ดิด

แยกศัพท์เป็น มหา + บัณฑิต

(๑) “มหา” (มะ-หา)

รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย

: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)

มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”

ในที่นี้ “มหนฺต” เข้าสมาสกับ “ปณฺฑิต” ( = บัณฑิต) เปลี่ยนรูปเป็น “มหา

(๒) “บัณฑิต

บาลีเป็น “ปณฺฑิต” (ปัน-ดิ-ตะ) มีรากศัพท์มาได้หลายทาง เช่น :

(1) ปณฺฑา ( = ปัญญา) + อิต ( = ไป, ดำเนินไป, เกิดขึ้นพร้อม) ลบสระ อา ที่ ปณฺฑา (ปณฺฑา > ปณฺฑ)

: ปณฺฑา > ปณฺฑ + อิต = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา” (2) “ผู้มีปัญญาเกิดพร้อมแล้ว

(2) ปฑิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ คือ -แล้วแปลงเป็น (ปฑิ > ปํฑิ > ปณฺฑิ)

: ปฑิ > ปํฑิ > ปณฺฑิ + = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินไปสู่ความเป็นผู้ฉลาด

(3) ปณฺฑ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, อิ อาคมท้ายธาตุ (ปณฺฑ + อิ)

: ปณฺฑ + อิ = ปณฺฑิ + = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้จักประโยชน์และมิใช่ประโยชน์

ปณฺฑิต” เป็นคุณศัพท์ หมายถึง สุขุม, ไตร่ตรอง, รอบรู้, ฉลาด, รู้ทัน, จัดเจน, หลักแหลม, รอบคอบ, ระมัดระวัง, ถี่ถ้วน, ชำนิชำนาญ, ช่ำชอง, ว่องไว, คล่องแคล่ว, มีความสามารถ, มีไหวพริบ, รู้จักคิด, รู้จักเหตุผล = รู้จักผิดชอบชั่วดีควรไม่ควร

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปณฺฑิต” เป็นอังกฤษว่า wise, clever, skilled, circumspect, intelligent

ปณฺฑิต” ในภาษาไทยใช้ว่า “บัณฑิต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บัณฑิต : (คำนาม) ผู้ทรงความรู้, ผู้มีปัญญา, นักปราชญ์, ผู้สําเร็จการศึกษาขั้นปริญญาซึ่งมี ๓ ขั้น คือ ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก เรียกว่า บัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต, ผู้มีความสามารถเป็นพิเศษโดยกําเนิด เช่น คนนี้เป็นบัณฑิตในทางเล่นดนตรี. (ป., ส. ปณฺฑิต).”

ความหมายเดิมแท้ของ “บัณฑิต” ก็คือ ผู้มีสติปัญญา รู้จักผิดชอบชั่วดี เว้นชั่ว ประพฤติดีได้ด้วยตนเองและสามารถแนะนำสั่งสอนผู้อื่นให้ทำเช่นนั้นได้ด้วย

มหนฺต + ปณฺฑิต = มหาปณฺฑิต > มหาบัณฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีปัญญายิ่งใหญ่” คือ บัณฑิตผู้ใหญ่ บัณฑิตคนสำคัญ หรือทับศัพท์ว่า มหาบัณฑิต

ในภาษาไทย “มหาบัณฑิต” เป็นคำเรียกผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท กล่าวคือ –

ปริญญาตรี = บัณฑิต

ปริญญาโท = มหาบัณฑิต

ปริญญาเอก = ดุษฎีบัณฑิต

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ปริญญาบัตรเป็นใบรับรองว่าเป็นบัณฑิตเท่านั้น

: แต่ไม่ใช่ใบรับประกันว่าจะไม่ตกนรก

27-5-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย