บาลีวันละคำ

สุงสุมาร (บาลีวันละคำ 1,816)

สุงสุมาร

ความหมายก็น่ากลัว ตัวก็น่าเกรง

อ่านว่า สุง- สุ-มาน

สุงสุมาร” บาลีเป็น “สุํสุมาร” (สุํ– สระ อุ อยู่ล่าง นิคหิตอยู่บน) อ่านว่า สุง-สุ-มา-ระ ประกอบด้วยคำว่า สุํสุ + มาร

(๑) “สุํสุ” รากศัพท์มาจาก –

(ก) สสฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป; เบียดเบียน) + อุ ปัจจัย, แผง อะ ที่ -(สฺ) ต้นธาตุเป็น อุ (สสฺ > สุสฺ)

: สสฺ + อุ = สสุ > สุสุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังดำเนินชีวิตอยู่” หมายถึง เด็กชาย, คนหนุ่ม, เด็กหนุ่ม (a boy, youngster, lad)

(ข) สุสุ ลงนิคหิตอาคมที่ต้นศัพท์

: สุสุ > สุํสุ (สุง-สุ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เบียดเบียน

หมายเหตุ :

๑ รูปคำ “สุสุ” หมายถึง เด็กชาย, คนหนุ่ม, เด็กหนุ่ม

๒ เมื่อจะนำ “สุสุ” ไปสมาสกับ “มาร” จึงลงนิคหิตอาคมเป็น “สุํสุ” หมายถึง ผู้เบียดเบียน

(๒) “มาร

บาลีอ่านว่า มา-ระ รากศัพท์มาจาก มรฺ (ธาตุ = ตาย) + ปัจจัย, ลบ , ยืดเสียง อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (มรฺ > มาร) ตามสูตร “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ

: มรฺ + = มรณ > มร > มาร แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้ยังกุศลธรรมให้ตาย” คือมารเข้าที่ไหน ความดีที่มีอยู่ในที่นั้นก็ถูกทำลายหมดไป ความดีใหม่ๆ ก็ทำไม่ได้

(2) “ผู้เป็นเครื่องหมายแห่งความเศร้าหมองยังความดีให้ตาย” คือไม่ใช่ฆ่าความดีให้ตายอย่างเดียว หากแต่ยังก่อให้เกิดความสกปรกเลอะเทอะอีกด้วย

สรุปว่า “มาร” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำให้ตาย” มีความหมายว่า สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ, ตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มาร” ว่า Death, the Evil one, the Tempter (ความตาย, คนชั่วร้าย, นักล่อลวง)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มาร, มาร– : (คำนาม) เทวดาจําพวกหนึ่ง มีใจบาปหยาบช้าคอยกีดกันไม่ให้ทําบุญ; ยักษ์; ผู้ฆ่า, ผู้ทำลาย, ในพระพุทธศาสนาหมายถึงผู้กีดกันบุญกุศล มี ๕ อย่าง เรียกว่า เบญจพิธมาร คือ ขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร มัจจุมาร เทวบุตรมาร, โดยปริยายหมายถึงผู้ที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง. (ป., ส.).”

สุํสุ + มาร = สุํสุมาร แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่เป็นทั้งผู้เบียดเบียนและเป็นผู้ฆ่า” หมายถึง จระเข้ (a crocodile)

ส่วนพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่า “สุํสุมาร” แปลตามศัพท์ว่า “child-killing” = ผู้ฆ่าเด็ก

สุํสุมาร” ในภาษาไทยเขียนเป็น “สุงสุมาร” และมี “สุงสุมารี” อีกคำหนึ่ง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สุงสุมาร, สุงสุมารี : (คำนาม) จระเข้. (ป.; ส. ศิศุมาร, ศึศุมาร).”

แต่ในบาลี “สุํสุมารี” หมายถึง จระเข้ตัวเมีย (a female crocodile)

…………..

คำว่า “สุงสุมาร” เป็นคำที่ใช้ในวรรณคดี ไม่ได้ใช้เรียกเป็นภาษาสามัญ ถ้าจะเรียก “จระเข้” เป็นคำศัพท์ เราน่าจะคุ้นกับกับคำว่า “กุมภีล์” (กุม-พี) มากกว่า

ที่จังหวัดสุพรรณบุรีมีโรงเรียนชื่อ โรงเรียนบางปลาม้า “สูงสุมารผดุงวิทย์”

คำว่า “สูงสุมารผดุงวิทย์” มาจากชื่อผู้ก่อตั้งโรงเรียน คือ ขุนสูงสุมารเขต (เพล จุลโพธิ์) กำนันตำบลจระเข้ใหญ่ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

และราชทินนาม “สูงสุมารเขต” ก็แปลงความหมายมาจากชื่อตำบล “จระเข้ใหญ่” นั่นเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จระเข้ไม่ขึ้นมาวิ่งไล่กัดคนที่ไม่ได้ลงน้ำ ฉันใด

: ลาภก็ไม่ทำอันตรายแก่ผู้ไม่โลภ ฉันนั้น

29-5-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย