บาลีวันละคำ

สุงสุมาร (บาลีวันละคำ 1,817)

ทานาธิบดี

ไม่ใช่ประธานาธิบดี แต่ใหญ่กว่า

อ่านว่า ทา-นา-ทิ-บอ-ดี

แยกศัพท์เป็น ทาน + อธิบดี

(๑) “ทาน

บาลีอ่านว่า ทา-นะ รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ, = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ทา + ยุ > อน = ทาน แปลตามศัพท์ว่า “การให้” “สิ่งของสำหรับให้

ทาน” มีความหมายว่า –

(1) การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

(2) สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทาน” ว่า giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence (การให้, การแจกให้, ของขวัญ; การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง)

ทาน” ใช้ในรูปเดียวกันทั้งบาลีและสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ทาน : (คำนาม) ‘ทาน’, การให้, การบริจาค; มันเหลวซึ่งเยิ้มออกจากขมับช้างตกน้ำมัน; การอุปถัมภ์, การบำรุง; วิศุทธิ, นิรมลีกรณ์; การตัด, การแบ่ง; ทักษิณา, ของถวาย, ของให้เปนพิเศษ; การตี, การเฆาะ; อรัณยมธุ, น้ำผึ้งป่า; giving, gift, donation; fluid that flows from the temples of an elephant in rut; nourishing, cherishing; a present, a special gift; striking, beating; wild honey.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “ทาน” ไว้ว่า –

ทาน : การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น; สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป; …”

(๒) “อธิบดี

บาลีเป็น “อธิปติ” (อะ-ทิ-ปะ-ติ) รากศัพท์มี 2 นัย คือ –

นัยที่ 1) อธิ (คำอุปสรรค = ยิ่ง, ใหญ่, ทับ, เหนือ, บน) + ปติ

ปติ” (ปะ-ติ) รากศัพท์มาจาก –

(ก) ปา (ธาตุ = รักษา, ดูแล) + ติ ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ปา เป็น อะ (ปา > )

: ปา + ติ = ปาติ > ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักษา

(ข) ปตฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อิ ปัจจัย

: ปตฺ + อิ = ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินไปข้างหน้า

ปติ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) พ่อบ้าน, นาย, เจ้าของ, ผู้นำ (lord, master, owner, leader)

(2) สามี (husband)

อธิ + ปติ = อธิปติ นัยนี้แปลตามศัพท์ว่า “นายผู้เป็นใหญ่” “นายของผู้เป็นใหญ่”

นัยที่ 2) อธิ (คำอุปสรรค = ยิ่ง, ใหญ่, ทับ, เหนือ, บน) + ปา (ธาตุ = รักษา, ปกครอง) + ติ ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ปา เป็น อะ (ปา > )

: อธิ + ปา = อธิปา + ติ = อธิปาติ > อธิปติ นัยนี้แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ปกครองใหญ่

อธิปติ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ผู้ปกครอง, อธิบดี (ruler, master)

(2) ครอบครอง, ปกครอง, มีอำนาจเหนือ; อยู่ใต้อำนาจ หรือปกครองโดย- (ruling over, governing, predominant; ruled or governed by)

ทาน + อธิปติ =ทานาธิปติ > ทานาธิบดี แปลว่า “ผู้เป็นใหญ่ยิ่งแห่งทาน” หมายถึง ผู้มีอำนาจเต็มที่อยู่ในตัวเองที่จะให้สิ่งใดก็ได้ แก่ใครก็ได้ ตามที่ตนต้องการ

…………..

ขยายความ :

ในการถวายทานหรือให้ทาน มีคำ 3 คำ ที่ใช้เรียกผู้ให้ คือ –

(1) บุคคลใด ตนเองบริโภคของดีๆ แต่แก่ผู้อื่นให้ของไม่ดี ทำตัวเป็นทาสของสิ่งของ บุคคลนั้นเรียกว่า “ทานทาส” (ทาน-นะ-ทาด)

(2) บุคคลใด ตนเองบริโภคของอย่างใด ก็ให้แก่ผู้อื่นอย่างนั้น บุคคลนั้นเรียกว่า “ทานสหาย” (ทาน-นะ-สะ-หาย

(3) บุคคลใด ตนเองบริโภคหรือใช้ของตามที่พอมีพอเป็นไป แต่แก่ผู้อื่นจัดให้ของที่ดีๆ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจสิ่งของ แต่เป็นนายเป็นใหญ่ ทำให้สิ่งของอยู่ใต้อำนาจของตน บุคคลนั้นเรียกว่า “ทานบดี” (ทาน-นะ-บอ-ดี)

คำว่า “ทานาธิบดี” ก็มีมูลมาแต่ “ทานบดี” นั่นเอง เป็นแต่ “หลากคำ” ให้เกิดเป็นรูปคำใหม่ขึ้นมาและมีความหมายเข้มข้นขึ้น โดยอธิบายว่า คำเรียกเดิมทั้ง 3 คำนั้นเอาคุณภาพของทาน (สิ่งของที่ให้) เป็นหลักในการเรียก แต่ “ทานาธิบดี” คำนี้เอาเจตนาของผู้ให้เป็นหลัก ของที่ให้จะมีคุณภาพสูงต่ำดีเลวอย่างไรก็ตาม ตัดสินกันด้วยเจตนาหรือความมุ่งหมายในการให้เป็นสำคัญ

ถ้าให้ด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ มุ่งประโยชน์แก่ผู้รับเป็นที่ตั้ง ก็จัดว่าเป็น “ทานาธิบดี” คือสามารถยกจิตขึ้นเป็นใหญ่เหนืออำนาจแห่งผลประโยชน์ส่วนตัวอันจะเกิดมีมาเนื่องด้วยการให้นั้นได้

แต่ถ้าให้ด้วยเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ มุ่งผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นจุดหมายปลายทาง ไม่ว่าสิ่งที่ให้นั้นจะดีปานใด ก็หาจัดว่าเป็น “ทานาธิบดี” ไม่

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ผู้ให้เพราะหวังจะได้เป็นใหญ่

: ยังไม่ใช่ผู้ยิ่งใหญ่เท่ากับผู้-แม้จะไม่ได้เป็นใหญ่ก็ยังให้

30-5-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย