บาลีวันละคำ

พาหุสัจจะ (บาลีวันละคำ 2,547)

พาหุสัจจะ

คำที่ตาเห็น ไม่ได้เป็นอย่างที่ใจคิด

อ่านว่า พา-หุ-สัด-จะ

แต่ไม่ได้แยกเป็น พาหุ + สัจจะ อย่างที่ตาเห็น!

ตาเห็น :

พาหุ” ตามศัพท์แปลว่า “แขน” แต่จะแปลว่า “มาก” ก็ได้

สัจจะ” แปลว่า “ความจริง

แต่ “พาหุสัจจะ” ไม่ได้เป็นอย่างที่ว่านี้

พาหุสัจจะ” เขียนแบบบาลีเป็น “พาหุสจฺจ” อ่านว่า พา-หุ-สัด-จะ รูปคำเดิมเป็น “พหุสฺสุต” (พะ-หุด-สุ-ตะ) รากศัพท์มาจาก พหุ + สุต

(๑) “พหุ

บาลีอ่านว่า พะ-หุ รากศัพท์มาจาก พหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อุ ปัจจัย

: พหฺ + อุ = พหุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เจริญขึ้น” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง มาก, หลาย, ใหญ่, ล้นเหลือ; อุดมสมบูรณ์; อย่างมาก, ยิ่งใหญ่ (much, many, large, abundant; plenty; very, greatly)

(๒) “สุต

บาลีอ่านว่า สุ-ตะ รากศัพท์มาจาก สุ (ธาตุ = ฟัง) + ปัจจัย

: สุ + = สุต แปลตามศัพท์ว่า “-อันเขาฟังแล้ว

สุต” ในบาลีใช้เป็นคำกริยาและคุณศัพท์ มีความหมายดังนี้ –

(1) ได้ยิน; เรียนรู้; ได้ฟัง (heard; learned; taught)

(2) มีชื่อเสียง (renowned)

: พหฺ + สุต = พหุสุต แปลตามศัพท์ว่า “ได้ฟังมาก” หมายถึง มีความรู้มาก, พหูสูต, ได้สดับมาดี, คงแก่เรียน (having great knowledge, very learned, well-taught)

โปรดทราบว่า ปกติ “พหุสุต” จะสะกดเป็น “พหุสฺสุต” คือ ซ้อน สฺ ระหว่างคำ (พหุ + สฺ + สุต = พหุสฺสุต)

พหุสุต” กลายเป็น “พาหุสจฺจ” ได้อย่างไร?

กรรมวิธีทางไวยากรณ์ก็คือ พหุสุต + ณฺย ปัจจัย, ลบ (ณฺย > ), ทีฆะต้นศัพท์ คือ อะ ที่ -(หุ–) เป็น อาด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (พหุสุต > พาหุสุต), แปลง ตฺย (คือ ที่ –สุ กับ ที่ลบ ณฺ ออกแล้ว) เป็น จฺจ, แปลง อุ ที่ สุ-(ต) เป็น อะ (สุต > สต)

: พหฺสุต + ณฺย = พหุสุตณฺย > พาหุสุตณฺย > พาหุสุตฺย > พาหุสตฺย > พาหุสจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งบุคคลผู้ได้ฟังมาก

โปรดสังเกตว่า –

รูปคำ “พาหุ-” เกิดจาก “พหุ” ที่แปลว่า มาก ไม่ใช่ “พาหุ” ที่แปลว่า แขน

รูปคำ “-สจฺจ” เกิดจาก –สุ + แปลง ตฺ กับ เป็น จฺจ ไม่ใช่ “สจฺจ” ที่แปลว่า ความจริง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พาหุสจฺจ” ว่า great learning, profound knowledge (ความคงแก่เรียน, ความรู้ลึกซึ้ง)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [324] นาถกรณธรรม 10 (ธรรมอันกระทำที่พึ่ง, ธรรมสร้างที่พึ่ง, คุณธรรมที่ทำให้ตนเป็นที่พึ่งของตนได้) “นาถกรณธรรม” ข้อ 2 คือ พาหุสจฺจ (Bāhusacca) ขยายความไว้ว่า หมายถึง ความเป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก มีความรู้ความเข้าใจลึกซึ้ง (great learning)

นอกจากนี้ “พาหุสจฺจ” ยังเป็นมงคลข้อหนึ่งในมงคล 38 ดังความในมงคลสูตรคาถาที่ 3 ว่า –

พาหุสจฺจญฺจ สิปฺปญฺจ

วินโย จ สุสิกฺขิโต

สุภาสิตา จ ยา วาจา

เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.

เล่าเรียนศึกษามาก หนึ่ง (great learning)

ชำนาญในวิชาชีพของตน หนึ่ง (skill)

มีวินัยที่ได้ศึกษาดีแล้ว หนึ่ง (highly trained discipline)

รู้จักใช้วาจาพูดให้เป็นผลดี หนึ่ง (well-spoken speech)

คุณธรรม 4 ประการนี้เป็นอุดมมงคล

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พาหุสัจจะ : (คำนาม) ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก, ความเป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก. (ป.).”

อภิปราย :

เจ้าสำนักที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งซึ่งไม่ได้เรียนบาลี ได้เคยแสดงความรู้ทางบาลีโดยการแปลคำว่า “พาหุสัจจะ” ว่า “มีความจริงมาก”!

ทำนองเดียวกับคำว่า “สกิเทว” (สะ-กิ-เท-วะ) ซึ่งเกิดจากการสนธิระหว่าง สกึ (ครั้งเดียว) + เอว (นั่นเทียว) แปลงนิคหิตที่ (ส)-กึ เป็น (สกึ > สกิท) (รูปสระ อึ ในภาษาไทยที่ใช้เขียนคำบาลีออกเสียงว่า อิง นั่นคือสระ อิ + นิคหิต)

: สกึ > สกิท + เอว = สกิเทว แปลว่า “ครั้งเดียวเท่านั้น” (once only)

เจ้าสำนักแห่งหนึ่งซึ่งไม่ได้เรียนบาลีเช่นกัน เห็นคำว่า “เทว” ในคำว่า “สกิเทว” ก็เข้าใจว่า “เทว” คือ “เทวดา” จึงแปล “สกิเทว” ว่า “เทวดาคราวเดียว”!

กรณีดังกล่าวนี้อาจเทียบได้กับคำว่า season (ฤดูกาล, เทศกาล) ในภาษาอังกฤษ คนที่ไม่รู้ความหมายของคำว่า season เห็นคำนี้ก็บอกว่า sea แปลว่า ทะเล son แปลว่า ลูกชาย season แปลว่า ลูกทะเล!

ภาษาบาลีนั้นสามารถเรียนรู้ได้ ผู้ที่ไม่เรียนให้รู้ แต่ใช้วิธีคาดเดาเอาเองตามที่ตาเห็น ย่อมตกหลุมพรางของหลักภาษาได้ด้วยประการฉะนี้

ดูเพิ่มเติม:

โอสถ” บาลีวันละคำ (1,557) 8-9-59

สกิเทว” บาลีวันละคำ (2,126) 8-4-61

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บาลี เรียนได้

: แต่เดาไม่ได้

#บาลีวันละคำ (2,547)

3-6-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย