นิเทศ – นิเทศก์ (บาลีวันละคำ 2,006)
นิเทศ – นิเทศก์
ต่างกันอย่างไร
อ่านว่า นิ-เทด เหมือนกันทั้ง 2 คำ
(๑) “นิเทศ”
บาลีเป็น “นิทฺเทส” อ่านว่า นิด-เท-สะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง; ไม่มี, ออก) + ทิสฺ (ธาตุ = แสดง, ชี้แจง) + ณ ปัจจัย, ซ้อน ทฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (นิ + ทฺ + ทิสฺ), ลบ ณ, แผลง อิ ที่ ทิ-(สฺ) เป็น เอ (ทิส > เทส)
: นิ + ทฺ + ทิส = นิทฺทิสฺ + ณ = นิทฺทิสณ > นิทฺทิส > นิทฺเทส แปลตามศัพท์ว่า “การแสดงออก”
“นิทฺเทส” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) นิเทศ, การบรรยายหรือพรรณนา, คุณลักษณะ, ความผิดแปลก (description, attribute, distinction)
(2) การอธิบายเชิงพรรณนาโวหาร, การอธิบายแบบวิเคราะห์โดยใช้คำถามและคำตอบ, การแปลความหมาย, การอธิบายความหมาย (descriptive exposition, analytic explanation by way of question & answer, interpretation, exegesis)
“นิทฺเทส” ในภาษาไทยใช้เป็น “นิเทศ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิเทศ : (คำแบบ) (คำนาม) คําแสดง, คําจําแนกออก. (คำกริยา) ชี้แจง, แสดง, จําแนก. (ป. นิทฺเทส; ส. นิรฺเทศ).”
(คำแบบ: คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป)
(๒) “นิเทศก์”
บาลีเป็น “นิทฺเทสก” อ่านว่า นิด-เท-สะ-กะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง; ไม่มี, ออก) + ทิสฺ (ธาตุ = แสดง, ชี้แจง) + ณฺวุ ปัจจัย, ซ้อน ทฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (นิ + ทฺ + ทิสฺ), แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), แผลง อิ ที่ ทิ-(สฺ) เป็น เอ (ทิส > เทส)
: นิ + ทฺ + ทิส = นิทฺทิสฺ + ณฺวุ > อก = นิทฺทิสก > นิทฺเทสก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้แสดงออก” หมายถึง ชี้ให้เห็น, สั่งสอน, แนะนำ (pointing out, teaching, advising)
“นิทฺเทสก” ในภาษาไทยใช้เป็น “นิเทศก์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิเทศก์ : (คำนาม) ผู้ชี้แจง เช่น ศึกษานิเทศก์ ธรรมนิเทศก์.”
หลักความรู้ :
คำว่า “นิเทศ” และ “นิเทศก์” คำหลักคือ “-เทศ-” มาจากรากศัพท์เดียวกัน คือ ทิสฺ ธาตุ (แสดง, ประกาศ, บอกกล่าว, ชี้แจง)
นิเทศ : ทิสฺ + ณ ปัจจัย = นิทฺเทส > นิเทศ แปลว่า การแสดง (-ศ = การ-) (supervision)
นิเทศก : ทิสฺ + ณฺวุ > อก ปัจจัย = นิทฺเทสก > นิเทศก แปลว่า ผู้แสดง (-ศก = ผู้-) (supervisor)
ประมวลความตามความหมายในปัจจุบัน :
(1) นิเทศ: กระบวนการและกิจกรรมต่างๆ ที่มุ่งให้ความช่วยเหลือ แนะนำส่งเสริม ปรับปรุง การทำงานของบุคคล กลุ่มบุคคล หรือโปรแกรมต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพของการเรียนการสอนและหลักสูตรเป็นต้น
(2) นิเทศก์: ผู้ปฏิบัติการในกระบวนการและกิจกรรมเช่นว่านั้น
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ทำให้เห็น เป็นให้ดู อยู่ให้พิสูจน์
: ประเสริฐกว่าสอนด้วยคำพูดหมื่นแสนคำ
—————-
(ตามคำขอและความคิดของ Nathanarin Methivuthinan Phanuphatharathanavat ผู้ใช้พยัญชนะในการสะกดชื่อเปลืองที่สุด)
#บาลีวันละคำ (2,006)
9-12-60