บาลีวันละคำ

กบาล (บาลีวันละคำ 1,821)

กบาล

ของสูง แต่ไม่สุภาพ?

อ่านว่า กะ-บาน

กบาล” บาลีเป็น “กปาล” (กะ-ปา-ละ) รากศัพท์มาจาก –

(1) (แทนคำว่า “สีส” = หัว) + ปาลฺ (ธาตุ = ดูแล, รักษา) + ปัจจัย

: + ปาลฺ = กปาลฺ + = กปาล แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่รักษาศีรษะ

(2) กปฺ (ธาตุ = รวบรวม) + อาล ปัจจัย

: กปฺ + อาล = กปาล แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องรวบรวมชีวิตไว้

กปาล” (ปุงลิงค์ และ นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) หัวกะโหลก (the skull)

(2) กระทะ (a frying pan)

(3) ชามขอทาน, ที่นักพรตจำพวกหนึ่งใช้ (a begging bowl, used by certain ascetics)

(4) เศษกระเบื้อง (a potsherd)

(5) เต่าหรือกระ หรือกระดองสัตว์ (a tortoise or turtle-shell)

กปาล” เป็นทั้งบาลีและสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “กปาล” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

กปาล : (คำนาม) ‘กบาล,’ กระโหลกศีร์ษะ; โอ่งน้ำครึ่งซีก; กระดูกแบน; บาตร์, กระลาหรือภาชนะของผู้ขอทาน; หมู่; คณะ; โรคเรื้อนอย่างหนึ่ง; ‘ประศานติบัตร์, สนธิบัตร์, ไมตรีบัตร์,’ บัตร์คือสัญญาอันพึงทำไว้ต่อกันเพื่อประศานติสุข; the skull, the cranium; either half of a water-jar; any flat bone; a beggar’s bowl; multitude, collection; a species of leprosy; a treaty peace on equal terms.”

กปาล” ในภาษาไทยใช้เป็น “กบาล” (กะ-บาน) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กบาล : (คำนาม) ส่วนกลางของกะโหลกศีรษะ, หัว, (คำไม่สุภาพ) เช่น ตีกบาล เขกกบาล; แผ่นกระเบื้อง; ลานกลางหมู่บ้าน เรียกว่า กบาลบ้าน; เรียกภาชนะที่ใส่เครื่องเซ่นผีแล้วนำไปทิ้งที่ทางสามแพร่ง เช่น เอาเหล้าข้าวใส่กบาลออกเซ่นวัก (ขุนช้างขุนแผน). (ป., ส. กปาล ว่า กะโหลกหัว).”

…………..

อภิปราย :

ในคัมภีร์มีเรื่องเศรษฐีตกยาก คือคนที่เคยมีฐานะมั่งคั่งแล้วเกิดเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งทำให้ต้องยากจนลง ถึงกับต้องอาศัยชายคาบ้านคนอื่นเขาอยู่ และ “กปาลขณฺฑํ  อาทาย  ภิกฺขาย  จริตฺวาถือชิ้นกปาละเที่ยวขอทาน

ในภาษาไทย มีคำพูดถึงคนที่ตกอยู่ในสภาพไม่มีความสามารถจะทำมาหากินได้เหมือนคนทั่วไปว่า “ถือกะลาขอทาน

กะลา” ในคำพูดนี้เข้าใจกันว่าคือกะลามะพร้าว เป็นของที่เขาทิ้งแล้ว หาได้ทั่วไป สามารถนำมาใช้ต่างภาชนะรับอาหารและเงินที่มีผู้ให้ทานได้

กะลา” นั้น คนเก่าเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กะโหลก” มักพูดควบกันว่า “กะโหลกกะลา” คำว่า “กะโหลก” ก็ตรงกับความหมายของ “กปาล” ในบาลี

ที่คัมภีร์ใช้คำว่า “ถือชิ้นกปาละเที่ยวขอทาน” นักเรียนบาลีมักแปลว่าถือ “ชิ้นกระเบื้อง” ซึ่งชวนให้เข้าใจไปว่าคือกระเบื้องที่ใช้มุงหลังคา แต่ความจริงแล้วหมายถึง “ชามขอทาน” (a begging bowl) ตามความหมายหนึ่งในบาลี หรือ “กระลาหรือภาชนะของผู้ขอทาน” ตามความหมายหนึ่งในสันสกฤตนั่นเอง

กปาล” เมื่อใช้ในภาษาไทยว่า “กบาล” ก็เกิดรู้สึกกันอย่างที่พจนานุกรมฯ ว่าเป็น “คำไม่สุภาพ” เช่น ตีกบาล เขกกบาล ถ้าพูดว่า ตีหัว เขกหัว จะรู้สึกว่าสุภาพขึ้นทั้งๆ ที่เป็นการกระทำอย่างเดียวกัน นับว่าชอบกลอยู่

…………..

ดูก่อนภราดา!

จงเลือกเอาเองเถิด –

: จะหมั่นใช้กุศลธรรมเคาะสมอง

: ฤๅจะรอให้ถูกใครใช้กระบองเคาะกบาล

3-6-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย