บาลีวันละคำ

เปรี้ยว (บาลีวันละคำ 1,822)

เปรี้ยว

บาลีว่าอย่างไร

ถ้าถามว่า “เปรี้ยว” (รสชนิดหนึ่ง) บาลีว่าอย่างไร นักเรียนบาลีจะนึกถึงคำว่า “โลณมฺพิลเสวนตฺถาย” แปลว่า “เพื่อต้องการจะเสพรสเค็มรสเปรี้ยว” (เป็นเรื่องเกี่ยวกับฤๅษีชีไพรในชมพูทวีป ไปอยู่ป่าหิมพานต์ แต่นานๆ ทีก็จะเข้ามาในเมือง “เพื่อต้องการจะเสพรสเค็มรสเปรี้ยว”)

โลณมฺพิล” แยกศัพท์เป็น โลณ (เค็ม) + อมฺพิล (เปรี้ยว)

อมฺพิล” อ่านว่า อำ-พิ-ละ รากศัพท์มาจาก อมฺพฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + อิล ปัจจัย

: อมฺพฺ + อิล = อมฺพิล แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุให้คนส่งเสียง” ใช้เป็นคุณศัพท์ ขยาย “รส” ก็คือรสที่เมื่อลองลิ้มเข้าไปแล้วทำให้ผู้ลิ้มรสเกิดอาการอยากจะส่งเสียงร้องออกมา หมายถึงรสเปรี้ยว (sour, acid)

ภาษาพาสาร :

บาลี “อมฺพิล” สันสกฤตเป็น “อมฺล

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อมฺล : (คำคุณศัพท์) เปรี้ยว, เปนกรด; sour, acid; – (คำนาม) รสเปรี้ยว; นมส้ม; sourness or acidity; sour curds.”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน และพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อมฺพิล” เป็นอังกฤษว่า sour, acid

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล sour ว่า เปรี้ยว, (นม) บูด, (หน้า) บูดบึ้ง และแปล acid ว่า 1. กรด 2. เปรี้ยว, ฉุนเฉียว

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล sour เป็นบาลีดังนี้ –

ความหมายที่ ๑ :

ambila อมฺพิล (อำ-พิ-ละ) = เปรี้ยว

ความหมายที่ ๒ :

(1) kakkasa กกฺกส (กัก-กะ-สะ) = หยาบคาย, ร้ายกาจ

(2) appiya อปฺปิย (อับ-ปิ-ยะ) = ไม่น่ารัก

ส่วน acid พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปลเป็นบาลีศัพท์เดียว คือ “อมฺพิล

น่าสังเกตว่า “อมฺพิล” แปลเป็นอังกฤษว่า sour

แต่ sour นอกจากหมายถึง “เปรี้ยว” แล้ว ยังหมายถึง หยาบคาย, ร้ายกาจ, ไม่น่ารัก อีกด้วย

คำว่า “เปรี้ยว” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

เปรี้ยว : (คำวิเศษณ์) มีรสอย่างหนึ่งอย่างรสมะนาวเป็นต้น, มีกลิ่นหรือรสอย่างอาหารบูดหรืออาหารเสีย; (ปาก) มีลักษณะปราดเปรียว ทันสมัย อิสระ มั่นใจ ชอบการคบหาสมาคม (ใช้แก่ผู้หญิง) เช่น ผู้หญิงคนนี้เปรี้ยว, เรียกลักษณะการแต่งกายของผู้หญิงที่แต่งตัวสีฉูดฉาด รัดรูป เป็นต้นว่า แต่งตัวเปรี้ยว.”

…………..

แถม :

ในบาลีมีคำที่หมายถึงรสต่างๆ ตามหลักนิยมในบาลีดังนี้ –

(1) อมฺพิล (อำ-พิ-ละ) = เปรี้ยว (sour, acid)

(2) ลวณ (ละ-วะ-นะ) = เค็ม (salt)

(3) ติตฺตก (ติด-ตะ-ก) = ขม (bitter)

(4) กฏุก (กะ-ตุ-กะ) = เผ็ด (spicy, pungency)

(5) กสาย (กะ-สา-ยะ) = ฝาด (astringent)

(6) มธุร (มะ-ทุ-ระ) = หวาน (sweet)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บางคนชอบหวาน บางคนชอบเปรี้ยว

: แต่บาปมีรสเดียว คือทุกข์ในคุกและทุกข์ในนรกานต์

4-6-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย