บาลีวันละคำ

คติชนวิทยา (บาลีวันละคำ 1,824)

คติชนวิทยา

อ่านว่า คะ-ติ-ชน-วิด-ทะ-ยา

แยกศัพท์เป็น คติ + ชน + วิทยา

(๑) “คติ

บาลีอ่านว่า คะ-ติ รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ติ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ

: คมฺ + ติ = คมติ > คติ แปลตามศัพท์ว่า “การไป”  “ภูมิอันเหล่าสัตว์ต้องไป ด้วยการเข้าถึงตามกรรมดีกรรมชั่ว” “ที่เป็นที่ไป” หมายถึง ที่ไป, ที่อยู่, ที่เกิดใหม่, ภพภูมิที่จะต้องไปเกิด

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “คติ” ว่า –

(1) going, going away (การไป, การจากไป)

(2) direction, course, career (ทิศทาง, แนว, ทางไป, วิถีชีวิต)

(3) passing on (การผ่านไป)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “คติ” ไว้ดังนี้ –

(1) การไป, ทางไป, ความเป็นไป, ทางดำเนิน, วิธี, แนวทาง, แบบอย่าง

(2) ที่ไปเกิดของสัตว์, ภพที่สัตว์ไปเกิด, แบบการดำเนินชีวิต มี 5 คือ :

๑. นิรยะ = นรก

๒. ติรัจฉานโยนิ = กำเนิดดิรัจฉาน

๓. เปตติวิสัย = แดนเปรต

๔. มนุษย์ = สัตว์มีใจสูงรู้คิดเหตุผล

๕. เทพ = ชาวสวรรค์ ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ถึง อกนิษฐพรหม

(๒) “ชน

บาลีอ่านว่า ชะ-นะ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ปัจจัย

: ชนฺ + = ชน แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้ยังกุศลหรืออกุศลให้เกิดได้” เป็นคำแปลที่ตรงตามสัจธรรม เพราะธรรมดาของคน ดีก็ทำได้ ชั่วก็ทำได้

(2) “ผู้ยังตัวตนให้เกิดตามกรรม” หมายความว่า นอกจากทำกรรมได้แล้ว ยังทำ “ตัวตน” (คน) ให้เกิดได้อีก

ชน” หมายถึง บุคคล, สัตว์, คน (an individual, a creature, person, man)

(๓) “วิทยา

บาลีเป็น “วิชฺชา” (วิด-ชา) รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, แปลง ทฺย (คือ (วิ)-ทฺ + (ณฺ)-) เป็น ชฺช + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: วิทฺ + ณฺย = วิทฺณย > วิทฺย > วิชฺช + อา = วิชฺชา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” หรือ “ตัวรู้” หมายถึง ความรู้, ปัญญาหยั่งรู้ (knowledge; transcendental wisdom)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิชฺชา” ว่า science, study, higher knowledge (วิทยาศาสตร์, การศึกษา, ความรู้ชั้นสูง)

บาลี “วิชฺชา” สันสกฤตเป็น “วิทฺยา

โปรดสังเกตว่า ในขั้นตอนการกลายรูปของบาลี เป็น “วิทฺย” ก่อนแล้วจึงเป็น “วิชฺช

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

วิทฺยา : (คำนาม) วิทยา, พุทธิ; ศึกษา; ศาสตร์; พระทุรคาเทวี; ต้นไม้; มายาคุฏิกา; ยาเม็ดวิเศษหรือลูกอมอันสำเร็จด้วยเวทมนตร์ ใส่ปากบุทคลเข้าไปอาจจะบันดาลให้บุทคลขึ้นสวรรค์หรือเหาะได้; knowledge; learning; science; the goddess Durgā; a tree; a magical pill, by putting which in to the mouth a person has the power of ascending to heaven or traversing the air.”

การประสมคำ :

(ก) คติ + ชน = คติชน

เป็นคำประสมแบบไทย คือแปลจากหน้าไปหลัง

: คติ = ทางไป + ชน = คน : คติชน = แปลตามศัพท์ว่า “ทางไปของคน” หมายถึง วิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อ แบบของความประพฤติและความเป็นอยู่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่แตกต่างไปจากสังคมทั่วไป หรือขนบประเพณีของกลุ่มชน หรือคติชาวบ้าน

(ข) คติชน + วิทยา = คติชนวิทยา หมายถึง ความรู้หรือการศึกษาเกี่ยวกับคติชาวบ้าน

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี บอกความหมายของ “คติชนวิทยา” ว่าหมายถึง การศึกษาข้อมูลทางวัฒนธรรมของมนุษย์ที่มีการถ่ายทอดสืบต่อกันมา ทั้งในสังคมชนบทและในสังคมเมือง ไม่ว่าจะเป็นตำนาน นิทาน นิยายประจำถิ่น เพลง ปริศนาคำทาย สำนวนภาษิต คำพังเพย การละเล่น การแสดง เครื่องมือเครื่องใช้ อาหารการกิน ยาพื้นบ้าน ความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรม

คติชนวิทยา” เป็นคำที่บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า folklore (หรือ folkloristics)

พจนานุกรมสอ เสถบุตร บอกความหมายของ folklore ว่าหมายถึง ขนบธรรมเนียมและความเชื่อถือของชาวบ้าน หรือคนสามัญ, นิทานของชาวบ้านที่เล่าต่อๆ มา

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล folklore เป็นบาลีว่า –

janakathā ชนกถา (ชะ-นะ-กะ-ถา) = เรื่องราวของผู้คน, เรื่องเล่าของชาวบ้าน

…………..

แถม :

อาหารนิทฺทา ภยเมถุนญฺจ

สามญฺญเมตปฺปสุภี นรานํ

ธมฺโม ว เตสํ อธิโก วิเสโส

ธมฺเมน หีนา ปสุภี สมานา.

กิน นอน กลัว และสืบพันธุ์

สี่อย่างนี้มีเสมอกันทั้งคนและสัตว์

ธรรมะเท่านั้นที่ทำให้คนประเสริฐกว่าสัตว์

เสื่อมจากธรรมะเสียแล้ว คนก็เท่ากับสัตว์.

…………..

ดูก่อนภราดา!

เพราะฉะนั้น –

: ถ้าสังคมไม่มีคติธรรม

: คนก็ระยำพอๆ กับสัตว์

6-6-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย