บาลีวันละคำ

เลขศาสตร์ (บาลีวันละคำ 1,826)

เลขศาสตร์

เรายังขาดอะไรอยู่

อ่านว่า เลก-ขะ-สาด

แยกศัพท์เป็น เลข + ศาสตร์

(๑) “เลข

บาลีอ่านว่า เล-ขะ รากศัพท์มาจาก ลิขฺ (ธาตุ = ขีด, เขียน) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อิ ที่ ลิ-(ขฺ) เป็น เอ (ลิข > เลข)

: ลิขฺ + = ลิขณ > ลิข > เลข แปลตามศัพท์ว่า “การขีดเขียน” “สิ่งที่เขียน

เลข” เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยความหมายเพี้ยนไปเป็น “ตัวเลข” (number, numeral) ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เลข : (คำนาม) สัญลักษณ์ที่ใช้แทนจํานวนจริง; วิชาคํานวณ”

ควรทราบ :

ในภาษาบาลี ตัวเลข วิชาคำนวณ หรือการบวกลบคูณหาร ไม่ได้ใช้คำว่า “เลข” แต่ใช้คำว่า “สงฺขฺยา” หรือ “คณนา” (คะ-นะ-นา)

ส่วน “เลข” (เล-ขะ) และรูปคำอื่นๆ ที่ออกมาจากรากศัพท์เดียวกัน (คือ ลิ หรือ ลิขฺ ธาตุ) เช่น เลขน (เล-ขะ-นะ) เลขณี (เล-ขะ-นี) เลขา (เล-ขา) จะหมายถึง การขีด, การวาด, การเขียน, การจารึก, หนังสือ, สาสน์ (scratching, drawing, writing, inscription, letter, epistle)

ดูเพิ่มเติมที่: “เลขเป็นโท” บาลีวันละคำ (806) 2-8-57

(๒) “ศาสตร์

เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “สตฺถ” (สัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ปัจจัย, แปลง สฺ ที่ (ส)-สฺ เป็น ตฺ

: สสฺ + = สสฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “วัตถุเป็นเครื่องเบียดเบียนสัตว์

คำเดิมหมายถึง “ของมีคม” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ศสฺตฺร” แปลว่า ดาบ, มีด, อาวุธ ใช้ในภาษาไทยว่า ศัสตรา หรือ ศาสตรา บางทีก็พูดควบกันว่า ศาสตราวุธ หรือ ศาสตราอาวุธ (weapon, sword, knife)

(2) สรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย แปลง รฺ เป็น ตฺ

: สรฺ + = สรฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “หมู่เป็นที่เป็นไปแห่งส่วนย่อยทั้งหลาย

ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “สารฺถ” หมายถึง กองเกวียนของพ่อค้า, กองคาราวาน, ขบวนยานพาหนะ (caravan)

(3) สาสฺ (ธาตุ = สอน) + ปัจจัย, รัสสะ (หดเสียง) อา ที่ สา-(สฺ) เป็น อะ (สาสฺ > สสฺ), แปลง สฺ เป็น ตฺ

: สาสฺ + = สาสฺถ > สสฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องสอนเนื้อความ

ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ศาสฺตฺร” หมายถึง คัมภีร์, ตำรา, ศิลปะ, วิชา หรือ ระบบวิชาความรู้. ใช้ในภาษาไทยว่า “ศาสตร์” (science, art, lore)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ศาสฺตฺร : (คำนาม) ‘ศาสตร์’ คำสั่งหรือบัญชา; เวท, วิทยา, ธรรมศาสตร์, กฎหมาย; หนังสือทั่วไป; an order or command; scripture or Veda, science, institutes of religion, law; a book in general.”

ความหมายของ “ศาสตร์” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศาสตร-, ศาสตร์ : (คำนาม) ระบบวิชาความรู้, มักใช้ประกอบหลังคําอื่น เช่น วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์. (ส.).”

เลข + ศาสตร์ = เลขศาสตร์ แปลตามประสงค์ในภาษาไทยว่า “ศาสตร์ว่าด้วยตัวเลข

…………..

อภิปราย :

เลขศาสตร์” หมายถึง การกำหนดหลักเกณฑ์นับสิ่งต่างๆ ออกมาเป็นตัวเลข แล้วรวมผลให้เป็นจำนวนที่ประสงค์ คือเว้นจำนวนที่ถือว่าไม่เป็นมงคล และทำให้เกิดจำนวนที่ถือว่าเป็นมงคล

ตัวอย่างเช่นตั้งชื่อ ก็ให้นับพยัญชนะและสระรวมกันมีจำนวนเท่ากับจำนวนที่กำหนดไว้ในตำราว่าเป็นมงคล เช่นชื่อและนามสกุลมีพยัญชนะและสระนับรวมกันได้ 19 ถือว่าเป็นผู้มีกำลังยิ่งใหญ่ ดังนี้เป็นต้น

สิ่งไร มีหลักเกณฑ์การนับอย่างไร รวมผลแล้วได้ตัวเลขเท่าไรจึงจะถือว่าเป็นมงคล เป็นไปตามที่ผู้รู้กำหนดไว้ในตำรา (“ผู้รู้” ที่ว่านี้คือใครและเอาหลักเกณฑ์มาจากไหนว่าจำนวนเลขเท่าไรดีหรือร้ายอย่างไร ผู้สนใจพึงสืบค้นต่อไปตามอัธยาศัย)

สิ่งที่นิยมเอาหลัก “เลขศาสตร์” เข้ามาใช้กันก็อย่างเช่น จำนวนพยัญชนะและสระในชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ เลขทะเบียนรถ เลขที่บ้าน เลขประจำตัวประชาชน เป็นต้น (ส่วนที่เป็นกลางและเป็นปลายคงจะมีอีกเหลือคณานับ)

ยังไม่มีใครบันทึกไว้ว่า คนไทยนิยมนับถือและพากันปฏิบัติตาม “เลขศาสตร์” (ตามความหมายที่ว่ามานั้น) มาตั้งแต่เมื่อไร และไม่มีใครบอกได้ว่าจะพากันเดินทางไปอีกไกลแค่ไหน

ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยได้อ่านบทความของ “ผู้รู้” ท่านหนึ่ง ท่านชี้ว่า จำนวนมงคลในมงคลสูตรนั้นไม่ใช่ 38 ข้ออย่างเราที่นับกัน แต่มีเพียง 36 ข้อเท่านั้น เพราะ 3 + 6 ได้ 9 เลข 9 เป็นเลขมงคล พระพุทธเจ้าจะตรัสมงคลย่อมตรัสให้มีจำนวนที่เป็นมงคล

3 + 8 ได้ 11 เลข 11 ไม่ใช่เลขมงคล พระพุทธเจ้าย่อมไม่ตรัสมงคลที่มีจำนวนไม่เป็นมงคลเช่นนี้แน่นอน

แสดงว่า “เลขศาสตร์” ได้ระบาดเข้ามาในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาแล้ว

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เลขทุกจำนวน เชื่อได้

: แต่ไว้ใจไม่ได้

8-6-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย