บาลีวันละคำ

วัยชรา (บาลีวันละคำ 1,831)

วัยชรา

สิ่งที่มากับอายุยืน

อ่านว่า ไว-ชะ-รา

ประกอบด้วยคำว่า วัย + ชรา

(๑) “วัย

บาลีเป็น “วย” (วะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก วยฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ปัจจัย

: วยฺ + = วย (ปุงลิงค์) (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ถึงความเสื่อมไป” หมายถึง อายุ, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัยรุ่น, วัยฉกรรจ์, วัยหนุ่ม (age, especially young age, prime, youth)

บาลี “วย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วัย” (ไว)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วัย, วัย– : (คำนาม) เขตอายุ, ระยะของอายุ, เช่น วัยเด็ก วัยหนุ่มสาว วัยชรา. (ป., ส. วย).”

(๒) “ชรา

เป็นคำบาลีโดยตรง อ่านว่า ชะ-รา รากศัพท์มาจาก ชรฺ (ธาตุ = เสื่อมวัย, แก่) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ชรฺ + = ชร + อา = ชรา แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่เสื่อม” “ภาวะเป็นเหตุให้เสื่อมเป็นคนแก่” หมายถึง ความเสื่อมถอย, ความชรา, ทุพพลภาพ (decay, decrepitude, old age)

ความหมายในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ชรา : (คำวิเศษณ์) แก่ด้วยอายุ, ชํารุดทรุดโทรม. (ป., ส.).”

วัย + ชรา = วัยชรา เป็นการเอาคำว่า “วัย” กับคำว่า “ชรา” มาประสมกันแบบคำไทย

คำนี้ถ้าแปลงกลับเป็นบาลีก็เป็น “วยชรา” ในคัมภีร์ยังไม่พบคำรูปนี้ แม้จะแปลงเป็น “ชราวย” ก็ไม่พบเช่นกัน นับว่าเป็นบาลีไทยโดยแท้

ความหมายในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วัยชรา : (คำนาม) วัยที่ต่อจากวัยกลางคน อายุเกิน ๖๐ ปี.”

…………..

อภิปราย :

ในทางธรรม แบ่ง “วัย” ออกเป็น 3 ช่วง คือ –

(1) ปฐมวัย = วัยแรก (youth)

(2) มัชฌิมวัย = วัยกลาง (middle age)

(3) ปัจฉิมวัย = วัยหลังหรือวัยท้าย (old age)

การแบ่งวัยเป็น 3 ช่วงเช่นนี้ มีปัญหาว่าจะนับอายุตั้งแต่ไหนถึงไหนเป็นวัยไหน

ตามหลักก็ควรเอาอายุขัย คือช่วงเวลาที่มนุษย์แต่ละยุคสมัยควรจะมีอายุยืนยาวเท่าไร เป็นตัวตั้ง แล้วหาร 3 ผลลัพธ์คือช่วงอายุของแต่ละวัย

คำว่า “วัยชรา” นี้ต่อมาเกิดมีความรู้สึกกันว่าไม่น่าฟัง คล้ายกับจะเป็นการเหยียดหรือรังเกียจกันว่าเป็นคนแก่ (ซึ่งมักจะพ่วงตามมาด้วยความคิดว่า “ไม่มีอะไรดี”) จึงมีผู้เลี่ยงไปใช้คำว่า “สูงวัย” และเรียกเป็นคำย่อว่า “ส.ว.” ซึ่งมีเจตนาจะให้พ้องกับคำย่อ “ส.ว.” ที่หมายถึงสมาชิกวุฒิสภา แรกๆ ก็ดูเหมือนจะเรียกกันเล่นๆ แต่ไปๆ มาๆ ทำท่าจะใช้กันจริงๆ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่มีคำว่า “สูงวัย” แต่มีคำว่า “สูงอายุ” บอกความหมายไว้ว่า “มีอายุมาก” ดูๆ ก็ทำท่าจะถูกรังเกียจหน่อยๆ คนสมัยนี้พอใจจะใช้คำว่า “สูงวัย” มากกว่า “สูงอายุ

ว่าโดยสัจธรรม ไม่ว่าจะเป็น “วัยชรา” “สูงอายุ” หรือ “สูงวัย” ล้วนแต่มีความหมายเหมือนกันทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่าใครพอใจจะยอมให้ภาษาหลอกความรู้สึกมากกว่ากันเท่านั้น

…………..

สาธุชนพึงสดับ:

ชราชชฺชริตา โหนฺติ

หตฺถปาทา อนสฺสวา

ยสฺส โส วิหตตฺถาโม

กถํ ธมฺมํ จริสฺสติ.

สังขารที่แก่หง่อม

มือเท้าไม่ยอมเชื่อฟัง

เรี่ยวแรงลดหมดกำลัง

จะเอาอะไรไปปฏิบัติธรรม?

ที่มา: จักขุบาลเถรวัตถุ ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไม่แน่ใจว่าจะได้อยู่ไปจนเป็น ส.ว.

: แล้วทำไมจะต้องรอไปทำความดีในวันพรุ่ง

13-6-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย