บาลีวันละคำ

โยนิ – โยนี (บาลีวันละคำ 2,020)

โยนิ – โยนี

แปลไม่ดี มีปัญหา

แปลดีๆ มีปัญญา

อ่านว่า โย-นิ / โย-นี

คำนี้บาลีเป็น “โยนิ” ( –นิ สระ อิ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ยุ (ธาตุ = ปะปน, ผสม) + ยุ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ ยุ ธาตุเป็น โอ (ยุ > โย), แปลง ยุ ปัจจัยเป็น อน (อะ-นะ) + อิ ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ยุ + ยุ > อน = ยุน > โยน + อิ = โยนิ แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่ผสมปนอยู่ในเญยยธรรมทั้งหลาย

โยนิ” ตามรากศัพท์นัยที่ (1) นี้ หมายถึง ความละเอียดหรือปรีชา, ความรู้, ญาณ (thoroughness, knowledge, insight)

(2) ยุ (ธาตุ = ไป; ปะปน, ผสม) + นิ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ ยุ ธาตุเป็น โอ (ยุ > โย)

: ยุ + นิ = ยุนิ > โยนิ แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะเป็นเหตุไปอย่างเดียวกันแห่งเหล่าสัตว์” (2) “อวัยวะเป็นเครื่องประสมกันแห่งอสุจิ” หมายถึง

โยนิ” ตามรากศัพท์นัยที่ (2) นี้ หมายถึง –

(1) มดลูก (the womb)

(2) กำเนิด, ช่องคลอด, โยนี, อาณาจักรแห่งความเป็นอยู่; ธรรมชาติ, บ่อเกิด (origin, way of birth, place of birth, realm of existence; nature, matrix)

บาลี “โยนิ” สันสกฤตก็เป็น “โยนิ” รูปเดียวกัน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

โยนิ : (คำนาม) องค์ที่ลับของสตรี; นิธิ, อากร, รัตนากร, มณิภูมิ, บ่อหรือเหมืองแร่, ‘ขุมทรัพย์’ ก็ใช้; น้ำ; เหตุ, มูล; ที่เกิดทั่วไป; the vulva; a mine; water; cause, origin; place of birth or production in general.”

โยนิ” ในภาษาไทยใช้เป็น “โยนี” ( –นี สระ อี) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โยนี : (คำนาม) อวัยวะสืบพันธุ์ของหญิง, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระโยนี. (ป., ส. โยนิ ว่า มดลูก; ที่เกิด, ต้นกำเนิด; ปัญญา).”

…………..

ขยายความ :

คำว่า “โยนิ” (บาลีสันสกฤต –นิ สระ อิ) เมื่อใช้ในภาษาไทยเป็น “โยนี” ( –นี สระ อี) เรามักจำกัดความหมายไปทางเดียวว่าหมายถึง “อวัยวะสืบพันธุ์ของหญิง” ทำให้รู้สึกว่าเป็นคำหยาบ ไม่น่าพูด พอๆ กับคำไทยพยางค์เดียวที่เอ่ยถึงแค่นี้ก็รู้กันดีว่าหมายถึงคำอะไร

แต่ในภาษาบาลี “โยนิ” ไม่ได้เจาะจงถึง “อวัยวะสืบพันธุ์ของหญิง” โดยเฉพาะหรือโดยตรง ขอให้สังเกตคำแปลเป็นภาษาอังกฤษข้างต้นที่ฝรั่งเป็นผู้แปล จะเห็นว่าไม่มีคำเจาะจงชัดๆ เช่นนั้นเลย แม้แต่คำว่า the vulva ที่ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน แปล ก็ไม่มีในคำแปลของพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ

อาจกล่าวได้ว่า ในภาษาบาลี “โยนิ” ใช้ในความหมายว่า ปัญญา เหตุผล ต้นกำเนิด ชุกชุมกว่าความหมายอื่น

คำว่า “โยนิโสมนสิการ” (การพิจารณาโดยแยบคาย) ที่เราค่อนข้างคุ้นกันในภาษาไทย “โยนิโส…” ก็มาจาก “โยนิ” คำนี้

คำว่า “ปฏิสังขาโย” ที่ชาววัดคุ้นกันดี ก็ตัดมาจาก “ปฏิสังขา โยนิโส …” ซึ่งก็มาจาก “โยนิ” คำเดียวกัน หมายถึง ปัญญาอันแยบคาย

คำว่า “โยนิ” ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ คือ “โยนิ” ที่หมายถึง กำเนิดของสัตว์ทั้งหลาย

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ และพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –

โยนิ : กำเนิดของสัตว์ มี ๔ จำพวก คือ

๑. ชลาพุชะ เกิดในครรภ์ เช่น คน แมว (womb-born creatures; those born from the womb; the viviparous)

๒. อัณฑชะ เกิดในไข่ เช่น นก ไก่ (egg-born creatures; the oviparous)

๓. สังเสทชะ เกิดในไคล คือที่ชื้นแฉะสกปรก เช่น หนอนบางอย่าง (moisture-born creatures)

๔. โอปปาติกะ เกิดผุดขึ้น เช่น เทวดา สัตว์นรก (creatures having spontaneous births)

โยนิ” ที่หมายถึง กำเนิด สำคัญตรงที่-แม้เราจะไม่รู้ว่าต่อไปเราจะไปเกิดเป็นอะไรในกำเนิดชนิดไหน แต่ทุกคนก็สามารถที่จะเลือกกระทำเหตุเพื่อไปเกิดในภพภูมิที่พึงปรารถนาได้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: มนุษย์ เป็นกำเนิดที่ได้สิทธิ์เลือกเกิดเป็นอะไรได้หลายหลาก

: แต่น่าเสียดายที่มนุษย์ส่วนมากเลือกที่จะสละสิทธิ์

#บาลีวันละคำ (2,020)

23-12-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย