บาลีวันละคำ

ศรีอาริย (บาลีวันละคำ 1,841)

ศรีอาริย

ไม่ใช่ Utopia ของชาวตะวันออก

อ่านว่า สี-อา-ริ-ยะ

ประกอบด้วย ศรี + อาริย

(๑) “ศรี

บาลีเป็น “สิริ” อ่านว่า สิ-ริ (บาลีมี “สิรี” อีกรูปหนึ่ง) รากศัพท์มากจาก สิ (ธาตุ = เสพ, คบหา, อาศัย) + ปัจจัย + อิ หรือ อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สิ + = สิร + อิ (อี) = สิริ (สิรี) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้ทำความดีไว้ได้สัมผัส” หรือ “สิ่งที่อาศัยอยู่ในบุคคลผู้ทำความดีไว้

พจนานุกรมบาลี-อังฤษ บอกความหมายของ “สิริ” ไว้ดังนี้ –

1. ความโอ่อ่าอลังการ, ความสวยงาม (splendour, beauty)

2. โชค, ความรุ่งโรจน์, ความมีเดช, ความรุ่งเรือง (luck, glory, majesty, prosperity)

3. เทพธิดาแห่งโชคลาภ (the goddess of luck)

4. (เมื่อ + คพฺภ = สิริคพฺภ) ห้องบรรทม (the royal bed-chamber)

บาลี “สิริ” หรือ “สิรี” เป็น “ศฺรี” ในสันสกฤต (มีจุดใต้ )

คำว่า “ศฺรี” ในภาษาสันสกฤตมีความหมายอย่างไรบ้าง สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ศฺรี : (คำนาม) ‘ศรี,’ ภาคย์, สัมฤทธิหรือบุณโยทัย; ธน, ทรัพย์; เสาวภาคย์, ความงาม; อาภา, อาโลก; ความรัก, หน้าที่, และทรัพย์; เครื่องแต่งตัว, เครื่องประดับ; ภาวะหรือสถิติ; ทิพยศักดิ์, อมานุษศักดิ์; มติ, พุทธิ, ความรู้, ความเข้าใจ; ผล; เกียรติ; พระลักษมี, ผู้ชายาของพระวิษณุ, และเปน ‘ภควดีศรี’ หรือเจ้าทรัพย์และความเจริญ; นามของสรัสวดี; กานพลู; อุปสรรคหรือบทน่านามเทวดา (ย่อมใช้ซ้ำ), ดุจคำว่า ศรีศรีทุรคา; บทน่าบอกความเคารพต่อวิสามานยนามของบุรุษ, ดุจคำว่า ศรีชัยเทพ; บทน่าครันถ์, ดุจคำว่า ศรีภาควัต; ต้นศรัลหรือต้นสน; fortune, prosperity; wealth, riches; beauty, splendor; light; love, duty, and wealth; dress, decoration; state; superhuman power; intellect, understanding; consequence; fame or glory; the goddess Lakshmi, the wife of Vishṇu, and deity of plenty and prosperity; a name of Sarasvati; cloves; a prefix to the name of deities (often used repeatedly), as Śri Śri Durgā; a prefix of respect to proper names of persons, as Śri Jayadeva; a prefix to works, as Śri Bhāgavat; the Śaral or pine tree.”

ในภาษาไทยใช้ทั้ง “สิริ” และ “ศรี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “สิริ” ไว้ดังนี้ –

1. ผสม เช่น สามีภรรยาสิริอายุเข้าด้วยกัน 150 ปี, รวม เช่น สิริอายุได้ 72 ปี

2. (ความหมายข้อนี้เป็น “สิรี” ด้วย) ศรี, มิ่งขวัญ, มงคล, เช่น สิริราชสมบัติ, มักใช้เข้าคู่กับคำ มงคล เป็น สิริมงคล; สวย, งาม, เช่น ทรงมีพระสิริโฉม

และบอกความหมายของ “ศรี” ไว้ดังนี้ –

1. มิ่ง, สิริมงคล, ความรุ่งเรือง, ความสว่างสุกใส, ความงาม, ความเจริญ, เช่น ศรีบ้าน ศรีเรือน ศรีเมือง

2. ใช้นำหน้าคำบางคำเป็นการยกย่อง เช่น พระศรีรัตนตรัย วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

3. พลู. (คำมลายู); (ราชาศัพท์) หมากพลู เรียกว่า พระศรี

4. ผู้หญิง (คำเขมร = สี)

5. (คำที่ใช้ในบทกลอน) ลักษณนามใช้แก่คน เช่น พระปิตุราชมาตุรงค์ทรงพระสรวล เห็นสมควรคู่ครองกันสองศรี (จากเรื่องพระอภัยมณี)

(๒) “อาริย

บาลีเป็น “อริย” (อะ-ริ-ยะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) อรห = “ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส”, แปลง ที่ และ เป็น อิย

: (อร + อห = ) อรห : อห > อิย : อร + อิย = อริย แปลเท่ากับคำว่า “อรห” คือ “ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส

(2) อรฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ลง อิ อาคม

: อรฺ + อิ = อริ + ณฺย > = อริย แปลว่า “ผู้บรรลุธรรมคือมรรคและผล

(3) อารก = “ผู้ไกลจากกิเลส”, แปลง อารก เป็น อริย แปลเท่ากับคำว่า “อารก” คือ “ผู้ไกลจากกิเลส

(4) อรฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ลง อิ อาคม [เหมือน (2)] แปลว่า “ผู้อันชาวโลกพึงเข้าถึง

(5) อริย = “ผลอันประเสริฐ” + ปัจจัย, ลบ

: อริย + = อริยณ > อริย แปลว่า “ผู้ยังชาวโลกให้ได้รับผลอันประเสริฐ

สรุปว่า “อริย” แปลว่า –

(1) ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส

(2) ผู้บรรลุธรรมคือมรรคและผล

(3) ผู้ไกลจากกิเลส

(4) ผู้อันชาวโลกพึงเข้าไปใกล้

(5) ผู้ยังชาวโลกให้ได้รับผลอันประเสริฐ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ประมวลความหมายของ “อริย” ไว้ดังนี้ –

๑. ทางเชื้อชาติ: หมายถึง ชาติอารยัน (racial: Aryan)

๒. ทางสังคม: หมายถึง ผู้ดี, เด่น, อริยชาติ, สกุลสูง (social: noble, distinguished, of high birth)

๓ ทางจริยศาสตร์: หมายถึง ถูกต้อง, ดี, ดีเลิศ (ethical: right, good, ideal)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อริย-, อริยะ : (คำนาม) ในพระพุทธศาสนา เรียกบุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ว่า พระอริยะ หรือ พระอริยบุคคล. (คำวิเศษณ์) เป็นของพระอริยะ, เป็นชาติอริยะ; เจริญ, เด่น, ประเสริฐ.”

บาลี “อริย” สันสกฤตเป็น “อารฺย” คือที่เรานิยมใช้ว่า “อารยะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายในภาษาไทยไว้ว่า –

อารย-, อารยะ : (คำวิเศษณ์) เจริญ. (ส.; ป. อริย).”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

อารฺยฺย, อารฺย : (คำคุณศัพท์) ควรเคารพ, ควรบูชา; ควร; พึงแสวงหา, พึงได้; respectable, venerable; proper;to be sought, to be obtained; – (คำนาม) เจ้าของ, พระนามของพระพุทธเจ้า; สหาย; นามของปารวตี; an owner; name of Buddha; a friend; name of Pārvati.”

โปรดสังเกตว่า ความหมายของ “อารฺย” ตามที่สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้นี้ไม่ตรงนักกับความหมายที่เราคุ้นในภาษาไทย

ศรี + อาริย = ศรีอาริย แปลตามศัพท์ว่า “อันเจริญอย่างโอ่อ่าอลังการ

นักภาษาบอกว่า “ศรี” ที่นำหน้าเช่นนี้บางที่ก็เป็นเพียงคำเสริมเพื่อเป็นการยกย่องเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องแปลความหมาย

…………..

อภิปราย :

โปรดสังเกตว่า ในที่นี้สะกดเป็น “-อาริย” ไม่ใช่ทั้ง “อริย” บาลี และ “อารย” สันสกฤต อาจเรียกได้ว่าสะกดตามแบบไทย

เมื่อสะกดอย่างนี้ก็มีปัญหาว่าจะอ่านอย่างไร อา-ริ-ยะ หรือ อา-รี หรือ อาน ?

คำนี้สะกดตามเอกสารที่เป็นประวัติศาสตร์ของไทย คือ ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า

………

การที่ราษฎรช่วยคณะราษฎรนี้เท่ากับราษฎรช่วยประเทศ และช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลน ของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้าเป็นทาสของพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่คนพึงปรารถนาคือความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า “ศรีอาริย” นั้นก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า

………

คำว่า “ศรีอาริย” ฟังตามที่มีผู้อ่าน ได้ยินอ่านว่า สี-อา-ริ-ยะ ซึ่งถ้าอ่านเช่นนั้นก็น่าจะสะกดเป็น “ศรีอาริยะ” คือประวิสรรชนีย์ให้สิ้นสงสัยไปเลย

ศรีอาริยะ” เป็นคำเรียกยุคสมัยในอนาคตที่พระพุทธเจ้าพระนามว่า “เมตเตยยะ” จะมาตรัส นามพระพุทธเจ้าพระองค์นี้เรียกอย่างเต็มยศว่า “พระศรีอริยเมตไตรย” หรือ “พระศรีอารยเมตไตรย” (โปรดสังเกต ถ้า – ต้อง –ริย, ถ้า อา– ต้อง –รย) มีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าผู้มีเมตตาอันประเสริฐเป็นมิ่งมงคล” นิยมเรียกสั้นๆ ว่า “พระศรีอารย์” (พระ-สี-อาน)

ความจริง “ศรีอารย์” หรือที่เขียนในที่นี้ว่า “ศรีอาริย” เป็นสร้อยเสริม พระนามจริงตามบาลีคือ “เมตเตยยะ” เขียนอิงสันสกฤตเป็น “เมตไตรย

ว่ากันว่าในยุค “ศรีอาริย” หรือ “พระศรีอารย์” โลกมนุษย์จะอุดมสมบูรณ์ และมีความสุขที่สุด คนไทยรู้จักเรื่องนี้กันซึมซาบ จึงเป็นเสมือนเมืองในฝันของคนไทย คณะราษฎรจึงยกเอามาบอกแก่ราษฎรเหมือนจะเป็นคำสัญญาหรือให้ความหวังในการก่อการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ประตูเข้าสู่ยุคพระศรีอารย์

: ไม่เคยออกบัตรผ่านให้คนที่เห็นแก่ตัว

24-6-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย