บาลีวันละคำ

อุปโภค – บริโภค (บาลีวันละคำ 1,842)

อุปโภคบริโภค

ไม่รู้ไหนกิน ไหนใช้

อุปโภค” อ่านว่า อุ-ปะ-โพก ก็ได้ อุบ-ปะ-โพก ก็ได้

บริโภค” อ่านว่า บอ-ริ-โพก

(๑) “อุปโภค

บาลีอ่านว่า อุ-ปะ-โพ-คะ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + ภุชฺ (ธาตุ = กิน) + ปัจจัย, แผลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น โอ แล้วแปลง เป็น (ภุชฺ > โภช > โภค)

: อุป + ภุชฺ = อุปภุชฺ + = อุปภุช > อุปโภช > อุปโภค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่นำเข้าไปไว้ใกล้แล้วใช้สอย” (คือโดยปกติต้องนำเอาสิ่งนั้นมาไว้ใกล้ตัวก่อนแล้วจึงใช้ ไม่ใช่สิ่งนั้นอยู่ที่หนึ่ง แต่ผู้ใช้อยู่อีกที่หนึ่ง) หมายถึง เครื่องอุปโภค, เครื่องใช้สอย, สิ่งที่เป็นประโยชน์ (enjoyment, profit)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีศัพท์ว่า “อุปโภค” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อุปโภค : (คำนาม) ความสนุก, ความอิ่มใจ; การเสพ, การใช้; การอยู่ร่วม; เครื่องอาศรัย; pleasure, satisfaction; enjoyment, use; cohabitation; usufruct.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุปโภค : (คำกริยา) เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์, คู่กับ บริโภค. (คำวิเศษณ์) ที่เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในคำว่า เครื่องอุปโภค. (ป., ส.).”

(๒) “บริโภค

บาลีเป็น “ปริโภค” อ่านว่า ปะ-ริ-โพ-คะ รากศัพท์มาจาก ปริ (คำอุปสรรค = รอบ, ทั่วไป) + ภุชฺ (ธาตุ = กิน) + ปัจจัย, แผลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น โอ แล้วแปลง เป็น (ภุชฺ > โภช > โภค)

: ปริ + ภุชฺ = ปริภุชฺ + = ปริภุช > ปริโภช > ปริโภค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนใช้สอยรอบด้าน

ปริโภค” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เครื่องบริโภค, อาหาร, โภชนะ (material for enjoyment, food, feeding)

(2) การบริโภค, การใช้สอย (enjoyment, use)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บริโภค : (คำกริยา) กิน (ใช้เฉพาะอาการที่ทําให้ล่วงลําคอลงไปสู่กระเพาะ) เช่น บริโภคอาหาร, เสพ เช่น บริโภคกาม; ใช้สิ้นเปลือง, ใช้สอย, เช่น บริโภคสมบัติ, คู่กับ อุปโภค. (ป. ปริโภค).”

ข้อสังเกต:

คำว่า “อุปโภค” และ “บริโภค” พจนานุกรมฯ จะบอกที่มาของคำต่างกัน คือ

อุปโภค” บอกว่า (ป., ส.) คือมาจากบาลีและสันสกฤต

บริโภค” บอกว่า (ป. ปริโภค) คือ คำนี้บาลีเป็น “ปริโภค” แต่ไม่ได้บอกว่ามาจากสันสกฤตด้วย

ดูใน สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ก็ไม่มีศัพท์ว่า “ปริโภค”

…………..

อภิปราย :

อุปโภค” และ “ปริโภค” ในบาลีใช้ในความหมายที่คล้ายกัน แต่กว้างแคบกว่ากัน คือ –

อุปโภค” มักใช้ในความหมายว่า “ใช้สอย” แต่ใช้ในความหมายว่า “กิน” ก็มีบ้าง

ปริโภค” มักใช้ในความหมายว่า “กิน” แต่ใช้ในความหมายว่า “ใช้สอย” ก็มีบ้าง

ในภาษาไทย ดูเหมือนจะนิยมใช้ในความหมายที่แยกกันเด็ดขาด คือ –

อุปโภค” ใช้กับเครื่องใช้สอย

เครื่องอุปโภค” หมายถึง เครื่องใช้ ไม่ใช่ของกิน

บริโภค” ใช้กับของกิน หรือการกินอาหาร

เครื่องบริโภค” หมายถึง ของกิน ไม่ใช่ของใช้

แต่เดี๋ยวนี้ได้ยินใช้คำว่า “บริโภค” กับเรื่องที่ไม่ใช่การกินอาหารหรือของกินก็ได้ เช่น –

ประชาชนนิยมบริโภคข่าวสารเป็นกิจประจำวัน

ประเทศไทยบริโภคน้ำเชื้อเพลิงปีละ … ล้านลิตร

ไปๆ มาๆ จะแยกไม่ออกว่า เรื่องอะไรใช้ “อุปโภค” และเรื่องอะไรใช้ “บริโภค

ต่อไปเราอาจจะพูดกันว่า “คนกินข่าวสาร” เหมือนกับ “รถยนต์บริโภคน้ำมัน”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: การกิน ช่วยได้เพียงแค่ให้อยู่รอด

: แต่การไม่ทำชั่วเพราะเรื่องกิน ช่วยให้อยู่เป็นอมตะ

25-6-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย