อฏฺฐิมิญฺชํ (บาลีวันละคำ 2,021)
อฏฺฐิมิญฺชํ = เยื่อในกระดูก
ลำดับ 9 ในอาการสามสิบสอง
อ่านว่า อัด-ถิ-มิน-ชัง
“อฏฺฐิมิญฺชํ” คำเดิมประกอบด้วย อฏฺฐิ + มิญฺช
(๑) “อฏฺฐิ” (อัด-ถิ) รากศัพท์มาจาก –
(1) อสฺ (ธาตุ = ทิ้ง, ขว้างไป; มี, เป็น) + อิ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตุเป็น ฏฺฐ
: อสฺ > อฏฺฐ + อิ = อฏฺฐิ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ทิ้งอยู่ตลอดกาลนาน” (2) “สิ่งที่เป็นแกนอยู่ในร่างกาย”
(2) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + อิ ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ อา อุปสรรคเป็น อะ (อา > อ), “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ ฐา (ฐา > ฐ), ซ้อน ฏฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อา + ฏฺ + ฐา)
: อา > อ + ฏฺ + ฐา = อฏฺฐา > อฏฺฐ + อิ = อฏฺฐิ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุให้ตั้งอยู่ได้อย่างดี”
“อฏฺฐิ” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) กระดูก (a bone)
(2) เมล็ดผลไม้ (the stone of a fruit)
(๒) “มิญฺช” (มิน-ชะ) รากศัพท์มาจาก มชฺชฺ (ธาตุ = สะอาด, หมดจด) + อ ปัจจัย, แปลง มชฺช เป็น มิญฺช
: มชฺชฺ + อ = มชฺช > มิญฺช แปลตามศัพท์ว่า “วัตถุอันหมดจด” (คือไม่มีสิ่งภายนอกมาเปื้อนปน) หมายถึง เยื่อ, ไส้, แก่น, เมล็ดใน (marrow, pith, kernel)
ศัพท์นี้มี 2 รูป คือ “มิญฺช” เป็นนปุงสกลิงค์ และลง อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ : มิญฺช + อา = มิญฺชา เป็นอิตถีลิงค์
“มิญฺช” ศัพท์นี้สันสกฤตเป็น “มชฺชน”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“มชฺชน : (คำนาม) การสนาน; อัสถิสาร, เยื่อกระดูก, ‘เยื่อในกระดูก’ ก็เรียก; bathing; marrow.”
อฏฺฐิ + มิญฺช = อฏฺฐิมิญฺช
ในที่นี้ “-มิญฺช” เป็นนปุงสกลิงค์ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ ได้รูปเป็น “อฏฺฐิมิญฺชํ” แปลว่า ไขในกระดูก, เยื่อในกระดูก (marrow)
“อฏฺฐิมิญฺช” ในภาษาไทยใช้เป็น “อัฐิมิญชะ” (อัด-ถิ-มิน-ชะ) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“อัฐิมิญชะ : (คำนาม) เยื่อในกระดูก. (ป. อฏฺฐิมญฺช).”
โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมฯ บอกว่าคำนี้ภาษาบาลีเป็น “อฏฺฐิมญฺช” ( -มญฺ- ไม่ใช่ -มิญฺ-)
…………..
ขยายความ :
ในคัมภีร์ ท่านบรรยายลักษณะของ “อฏฺฐิมิญฺชํ” ไว้ดังนี้ –
ตํ วณฺณโต เสตํ.
เยื่อในกระดูกนั้นเป็นสีขาว
สณฺฐานโต มหนฺตมหนฺตานํ อฏฺฐีนํ อพฺภนฺตรคตํ เวฬุนาฬิยํ ปกฺขิตฺตเสทิตมหาเวตฺตคฺคสณฺฐานํ.
เยื่อที่อยู่ภายในกระดูกท่อนใหญ่ๆ ลักษณะดังยอดหวายใหญ่ที่เขาลนไฟแล้วสอดเข้าไว้ในกระบอกไม้ไผ่
ขุทฺทานุขุทฺทกานํ อพฺภนฺตรคตํ เวฬุยฏฺฐิปพฺเพสุ ปกฺขิตฺตเสทิตตนุเวตฺตคฺคสณฺฐานํ
เยื่อที่อยู่ภายในกระดูกท่อนเล็กๆ ลักษณะดังยอดหวายเล็กที่เขาลนไฟแล้วสอดเข้าไว้ในปล้องอ้อ
(คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 2 อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส หน้า 37)
ในบทสวด “พระอาการสามสิบสอง” กล่าวถึง “อฏฺฐิมิญฺชํ” ไว้ดังนี้ –
๏ อัฏฐิมิญชัง…………..เยื่อในกระดูกยัง…..ตั้งอยู่ไม่นาน
เหมือนยอดหวายนึ่ง…..ให้พึงพิจารณ์………พอสิ้นสังขาร
เน่าเหม็นเป็นไป๚ะ๛
……..
ในภาษาบาลี เมื่อกล่าวถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้งท่วมท้นและดำรงคงมั่นอยู่ในจิตใจ นิยมพูดเป็นสำนวนว่า “… จดถึงเยื่อในกระดูก” เช่น –
นามํ สุตฺวา ว เปมํ ฉวิอาทีนิ ฉินฺทิตฺวา อฏฺฐิมิญฺชํ อาหจฺจ ฐิตํ.
เพียงได้ยินชื่อ ความรักก็ชำแรกผิวผ่านเนื้อจดถึงเยื่อในกระดูกตั้งอยู่
ที่มา: ธมฺมปทฏฺฐกถา ภาค ๒ สามาวตีวตฺถุ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าเคารพรักพระธรรมวินัยไม่ถึงเยื่อในกระดูก
: พระพุทธศาสนาก็ราคาถูกลงไปทุกเมื่อเชื่อวัน
—————-
(ตามคำอาราธนาของคุณครูอนันต์ นาควิจิตร)
ภาพประกอบ: จาก google
ควรตามไปดูคำว่า “อาการ 32” ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ด้วย:
#บาลีวันละคำ (2,021)
24-12-60