วกฺกํ (บาลีวันละคำ 2,022)
วกฺกํ = ไต (เคยแปลกันว่า ม้าม)
ลำดับ 10 ในอาการสามสิบสอง
อ่านว่า วัก-กัง
“วกฺกํ” รูปคำเดิมเป็น “วกฺก” (วัก-กะ) รากศัพท์มาจาก วกฺ (ธาตุ = ถือเอา) + ก ปัจจัย
กระบวนการแยกคำเพื่อหาความหมาย (รูปวิเคราะห์) แสดงสูตรไว้ว่า –
“วกติ โอทนมาททาตีติ วกฺกํ”
แปลว่า – อวัยวะใดย่อมรับเอาข้าวสุก
ดังนั้น อวัยวะนั้นจึงชื่อว่า วกฺกํ
: วกฺ + ก = วกฺก แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่รับอาหาร”
“วกฺก” (นปุงสกลิงค์) แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ ได้รูปเป็น “วกฺกํ”
…………..
อภิปรายขยายความ :
“วกฺกํ” คืออวัยวะส่วนไหนในร่างกาย?
คัมภีร์วิสุทธิมรรคบรรยายลักษณะ “วกฺกํ” ไว้ดังนี้ –
วกฺกนฺติ เอกพนฺธนา เทฺว มํสปิณฺฑิกา.
คำว่า วกฺกํ ได้แก่ก้อนเนื้อ 2 ก้อน มีขั้วเดียวกัน
ตํ วณฺณโต มนฺทรตฺตํ ปาลิภทฺทกฏฺฐิวณฺณํ.
วักกะนั้นสีแดงอ่อนดุจสีเม็ดทองหลางป่า
สณฺฐานโต ทารกานํ ยมกกีฬาโคฬกสณฺฐานํ เอกวณฺฏปฏิพทฺธอมฺพผลทฺวยสณฺฐานํ วา.
มีลักษณะคล้ายลูกสะบ้าคู่ที่เด็กๆ เล่น หรือคล้ายผลมะม่วงแฝดติดอยู่ในขั้วเดียวกัน
โอกาสโต คลวาฏกา นิกฺขนฺเตน เอกมูเลน โถกํ คนฺตฺวา ทฺวิธา ภินฺเนน ถูลนฺหารุนา วินิพนฺธํ หุตฺวา หทยมํสํ ปริกฺขิปิตฺวา ฐิตํ.
วักกะเป็นก้อนเนื้อมีเอ็นใหญ่รัดไว้
เอ็นใหญ่ที่ว่านี้โคนเป็นเส้นเดียวออกจากหลุมคอไปหน่อยจึงแยกเป็น 2 เส้นรัดวักกะไว้
ตัววักกะนั้นโอบติดอยู่กับเนื้อหัวใจ
(คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 2 อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส หน้า 59-60)
……….
โปรดพิจารณาว่าอวัยวะตามที่บรรยายนี้ควรเป็นอะไร
โบราณแปล “วกฺกํ” ว่า ม้าม
ปัจจุบันแปล “วกฺกํ” ว่า ไต
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วกฺกํ” ว่า the kidney
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล kidney ว่า ไต, ไตแกะ
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล kidney ว่า vakka วกฺก (วัก-กะ)
ศัพท์ที่เป็นคู่กรณีกันคือ “ปิหกํ” (ปิ-หะ-กัง)
โบราณแปล “ปิหกํ” ว่า ไต
ปัจจุบันแปล “ปิหกํ” ว่า ม้าม
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปิหกํ” ว่า the spleen
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล spleen ว่า ม้าม
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล spleen ว่า pihaka ปิหก (ปิ-หะ-กะ)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) วักกะ ๑ : (คำนาม) ไต. (โบราณแปลว่า ม้าม). (ป.; ส. วฺฤกฺก).
(2) ปิหกะ : (คำนาม) ม้าม. (โบราณนิยมแปลว่า ไต).
หนังสือวิสุทธิมรรคแปล ภาค 2 ตอน 1 หน้า 60 แสดงข้อมูลไว้ว่า –
“ในสรีรวิทยาว่า ไตอยู่ที่ข้างกระดูกสันหลังแถวบั้นเอวทั้ง 2 ข้าง”
อวัยวะที่อยู่ “ข้างกระดูกสันหลังแถวบั้นเอวทั้ง 2 ข้าง” ตามข้อมูลนี้ซึ่งบอกว่าคือ “ไต” ควรเป็น “วกฺกํ” หรือ “ปิหกํ”
ดูเพิ่มเติม: “ปิหกํ = ม้าม”
………..
ในบทสวด “พระอาการสามสิบสอง” แปล “วกฺกํ” ว่า “ม้าม” กล่าวไว้ดังนี้ –
๏ วักกังคือม้าม…….ติดแอบแนบตาม…….อยู่ที่หัวใจ
ครั้นสิ้นลมเข้า……..เปื่อยเน่าหายไป……..อย่าได้สงสัย
เครื่องไม่เข้ายา๚ะ๛
………..
สรุป :
ถ้าเอาภาษาอังกฤษเป็นหลัก kidney แปลว่า ไต spleen แปลว่า ม้าม
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วกฺกํ” ว่า the kidney แปล “ปิหกํ” ว่า the spleen
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษนี้ฝรั่งชาติอังกฤษเป็นผู้ทำ และฝรั่งย่อมไม่รู้หรือไม่รับรู้ว่าโบราณของไทยแปล “วกฺกํ” เป็นไทยว่าอะไร และแปล “ปิหกํ” เป็นไทยว่าอะไร
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล kidney ว่า “วกฺก” แปล spleen ว่า pihaka ปิหก
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี นี้ชาวศรีลังกาเป็นผู้ทำ และชาวศรีลังกาก็ย่อมไม่รู้หรือไม่รับรู้เช่นกันว่าโบราณของไทยแปล “วกฺกํ” เป็นไทยว่าอะไร และแปล “ปิหกํ” เป็นไทยว่าอะไร
แต่ทั้งพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ และพจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปลบาลีเป็นอังกฤษและแปลอังกฤษเป็นบาลีตรงกัน คือ –
วกฺก = kidney : kidney = วกฺก
ปิหก = spleen : spleen = ปิหก
และพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย บอกว่า –
kidney = ไต
spleen = ม้าม
สรุปความตามพจนานุกรมต่างๆ แล้วควรยุติได้ว่า
วกฺกํ = ไต
ปิหกํ = ม้าม
นั่นคือ เมื่อความเป็นจริงไม่ตรงกับความเข้าใจ ก็สมควรปรับแก้ความเข้าใจให้ตรงกับความเป็นจริง
…………..
ดูก่อนภราดา!
คนกับลิงมีโครงสร้างร่างกายคล้ายกัน แต่ทว่า…
: ฉลาดอย่างคน คือแก้ไขความเข้าใจให้ตรงกับความเป็นจริง
: ฉลาดอย่างลิง คือแก้ไขความเป็นจริงให้ตรงกับความเข้าใจ
—————-
(ตามคำอาราธนาของคุณครูอนันต์ นาควิจิตร)
ภาพประกอบ: จาก google
ควรตามไปดูคำว่า “อาการ 32” ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ด้วย:
#บาลีวันละคำ (2,022)
25-12-60