วันทยหัตถ์ (บาลีวันละคำ 1,846)
วันทยหัตถ์
มือกับใจอาจไม่ตรงกัน
อ่านว่า วัน-ทะ-ยะ-หัด
แยกศัพท์เป็น วันทย + หัตถ์
(๑) “วันทย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วันทย– : (คำวิเศษณ์) ควรไหว้, ควรนอบนบ. (ส.).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “วันทย” เป็นรูปคำสันสกฤต แต่ใน สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่ได้เก็บรูปศัพท์ “วนฺทย” ไว้
ในบาลีมีศัพท์ที่ใกล้เคียง คือ “วนฺทนีย” (วัน-ทะ-นี-ยะ) รากศัพท์มาจาก วนฺทฺ (ธาตุ = ไหว้, กราบ, สรรเสริญ) + อนีย ปัจจัย
: วนฺทฺ + อนีย = วนฺทนีย แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาพึงไหว้”
“วันทย” ศัพท์นี้ถ้าเขียนเทียบบาลี ก็น่าจะเป็น “วนฺทิ” (วัน-ทิ) รากศัพท์มาจาก วนฺทฺ (ธาตุ = ไหว้, กราบ, สรรเสริญ) + อิ ปัจจัย
: วนฺทฺ + อิ = วนฺทิ แปลตามศัพท์ว่า “การไหว้”
วนฺทิ + อาวุธ แปลง อิ ที่ ทิ เป็น ย : วนฺทิ > วนฺทย +
โปรดทราบว่านี่เป็นการอธิบายแบบลากเข้าบาลี เพราะในบาลียังไม่พบศัพท์เช่นนี้
(๒) “หัตถ”
บาลีเป็น “หตฺถ” (หัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) หสฺ (ธาตุ = ร่าเริง) + ถ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (หสฺ > หตฺ)
: หสฺ + ถ = หสฺถ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องเล่นสนุก” (เช่นใช้ปรบ ฟ้อนรำ) = มือ “อวัยวะเป็นที่เล่นสนุก” = ศอก
(2) หนฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ถ ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (หนฺ > หตฺ)
: หนฺ + ถ = หนฺถ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะเป็นเครื่องเบียดเบียนอวัยวะอื่น” (เช่นเกา ตบตี) = มือ (2) “เป็นที่ไปถึงแห่งอวัยวะทั้งหลาย” (หมายถึงมือเอื้อมถึง) = มวยผม
(3) หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ถ ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (หรฺ > หตฺ)
: หรฺ + ถ = หรฺถ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องนำของไป” = มือ
(4) หตฺถ (มือ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: หตฺถ + ณ = หตฺถณ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่เหมือนมือเพราะทำหน้าที่มือให้สำเร็จประโยชน์ได้” = งวงช้าง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “หตฺถ” ดังนี้ –
(1) hand (มือ)
(2) (the hand as measure, a cubit (มือในฐานเป็นเครื่องวัด, ระยะหนึ่งศอก)
(3) a handful, a tuft of hair (เต็มมือ, ปอยผม)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“หัตถ-, หัตถ์ : (คำนาม) มือ; ศอกหนึ่ง; งวงช้าง. (ป.; ส. หสฺต).”
วันทย + หัตถ์ = วันทยหัตถ์ แปลเอาความว่า “การทำความเคารพด้วยมือ”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วันทยหัตถ์ : (คำนาม) ท่าเคารพด้วยมือของทหาร ตํารวจ ลูกเสือ เป็นต้น ที่แต่งเครื่องแบบ สวมหมวก มิได้ถืออาวุธ.”
คำเตือน :
คำว่า “วันทยหัตถ์” เมื่อพูดเป็นคำสั่ง โปรดระวัง อย่าออกเสียงเพี้ยนเป็น วัน-ทะ-ยา–หัด เหมือน วัน-ทะ-ยา–วุด (วันทยาวุธ)
“วันทยหัตถ์” : วัน-ทะ-ยะ-
ไม่ใช่ วัน-ทะ-ยา–
…………..
อภิปราย :
หลักนิยมของทหารในการทำความเคารพ-ตามที่ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยได้รับการฝึกสอนมา-มีดังนี้ –
หลักอาวุโส :
๑. ผู้มียศต่ำกว่าต้องทำความเคารพผู้มียศสูงกว่า
๒. กรณีมียศเสมอกัน ให้ผู้มีอาวุโสต่ำกว่า (คือได้รับการแต่งตั้งยศหรือเลือนยศทีหลัง) ต้องทำความเคารพผู้มีอาวุโสสูงกว่า (คือได้รับการแต่งตั้งยศหรือเลือนยศก่อน)
๓. กรณีมียศเสมอกัน และไม่อาจทราบได้ว่าใครอาวุโสกว่าใคร ให้ทำความเคารพกันและกันโดยไม่เกี่ยงงอน
๔. ผู้ได้รับการแสดงความเคารพต้องทำความเคารพตอบ
กิริยาที่แสดงความเคารพ :
กรณีสวมหมวก ให้ทำความเคารพโดยวิธี “วันทยหัตถ์” คือ กางข้อศอกขวาขนานกับพื้นพร้อมกับพับแขน แบมือ คว่ำฝ่ามือยกขึ้นให้ปลายนิ้วชี้แตะกระบังหมวก และถ้าอยู่ในวิสัย ก็ให้สบตาหรือมองไปยังผู้ที่เราทำความเคารพ เป็นการแสดงถึงความจริงใจ
กรณีเดินสวนกัน ให้ผู้มียศและอาวุโสต่ำกว่าทำความเคารพก่อนถึงตัว 3 ก้าว และเลิกทำความเคารพเมื่อผ่านแล้ว 2 ก้าว
กรณีไม่ได้สวกหมวก นายทหารสัญญาบัตรทำความเคารพด้วยวิธีโค้ง นายทหารประทวนทำความเคารพด้วยวิธียืนตรง
ทหาร เมื่อแต่งเครื่องแบบ ไม่ทำความเคารพและรับความเคารพกันและกันด้วยวิธีไหว้-ข้อนี้ ผู้เขียนบาลีวันละคำถูกครูฝึกกำชับเป็นนักหนา-เห็นใครเขาทำก็ช่างเขา แต่เราอย่าเอาอย่าง (แต่ถ้าเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ต้องว่ากล่าวตักเตือน) หลักนิยมข้อนี้ ไม่ทราบว่าปัจจุบันนี้ยังดำรงอยู่ หรือถูกเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว แบบ-พากันทำผิดจนต้องแก้ระเบียบให้กลายเป็นถูก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่าวัดความน่านับถือ ด้วยจำนวนมือที่ยกขึ้นไหว้
: แต่จงวัดด้วยจำนวนหัวใจ ที่กำลังบอกว่า อยากไหว้ –
หรือ “หรือไม่อยากไหว้ให้เสียมือ”
——————-
(ตามคำเสนอแนะของพระคุณท่าน Sunant Phramaha)
29-6-60