บาลีวันละคำ

มัชฌิมาปฏิปทา (บาลีวันละคำ 1,855)

มัชฌิมาปฏิปทา

รู้จักกันดี แต่มักเข้าใจผิด

อ่านว่า มัด-ชิ-มา ปะ-ติ-ปะ-ทา

ภาษาไทยเขียนเป็นคำเดียวกัน

แต่ภาษาบาลีเป็น “มัชฌิมา” คำหนึ่ง “ปฏิปทา” คำหนึ่ง

นิยมพูดควบกันเป็น “มัชฌิมา ปฏิปทา

(๑) “มัชฌิมา

บาลีเขียน “มชฺฌิมา” (มัด-ชิ-มา) ศัพท์เดิมมาจาก มชฺฌ + อิม ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

(ก) “มชฺฌ” รากศัพท์มาจาก มชฺ (ธาตุ = บริสุทธิ์, สะอาด) + ปัจจัย

: มชฺ + = มชฺฌ แปลตามศัพท์ว่า “จุดที่หมดจด

มชฺฌ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) (นปุงสกลิงค์) ตรงกลาง, กลาง ๆ, สามัญ, มัธยม, สายกลาง (middle, medium, mediocre, secondary, moderate)

(2) (ปุงลิงค์) สะเอว (the waist)

(ข) มชฺฌ + อิม = มชฺฌิม + อา = มชฺฌิมา ใช้เป็นคุณศัพท์ขยายศัพท์ที่เป็นอิตถีลิงค์ แปลตามศัพท์ว่า “-อันตั้งอยู่ในท่ามกลาง” หรือ “-อันเป็นไปในท่ามกลาง

ความหมายนี้ใช้ในการเทียบเคียงคำซึ่งเป็นคู่กันกับความหมายว่า มากกว่านั้นหรือน้อยกว่านั้น ในกระบวน 3 คำ เช่น “เล็ก – กลาง – ใหญ่” (small – medium – big) หรือ “แรก – กลาง – หลัง” (first – middle – last)

(๒) “ปฏิปทา

บาลีอ่านว่า ปะ-ติ-ปะ-ทา รากศัพท์มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ ตอบ ทวน กลับ) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ปฏิ + ปทฺ = ปฏิปท + = ปฏิปท + อา = ปฏิปทา แปลตามศัพท์ว่า “การถึงเฉพาะ

ปฏิปทา” คือ “แนวทางของความประพฤติ” (line of conduct) หมายถึง วิถีทางที่จะถึงจุดหมายปลายทางหรือที่หมาย, ทางดำเนิน, หนทาง, วิธี, วิธีการ, วิธีดำเนินการ, วิถีทาง, การปฏิบัติ, (means of reaching a goal or destination, path, way, means, method, mode of progress, course, practice)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปฏิปทา : (คำนาม) ทาง, ทางดำเนิน, เช่น มัชฌิมาปฏิปทา คือ ทางสายกลาง; ความประพฤติ เช่น พระภิกษุรูปนี้มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส. (ป.).”

มชฺฌิมา” ในบาลีพูดควบกับ “ปฏิปทา” เป็น “มชฺฌิมา ปฏิปทา” (แยกเป็น 2 คำ) แปลตามศัพท์ว่า “การดำเนิน อันเป็นไปในท่ามกลาง

ในภาษาไทย มัชฌิมา + ปฏิปทา = มัชฌิมาปฏิปทา (รวมเป็นคำเดียว)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มัชฌิมาปฏิปทา : ทางสายกลาง. (ป.).”

จะเห็นว่าพจนานุกรมฯ บอกความหมายไว้สั้นมาก

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความ “มัชฌิมาปฏิปทา” ไว้ดังนี้ –

มัชฌิมาปฏิปทา : ทางสายกลาง, ข้อปฏิบัติเป็นกลางๆ ไม่หย่อนจนเกินไป และไม่ตึงจนเกินไป ไม่ข้องแวะที่สุด ๒ อย่างคือ กามสุขัลลิกานุโยค และ อัตตกิลมถานุโยค, ทางแห่งปัญญา (เริ่มด้วยปัญญา, ดำเนินด้วยปัญญา นำไปสู่ปัญญา) อันพอดีที่จะให้ถึงจุดหมาย คือ ความดับกิเลสและความทุกข์ หรือความหลุดพ้นเป็นอิสระสิ้นเชิง ได้แก่มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น สัมมาสมาธิเป็นที่สุด.”

มัชฌิมาปฏิปทา” เป็นศัพท์ทางวิชาการพระพุทธศาสนา ปรากฏอยู่ในธัมมจักกัปปวัตนสูตร หรือที่นิยมเรียกในนาม “ปฐมเทศนา” ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเป็นครั้งแรกในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนอาสาฬหะ (เดือน 8) ซึ่งเราชาวพุทธเรียกกันว่า “วันอาสาฬหบูชา

…………..

อภิปราย :

ขอย้ำว่า ในภาษาไทย “มัชฌิมาปฏิปทา” เขียนติดกันเป็นคำเดียว แต่ในภาษาบาลีเขียนแยกกันเป็น 2 คำ คือ “มชฺฌิมา ปฏิปทา

คนส่วนมากเข้าใจว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” หมายความว่า ทำอะไรแต่พอดีๆ ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ซึ่งต้องถือว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง ความหมายตามที่เข้าใจนี้เป็นความหมายของ “มัชฌิมะ” คำเดียว แต่ไม่ใช่ความหมายของ “มัชฌิมาปฏิปทา” (มชฺฌิมา ปฏิปทา)

มัชฌิมาปฏิปทา” มีความหมายเฉพาะว่า ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลาง คือการปฏิบัติที่ไม่สุดโต่งไปในทางเสพสุขหรือในทางทรมานตนให้ลำบาก และหมายถึงมรรคมีองค์ 8 หรือ อัฏฐังคิกมรรคโดยตรง

ขอนำ มรรคมีองค์ 8 จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [293] มาแสดงไว้ดังนี้ –

…………

มรรคมีองค์ 8 หรือ อัฏฐังคิกมรรค (เรียกเต็มว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค แปลว่า “ทางมีองค์แปดประการ อันประเสริฐ” — Aṭṭhaŋgika-magga: the Noble Eightfold Path); องค์ 8 ของมรรค (มัคคังคะ — factors or constituents of the Path) มีดังนี้

1. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ ได้แก่ ความรู้อริยสัจจ์ 4 หรือ เห็นไตรลักษณ์ หรือ รู้อกุศลและอกุศลมูลกับกุศลและกุศลมูล หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท — Sammādiṭṭhi: Right View; Right Understanding)

2. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ ได้แก่ เนกขัมมสังกัปป์ อพยาบาทสังกัปป์ อวิหิงสาสังกัปป์ — Sammāsaŋkappa: Right Thought)

3. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ ได้แก่ วจีสุจริต 4 — Sammāvācā: Right Speech)

4. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ ได้แก่ กายสุจริต 3 — Sammākammanta: Right Action)

5. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ เว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ — Sammā-ājīva: Right Livelihood)

6. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ ได้แก่ ปธาน หรือ สัมมัปปธาน 4 — Sammāvāyāma: Right Effort)

7. สัมมาสติ (ระลึกชอบ ได้แก่ สติปัฏฐาน 4 — Sammāsati: Right Mindfulness)

8. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ ได้แก่ ฌาน 4 — Sammāsamādhi: Right Concentration)

…………

นี่คือ “มัชฌิมาปฏิปทา” ที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา

ไม่ใช่-ทำอะไรแต่พอดีๆ ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป-ดังที่มักเข้าใจกันในหมู่คนไทย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ป้ายบอกทางไปอเวจี

: “ทำชั่วแต่พอดีๆ เป็นมัชฌิมาปฏิปทา”

8-7-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย