บาลีวันละคำ

เข้าพรรษา (บาลีวันละคำ 1,856)

เข้าพรรษา

ฤดูกาลติดเบรกให้หัวใจ

คำว่า “เข้าพรรษา” มีคำบาลีใช้หลายคำ ในที่นี้ขอเสนอ 4 คำ คือ วสสวาส, วสฺสาวาส, วสฺสูปคมน และ วสฺสูปนายิกา

(๑) “วสสวาส” (วัด-สะ-วา-สะ) แยกศัพท์เป็น วสส + วาส

(ก) “วสฺส” รากศัพท์มาจาก วสฺสฺ (ธาตุ = ราด, รด) + ปัจจัย

: วสฺสฺ + = วสฺส แปลตามศัพท์ว่า (1) “น้ำที่หลั่งรดลงมา” (2) “ฤดูเป็นที่ตกแห่งฝน” (3) “กาลอันกำหนดด้วยฤดูฝน

วสฺส” (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ฝน, ห่าฝน (rain, shower)

(2) ปี (a year)

(3) ความเป็นลูกผู้ชาย, ความแข็งแรง (semen virile, virility)

ในที่นี้ “วสฺส” มีความหมายตามข้อ (1)

(ข) “วาส” (วา-สะ) รากศัพท์มาจาก วสฺ (ธาตุ = อยู่) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” คือ อะ ที่ -(สฺ) เป็น อา (วสฺ > วาส)

: วสฺ + = วสณ > วส > วาส แปลตามศัพท์ว่า “การพักอยู่

วสฺส + วาส = วสฺสวาส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การพักอยู่ตลอดฤดูฝน” เขียนแบบไทยเป็น “วัสสวาส” (วัด-สะ-วาด) หมายถึง การอยู่จำพรรษา (Vassa-residence)

(๒) “วสฺสาวาส” (วัด-สา-วา-สะ) แยกศัพท์เป็น วสส + อาวาส

(ก) “วสฺส” รากศัพท์มาจาก วสฺสฺ (ธาตุ = ราด, รด) + ปัจจัย (ดูข้างต้น)

(ข) “อาวาส” (อา-วา-สะ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + วสฺ (ธาตุ = อยู่) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” คือ อะ ที่ -(สฺ) เป็น อา (วสฺ > วาส)

: อา + วสฺ = อาวสฺ + = อาวสณ > อาวส > อาวาส แปลตามศัพท์ว่า “การพักอยู่

วสฺส + อาวาส = วสฺสาวาส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การพักอยู่ตลอดฤดูฝน” เขียนแบบไทยเป็น “วัสสาวาส” (วัด-สา-วาด) หมายถึง การอยู่จำพรรษา (Vassa-residence)

(๓) “วสฺสูปคมน” (วัด-สู-ปะ-คะ-มะ-นะ) แยกศัพท์เป็น วสส + อุปคมน

(ก) “วสฺส” รากศัพท์มาจาก วสฺสฺ (ธาตุ = ราด, รด) + ปัจจัย (ดูข้างต้น)

(ข) “อุปคมน” (อุ-ปะ-คะ-มะ-นะ) รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: อุป + คมฺ = อุปคมฺ + ยุ > อน = อุปคมน แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าถึง

วสฺส + อุปคมน = วสฺสูปคมน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าถึงซึ่งฤดูฝน” เขียนแบบไทยเป็น “วัสสูปคมน์” (วัด-สู-ปะ-คม) หมายถึง การเข้าอยู่จำพรรษา (entering on the vassa-residence)

(๔) “วสฺสูปนายิกา” (วัด-สู-ปะ-นา-ยิ-กา) แยกศัพท์เป็น วสส + อุปนายิกา

(ก) “วสฺส” รากศัพท์มาจาก วสฺสฺ (ธาตุ = ราด, รด) + ปัจจัย (ดูข้างต้น)

(ข) “อุปนายิกา” รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + นี (ธาตุ = นำไป) + อิก ปัจจัย, แปลง อี ที่ นี เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อาย (อา-ยะ) (นี > เน > นาย) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: อุป + นี = อุปนี > อุปเน > อุปนาย + อิก = อุปนายิก + อา = อุปนายิกา แปลตามศัพท์ว่า “ดิถีเป็นที่น้อมไป

วสฺส + อุปนายิกา = วสฺสูปนายิกา (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ดิถีเป็นที่น้อมไปสู่กาลฝน” เขียนแบบไทยเป็น “วัสสูปนินายิกา” (วัด-สู-ปะ-นา-ยิ-กา) หมายถึง การใกล้เข้ามาของฤดูฝน, การเริ่มอยู่จำพรรษา (the approach of the rainy season, commencement of Vassa residence)

คำที่เขียนแบบไทยเหล่านี้ยังไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปลคำว่า “วันเข้าพรรษา” เป็นอังกฤษดังนี้ –

Vassūpanāyikādivasa : the first day of the rains-retreat; beginning of the rains-residence; Rains-Entry Day.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เข้าพรรษา : (คำนาม) เรียกวันที่พระสงฆ์เริ่มเข้าจําพรรษา คือ วันแรม ๑ คํ่า เดือน ๘ ว่า วันเข้าพรรษา. (คำกริยา) เข้าอยู่ประจําที่ ๓ เดือนในฤดูฝน (ใช้แก่พระสงฆ์).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ไม่มีคำว่า “เข้าพรรษา” แต่มีคำว่า “จำพรรษา” อธิบายไว้ดังนี้ –

…………..

จำพรรษา : อยู่ประจำวัดสามเดือนในฤดูฝน คือ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (อย่างนี้เรียกปุริมพรรษา แปลว่า “พรรษาต้น”) หรือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๙ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ (อย่างนี้เรียก ปัจฉิมพรรษา แปลว่า “พรรษาหลัง”);

วันเข้าพรรษาต้น คือ แรม ๑ ค่ำเดือน ๘ เรียกว่า ปุริมิกาวัสสูปนายิกา,

วันเข้าพรรษาหลังคือ แรม ๑ ค่ำเดือน ๙ เรียกว่า ปัจฉิมิกาวัสสูปนายิกา;

คำอธิษฐานพรรษาว่า

“อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ;

ทุติยมฺปิ อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ;

ตติยมฺปิ อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ”

แปลว่า “ข้าพเจ้าเข้าอยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือนในวัดนี้” (วิหาเร จะเปลี่ยนเป็น อาวาเส ก็ได้);

อานิสงส์การจำพรรษามี ๕ อย่าง คือ

๑. เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา

๒. จาริกไปไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำรับ

๓. ฉันคณโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้

๔. เก็บอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา

๕. จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอ

อานิสงส์ทั้งห้านี้ได้ชั่วเวลาเดือนหนึ่ง นับแต่ออกพรรษาแล้วคือ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ นอกจากนั้นยังได้สิทธิที่จะกรานกฐิน และได้รับอานิสงส์ ๕ นั้น ต่อออกไปอีก ๔ เดือน (ภิกษุผู้เข้าพรรษาหลัง ไม่ได้อานิสงส์หรือสิทธิพิเศษเหล่านี้)

…………..

อภิปราย :

มีข้อสงสัยว่า “พรรษา” แปลว่า ปี เช่นในคำว่า “พระมหาทองย้อยบวชอยู่ 10 พรรษา” ก็แปลว่า –บวชอยู่ 10 ปี แต่ในการเข้าพรรษาหรือจำพรรษา นับเวลาเพียง 3 เดือน ทำไมจึงไม่จำพรรษาทั้งปี

คำตอบคือ “พรรษา” ในคำว่า เข้าพรรษาหรือจำพรรษานี้ไม่ได้แปลว่า “ปี” (a year) แต่หมายถึง “ฤดูฝน” (the rainy season) ซึ่งมีเวลา 4 เดือน แต่มีพุทธบัญญัติให้จำพรรษาเพียง 3 เดือน ส่วนอีก 1 เดือนมีพุทธานุญาตให้ใช้เป็นเวลาทำจีวรผลัดเปลี่ยนจีวรชุดเดิมที่ใช้มาตลอดทั้งปี เวลา 1 เดือนนี้เองที่เรารู้จักกันดีในนามเทศกาลทอดกฐิน

ข้อที่ควรสงสัยอีกอย่างหนึ่งคือ สาเหตุที่มีพุทธบัญญัติให้ภิกษุต้องจำพรรษาคือพักอยู่กับที่เป็นเวลา 3 เดือน ก็เนื่องจากฤดูฝนไม่สะดวกที่จะเดินทางจาริกไปในที่ต่างๆ แต่ปัจจุบันนี้เราสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวกทุกฤดูกาลแล้ว จึงควรจะยกเลิกการจำพรรษาได้แล้ว-ใช่หรือไม่ นี่ตั้งข้อสงสัยเล่นๆ แต่จะคิดจริงๆ ก็ได้

เมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษา จะมีบุคคลจำพวกหนึ่งตั้งใจงดเว้นการกระทำบางอย่างที่ถือว่าเป็นเรื่องไม่ดี เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ เล่นการพนันเป็นต้น แต่เมื่อออกพรรษาก็จะกลับไปประพฤติเหมือนเดิม หรือหนักกว่าเดิม ถือว่าเป็นการ “ตกเบิก” เป็นเหตุให้มีเสียงตำหนิว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ การงดเว้นเพียง 3 เดือนในระหว่างเข้าพรรษาจะมีประโยชน์อะไร

ประเด็นนี้มีผู้เสนอวิธีคิดเชิงอุปมาแบบง่ายๆ ว่า “คนมีผ้านุ่งขาดๆ ก็ยังดีกว่าคนไม่มีผ้าจะนุ่ง

หมายความว่า แม้จะประพฤติไม่ดีอยู่มาก แต่ก็ยังมีช่วงเวลาที่งดเว้นได้บ้าง-เหมือนนุ่งผ้าขาด ดีกว่าคนที่ไม่คิดจะงดเว้นเลยตลอดปีตลอดชาติ-เหมือนไม่มีผ้าจะนุ่ง

คิดในแง่นี้ ก็นับว่ายังมีความดีควรแก่การอนุโมทนา เพราะยังรู้จักเว้น รู้จักหยุด รู้จักหักห้ามใจได้แม้จะชั่วครั้งชั่วคราว ดีกว่าคนหยุดไม่เป็น เว้นไม่ได้ หัวใจไม่มีห้ามล้อ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไม่รู้จักติดเบรกให้หัวใจ

: นรกก็อยู่ไม่ไกล-ชั่วลัดนิ้วมือ

9-7-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย