นิสัยมุตตกะ (บาลีวันละคำ 1,859)
นิสัยมุตตกะ
นานไปจะไม่มีใครรู้จัก
อ่านว่า นิ-ไส-มุด-ตะ-กะ
ประกอบด้วยคำว่า นิสัย + มุตตกะ
(๑) “นิสัย”
บาลีเป็น “นิสฺสย” อ่านว่า นิด-สะ-ยะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า,ลง) + สิ (ธาตุ = อยู่) + อ ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ สิ) เป็น ย (สูตรเต็มว่า “พฤทธิ์ อิ เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย” : สิ > เส > สย), ซ้อน สฺ
: นิ + สฺ = นิสฺสิ > นิสฺสย + อ = นิสฺสย แปลตามศัพท์ว่า “เป็นที่อาศัยอยู่” หมายถึง สิ่งซึ่งมีสิ่งอื่นต้องอาศัย, เครื่องค้ำจุน, การช่วยเหลือ, การป้องกัน; สิ่งของที่บริจาค, ขุมทรัพย์, สิ่งที่จำเป็น, เครื่องใช้สอย; พื้นฐาน, การให้ความไว้วางใจ (that on which anything depends, support, help, protection; endowment, resource, requisite, supply; foundation, reliance on)
“นิสฺสย” บาลี ส สองตัว ภาษาไทยเขียน “นิสัย” ส ตัวเดียว
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “นิสัย” ไว้ว่า –
“นิสัย : (คำนาม) ความประพฤติที่เคยชิน เช่น ทําจนเป็นนิสัย; ที่พึ่ง, ที่พักพิง, ที่อาศัย, เช่น ขอนิสัยในการอุปสมบท. (ป. นิสฺสย).”
ในภาษาไทย เรามักเข้าใจกันแต่เพียงว่า “นิสัย” คือ ความประพฤติที่เคยชิน
(๒) “มุตตกะ”
บาลีเป็น “มุตฺตก” อ่านว่า มุด-ตะ-กะ ศัพท์เดิมคือ มุตฺต + ก
(ก) “มุตฺต” รากศัพท์มาจาก มุจฺ (ธาตุ = หลุด, พ้น) + ต ปัจจัย, แปลง จฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (มุจฺ > มุตฺ)
: มุจฺ + ต = มุจฺต > มุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “พ้นแล้ว” เป็นคำกริยา ใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ปลด, ปล่อย, ให้เป็นอิสระ (released, set free, freed)
(2) ยกเลิกหรือเลิกล้ม, ปล่อยออกมา, อุทิศ, พลี (given up or out, emitted, sacrificed)
(3) มิได้จัดระบบ, ไม่มีระบบ (unsystematised)
(ข) มุตฺต + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)
: มุตฺต + ณฺวุ > อก = มุตฺตก แปลว่า “ผู้พ้นแล้ว” คือผู้ที่พ้นจากภาระอย่างใดอย่างหนึ่ง (one who is released)
นิสฺสย + มุตฺตก = นิสฺสยมุตฺตก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้พ้นแล้วจากการถือนิสัย” หมายถึง ภิกษุที่ไม่ต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของพระอุปัชฌาย์อาจารย์อีกแล้ว
“นิสฺสยมุตฺตก” เขียนในภาษาไทยเป็น “นิสัยมุตตกะ” คำนี้ยังไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายไว้ดังนี้ –
“นิสัยมุตตกะ : ภิกษุผู้พ้นการถือนิสัย หมายถึงภิกษุมีพรรษาพ้น ๕ แล้ว มีความรู้ธรรมวินัยพอรักษาตัวได้แล้ว ไม่ต้องถือนิสัยในอุปัชฌาย์ หรืออาจารย์ต่อไป; เรียกง่ายว่า นิสัยมุตก์.”
…………..
ขยายความ :
ในสังฆมณฑลมีระเบียบอยู่ว่า ภิกษุตั้งแต่แรกบวชต้องอยู่ในความปกครองดูแลของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ เพื่อที่ท่านจะได้แนะนำสั่งสอนสิกขาบทและขนบธรรมเนียมต่างๆ อันภิกษุจะพึงประพฤติปฏิบัติให้สมควรแก่เพศสมณะ จนกว่าจะรู้เข้าใจซึมทราบและปฏิบัติตามได้ถูกต้องเป็นอันดี เรียกว่า “ถือนิสัย” มีกำหนดเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี ต่อเมื่อมีพรรษาพ้น 5 ไปแล้ว และมีความรู้พระธรรมวินัยพอรักษาตัวได้แล้วจึงพ้นจากการถือนิสัย เรียกภิกษุที่พ้นนิสัยแล้วนี้ว่า “นิสัยมุตตกะ” พอเทียบได้กับนิสิตนักศึกษาที่จบการศึกษาตามหลักสูตรแล้วพร้อมที่จะออกไปประกอบอาชีพได้เต็มตัว
มีธรรมเนียมที่พระสงฆ์ถือปฏิบัติกันสืบมาว่า ในระหว่าง 7 วันนับจากเข้าพรรษา ภิกษุที่บวชยังไม่ถึง 5 พรรษาและไม่ได้จำพรรษาอยู่ที่เดียวกับพระอุปัชฌาย์อาจารย์ จะต้องไปถือนิสัยต่อพระอุปัชฌาย์อาจารย์ คือนำเครื่องสักการะไปถวาย เป็นเสมือนการรายงานตัวเพื่อรับการอบรมสั่งสอนจากท่าน
คำเก่าเรียกการปฏิบัติเช่นนี้ว่า “ส่งนิสัย” ปัจจุบันได้ยินเรียกกันว่า “ไปถวายเครื่องสักการะ” ทำให้ความหมายพร่ามัว ไม่ชัดเจนว่าถวายสักการะทำไม เนื่องในโอกาสอะไร
ธรรมเนียมนี้ย่อมส่อให้เห็นว่า ในพระศาสนานี้เล็งเห็นการอบรมสั่งสอนให้รู้ผิดชอบชั่วดีเป็นกิจอันสำคัญยิ่ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
เด็กมีลักษณะนิสัยที่ดีจะมีแต่ที่ไหนเล่า ดูเอาเถิด –
บ้าน : ก็วิ่งเตลิดไปกับการทำงานหาเงินไม่มีเวลาอบรมฝึกหัด
วัด : ก็ยุ่งอยู่กับการทำพิธี ไม่มีเวลาสั่งสอน
โรงเรียน : ก็มัวแต่สาละวนวอนให้ครูวิ่งปรับวุฒิการศึกษา
ภราดาเอย! เด็กชาติไหนเล่าจะน่าอนาถอนาถาเท่ากับเด็กไทย?
12-7-60