บังสุกุล (บาลีวันละคำ 11)
บังสุกุล
ออกเสียงว่า บัง-สุ-กุน (สุ – สระ อุ ไม่ใช่ สะ – สระ อะ)
“บังสุกุล” ภาษาบาลีเป็น ปํสุ + กูล (ปัง-สุ-กู-ละ)
“ปํสุ” เขียนแบบไทยเป็น “บังสุ” แปลว่า ฝุ่น, ขี้ดิน
“กูล” (สระ อู) เขียนแบบไทยเป็น “กุล” อ่านว่า กุน แปลว่า เปรอะเปื้อน, คลุกเคล้า
“บังสุกุล” แปลว่า ผ้าที่เปรอะเปื้อนอยู่กับฝุ่น คือผ้าที่ทิ้งแล้ว
สมัยพุทธกาล พระสงฆ์ท่านจะเที่ยวเก็บผ้าที่เขาทิ้งแล้วมาซักแล้วเย็บเป็นจีวรใช้นุ่งห่ม
ชาวบ้านที่มีศรัทธาจึงเอาผ้าดีๆ ไปทอด (ทอด คือ วาง) ไว้ตามทางที่พระผ่าน เพื่อให้พระเก็บเอาไปทำจีวร
จึงเป็นที่มาของการ “ทอดผ้าป่า” และ “ทอดผ้าบังสุกุล” ในงานศพ
“บังสุกุล” ระวัง อย่าพูดผิดเป็น “บังสะกุล”
เพราะ “บังสะกุล” อาจถูกแปลล้อเล่นว่า “นามสกุลของนายบัง”
บาลีวันละคำ (11)
14 -5 -55
ห้องพระ
13-9-55