บาลีวันละคำ

วชิรูปมจิตฺโต สิยา (บาลีวันละคำ 1,875)

วชิรูปมจิตฺโต สิยา

อ่านว่า วะ-ชิ-รู-ปะ-มะ-จิด-โต สิ-ยา

มีคำนามอยู่ 3 คำ คือ วชิร + อุปมา + จิตฺโต

(๑) “วชิร

บาลีอ่านว่า วะ-ชิ-ระ รากศัพท์มาจาก วช (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อิร ปัจจัย

: วชฺ + อิร = วชิร แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ไปได้เรื่อย” (คือไม่มีอะไรขัดขวางการไปได้) (2) “สิ่งที่ไปอย่างไม่มีอะไรขัดขวาง

โดยความมุ่งหมายแล้ว คำนี้หมายถึงอสนีบาต หรือสายฟ้า (a thunderbolt) ซึ่งถือว่าเป็น “อาวุธพระอินทร์” ความหมายที่เข้าใจกันคือ แก้วที่แข็งที่สุดและมีนํ้าแวววาวมากกว่าพลอยอื่นๆ นั่นคือที่เราเรียกในภาษาไทยว่า “เพชร” (diamond)

(๒) “อุปมา

บาลีอ่านว่า อุ-ปะ-มา รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + มา (ธาตุ = เปรียบ, กะ, ประมาณ) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ

: อุป + มา = อุปมา + กฺวิ = อุปมากฺวิ > อุปมา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องเปรียบเทียบ” หมายถึง ตัวอย่าง, อุปมา, ความเหมือนหรือคล้ายกัน, การเปรียบเทียบ (likeness, simile, parable, example)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุปมา : (คำนาม) สิ่งหรือข้อความที่ยกมาเปรียบ, มักใช้เข้าคู่กับ อุปไมย ในประโยคเช่น เรื่องนี้มีอุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น. (คำกริยา) เปรียบเทียบ. (ป., ส.).”

(๒) “จิตฺโต

คำเดิมเป็น “จิตฺต” (จิด-ตะ) รากศัพท์มาจาก จินฺต (ธาตุ = คิด) + ปัจจัย, ลบ นฺ ที่ จินฺตฺ (จินฺต > จิต)

: จินฺต + = จินฺตต > จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ทำหน้าที่คิด” (2) “สิ่งที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์” หมายถึง จิต, ใจ, ความคิด (the heart, mind, thought)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จิตฺต” ไว้ดังนี้ –

the heart (psychologically), i. e. the centre & focus of man’s emotional nature as well as that intellectual element which inheres in & accompanies its manifestations; i. e. thought (หัวใจ [ทางจิตวิทยา] คือศูนย์และจุดรวมของธรรมชาติที่เกี่ยวกับความรู้สึกของมนุษย์ กับส่วนของสติปัญญาซึ่งอยู่ในการแสดงออกเหล่านั้น; กล่าวคือ ความคิด)

จิตฺต” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “จิต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จิต, จิต– : (คำนาม) ใจ, สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิดและนึก, (โบ เขียนว่า จิตร), ลักษณนามว่า ดวง. (ป. จิตฺต).”

การประสมคำ :

วชิร + อุปมา ใช้สูตร “ลบสระหน้า ทีฆะสระหลัง” คือลบ อะ ที่ (วชิ)- (บาลีถือว่าพยัญชนะทุกตัวมีสระกำกับอยู่) และทีฆะ อุ ที่ อุ-(ปมา) เป็น อู (อุปมา > อูปมา)

: วชิร + อุปมา = วชิรูปมา แปลว่า “เปรียบด้วยเพชร

วชิรูปมา + จิตฺต ลบสระหน้า คือ อา ที่ (วชิรูป)-มา (วชิรูปมา > วชิรูปม)

: วชิรูปมา + จิตฺต = วชิรูปมาจิตฺต > วชิรูปมจิตฺต แปลว่า “จิตเปรียบด้วยเพชร

วชิรูปมจิตฺต” เป็นคำขยาย “บุคคล” ซึ่งเป็นคำกลางๆ หมายถึงคนทั่วไป แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ ปุงลิงค์ จึงเป็น “วชิรูปมจิตฺโต” แปลว่า “บุคคลผู้มีจิตเปรียบด้วยเพชร

ส่วนคำว่า “สิยา” เป็นคำกริยา แปลว่า “พึงเป็น” (เทียบภาษิตที่เราค่อนข้างคุ้นกัน คือ “น สิยา โลกวฑฺฒโน” = ไม่พึงเป็นคนรกโลก)

วชิรูปมจิตฺโต สิยา” เป็นสุภาษิตประจำมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสงฆ์)

ตามประวัติที่ค้นได้ มีข้อความกล่าวถึงความเป็นมาไว้ว่า –

……….

จากพระดำริของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายีมหาเถร) วัดมกุฏกษัตริยาราม ขณะทรงดำรงตำแหน่งนายกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มีพระประสงค์ที่จะขยายการศึกษาของคณะสงฆ์ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ……

…………

…………

……. โดยร่วมกันก่อตั้งสถาบันสงฆ์แห่งนี้ขึ้น เริ่มแรกใช้ชื่อว่า “สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย สาขาวังน้อย” เป็นที่รู้จักกันของประชาชนโดยทั่วไปว่า “วิทยาลัยสงฆ์วังน้อย” ในปี พ.ศ.2519 ได้ขอตั้งเป็นวัดชื่อ วัดชูจิตธรรมาราม เพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์สกุลชูจิตารมย์ผู้ถวายที่ดินเพื่อการก่อตั้งครั้งแรก ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2520 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพระนามาภิไธย ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมารว่า “มหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย” และได้พระราชทานพระนามาภิไธยย่อว่า ม.ว.ก. ภายใต้เสมาธรรมจักร พร้อมทั้งพระราชทานสุภาษิตว่า “วชิรูปมจิตฺโต สิยา” (พึงเป็นผู้มีจิตแกร่งประดุจเพชร) ให้เป็นตราประจำวิทยาลัย

…………..

ความในใจ :

เนื่องจากวันนี้เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่รู้สึกกันว่าเป็นครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน ผู้เขียนบาลีวันละคำได้เห็นสุภาษิต “วชิรูปมจิตฺโต สิยา” จากโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่งเข้าก็รู้สึกปีติ จึงไปค้นหาที่มา ก็ได้ความดังที่แสดงไว้ข้างต้น

ผู้เขียนบาลีวันละคำมีความเห็นว่า สุภาษิต “วชิรูปมจิตฺโต สิยา” มีความเป็นมาเกี่ยวข้องโดยตรงกับพระมหากษัตริย์ไทย และสุภาษิตบทนี้มีความหมายวิเศษ ควรแก่การยึดถือของคนทั่วไป

พุทธมามกะคือผู้ยอมรับนับถือว่าพระพุทธศาสนาเป็นของตนสมควรจดจำและกล่าวถึงสุภาษิตอันเกี่ยวกับคำสอนในพระพุทธศาสนาได้อย่างน้อยสักสองบท ดังที่คนทั้งหลายแม้จะไม่รู้ภาษาบาลีก็รู้จักกล่าวคำว่า “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” กันติดปาก และรู้ความหมายว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน

และในฐานะพสกนิกรในแผ่นดินรัชกาลที่ 10 ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอสุภาษิตบทนี้ให้ชาวเราได้จดจำและพิจารณาไว้เป็นคำพูดติดปากอีกบทหนึ่ง เป็นการสำแดงถึงความจงรักภักดีอันมีธรรมะเป็นพื้นฐาน

ความจงรักภักดีนั้นย่อมแสดงออกได้หลายวิธีตามแต่ใครใดจะถนัดในทางใด ผู้เขียนบาลีวันละคำเรียนมาทางบาลี ก็ขอแสดงออกตามทางที่พอจะแสดงได้-ด้วยสติปัญญาอันน้อย

คุณสมบัติเด่นที่สุดของเพชรก็คือความแข็งแกร่ง และในตัวมนุษย์ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือใจ

ผู้มีจิตใจที่แข็งแกร่งย่อมยืนหยัดมั่นคงอยู่ในทางดี นั่นคือเพชรที่สามารถสร้างขึ้นให้มีในหัวใจได้ทุกคน เรียกได้ว่า เพชรใจ คือใจที่เป็นเพชร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: แม้นไม่อาจจะมีเพชรจริง

: ก็ขอจงอย่าทิ้งเพชรใจ

—————-

(แรงบันดาลใจจากโพสต์ของ Chakkrit Rachain Maneewan)

28-7-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย