บาลีวันละคำ

โลหิตํ (บาลีวันละคำ 2,043)

โลหิตํ = เลือด

ลำดับ 23 ในอาการสามสิบสอง

อ่านว่า โล-หิ-ตัง

โลหิตํ” รูปคำเดิมเป็น “โลหิต” (โล-หิ-ตะ) รากศัพท์มาจาก รุหฺ (ธาตุ = เกิด) + ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (รุหฺ + อิ + ),แผลง อุ ที่ รุ-(หฺ) เป็น โอ แล้วแปลง เป็น (รุหฺ > โรห > โลห)

: รุหฺ + อิ + = รุหิต > โรหิต > โลหิต แปลตามศัพท์ว่า “ของเหลวที่เกิดอยู่ในร่างกายโดยกระจายไปทั่ว” (รุหติ สรีเร พฺยาปนวเสนาติ โลหิตํ)

โลหิต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) (เป็นคำนาม) เลือด (blood)

(2) (เป็นคุณศัพท์) แดง (red)

โลหิต” (นปุงสกลิงค์) แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “โลหิตํ

โลหิต” ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์เป็น “โลหิต” (โล-หิด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

โลหิต : (คำนาม) เลือด. (คำวิเศษณ์) สีแดง, โรหิต ก็ว่า. (ป., ส.).

…………..

ขยายความ :

คัมภีร์วิสุทธิมรรคบรรยายลักษณะของ “โลหิตํ” ไว้ดังนี้ –

โลหิตนฺติ  เทฺว  โลหิตานิ  สนฺนิจิตโลหิตญฺจ  สํสรณโลหิตญฺจ.

คำว่า “โลหิตํ” มีอธิบายว่า โลหิตมี 2 ชนิด คือ สันนิจิตโลหิต (โลหิตขัง) 1 สังสรณโลหิต (โลหิตไหลเวียน) 1

ตตฺถ  สนฺนิจิตโลหิตํ  วณฺณโต  นิปกฺกพหลลาขารสวณฺณํ สํสรณโลหิตํ  อจฺฉลาขารสวณฺณํ.

สันนิจิตโลหิตสีดังสีน้ำครั่งข้นที่แก่ไฟ สังสรณโลหิตสีดังน้ำครั่งใส

สณฺฐานโต  อุภยมฺปิ  โอกาสสณฺฐานํ.

โลหิตทั้ง 2 ชนิดมีรูปทรงสัณฐานตามตามรูปทรงอวัยวะที่มันเข้าไปอยู่

โอกาสโต  สํสรณโลหิตํ  ฐเปตฺวา  เกสโลมทนฺตนขานํ  มํสวินิมุตฺตฏฺฐานญฺเจว  ถทฺธสุกฺกจมฺมญฺจ  ธมนิชาลานุสาเรน  สพฺพํ  อุปาทินฺนสรีเร  ผริตฺวา  ฐิตํ 

สังสรณโลหิตไหลเวียนอยู่ทั่วร่างกายที่ยังมีชีวิต โดยแผ่ไปตามเส้นเลือด ยกเว้นส่วนที่ไม่มีเนื้อหนัง คือ เส้นผม ขน ฟัน เล็บ และหนังที่ด้านแห้ง

สนฺนิจิตโลหิตํ  ยกนฏฺฐานสฺส  เหฏฺฐาภาคํ  ปูเรตฺวา  เอกปตฺตปูรมตฺตํ  วกฺกหทยยกนปปฺผาสานํ  อุปริ  โถกํ  โถกํ  ปคฺฆรนฺตํ  วกฺกหทยยกนปปฺผาเส  เตมยมานํ  ฐิตํ 

สันนิจิตโลหิตในตัวคนเรามีประมาณกอบมือหนึ่งเต็มๆ ขังอยู่ที่ตอนล่างบริเวณที่ตับห้อยอยู่ ค่อยๆ ซึมไปบนไต หัวใจ ตับ และปอด ทำให้อวัยวะดังกล่าวนี้ชุ่มอยู่เสมอ

ตสฺมึ  หิ  วกฺกหทยาทีนิ  อเตเมนฺเต  สตฺตา  ปิปาสิตา  โหนฺติ.

เวลาที่ไต หัวใจ ตับ หรือปอดไม่มีสันนิจิตโลหิตมาทำให้ชุ่ม ก็จะทำให้เกิดอาการกระหายน้ำ

(คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 2 อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส หน้า 45-46)

ในบทสวด “พระอาการสามสิบสอง” กล่าวถึง “โลหิตํ” ไว้ดังนี้ –

๏ โลหิตังคือเลือด….ไหลหลั่งบ่เหือด…..ซาบทั่วกายา

ยี่สิบทะนาน…………ดังการแจ้งมา………เจ็บปวดโรคา

โลหิตแห่งตน๚ะ๛

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เลือดเนื้อชีวิตนี้ ใครไม่ดีไปกว่าใคร

: ใครใช้เพื่อการใด จึงบอกได้ว่าใคร (มี) ดี

—————-

(ตามคำอาราธนาของคุณครูอนันต์ นาควิจิตร)

ภาพประกอบ: จาก google

ควรตามไปดูคำว่า “อาการ 32” ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ด้วย:

#บาลีวันละคำ (2,043)

15-1-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย