บาลีวันละคำ

อภิวาทนสีลี (บาลีวันละคำ 1,882)

อภิวาทนสีลี

“ผู้พนมมือให้แก่ชนทุกชั้น”

อ่านว่า อะ-พิ-วา-ทะ-นะ-สี-ลี

แยกคำเป็น อภิวาทน + สีลี

(๑) “อภิวาทน

อ่านว่า อะ-พิ-วา-ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก อภิ (คำอุปสรรค = ยิ่ง, เหนือ) + วนฺทฺ (ธาตุ = ไหว้) + ยุ ปัจจัย, ลบ นฺ ที่ วนฺทฺ (วนฺทฺ > วทฺ), ทีฆะ อะ ที่ -(นฺทฺ) เป็น อา (วนฺทฺ > วทฺ > วาท), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: อภิ + วนฺทฺ = อภิวนฺทฺ + ยุ > อน = อภิวนฺทน > อภิวทน > อภิวาทน แปลตามศัพท์ว่า “วิธีเป็นเครื่องไหว้อย่างยิ่ง” (หมายถึงการกราบ)

อภิวาทน” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง การอภิวาท, การสดุดี, การต้อนรับ, การแสดงความเคารพหรือจงรักภักดี (respectful greeting, salutation, giving welcome, showing respect or devotion)

(๒) “สีลี

อ่านว่า สี-ลี คำเดิมเป็น สีล + อี ปัจจัย

(ก) “สีล” (สี-ละ) รากศัพท์มาจาก –

(1) สีลฺ (ธาตุ = สงบ, ทรงไว้) + ปัจจัย

: สีลฺ + = สีล แปลตามศัพท์ว่า “เหตุสงบแห่งจิต” “เหตุให้ธำรงกุศลธรรมไว้ได้” “ธรรมที่ธำรงผู้ปฏิบัติไว้มิให้เกิดในอบาย

(2) สิ (ธาตุ = ผูก) + ปัจจัย, ทีฆะ อิ ที่ สิ เป็น อี (สิ > สี)

: สิ + = สิล > สีล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องผูกจิตไว้

นัยหนึ่งนิยมแปลกันว่า “เย็น” หรือ “ปกติ” โดยความหมายว่า เมื่อไม่ละเมิดข้อห้ามก็จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นปกติเรียบร้อย

สีล” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง :

(1) ข้อปฏิบัติทางศีลธรรม, นิสัยที่ดี, จริยธรรมในพุทธศาสนา, หลักศีลธรรม (moral practice, good character, Buddhist ethics, code of morality)

(2) ธรรมชาติ, นิสัย, ความเคยชิน, ความประพฤติ (nature, character, habit, behavior)

(ข) สีล + อี = สีลี แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้มีศีล” (2) “ผู้มี–เป็นปกติ

สีลี” (ปุงลิงค์) หมายถึง ผู้ทำเช่นนั้นเช่นนี้เป็นปกติ, ผู้มักทำหรือชอบทำเช่นนั้นหรือมีอุปนิสัยแบบนั้น (having a disposition or character) เช่น

นิทฺทาสีลี (นิด-ทา-สี-ลี) = ชอบหลับเป็นนิสัย หรือขี้เซา (drowsy)

สภาสีลี (สะ-พา-สี-ลี) = ชอบสมาคม (fond of society)

อภิวาทน + สีลี = อภิวาทนสีลี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีการกราบไหว้เป็นปกติ” หมายถึง มีปกติไหว้กราบ, มีอุปนิสัยซื่อตรงจงรัก, มีอุปนิสัยเคารพนับถือผู้อื่น (of devout character)

เวลาพระสงฆ์สวดอนุโมทนา เราจะได้ยินข้อความตอนหนึ่งว่า

อภิวาทนสีลิสฺส

นิจฺจํ  วุฑฺฒาปจายิโน

จตฺตาโร  ธมฺมา  วฑฺฒนฺติ

อายุ  วณฺโณ  สุขํ  พลํ.

ธรรม 4 ประการ

คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ

ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีปกติไหว้กราบ

มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์

อภิวาทนสีลิสฺส” ก็คือ “อภิวาทนสีลี” นั่นเอง แจกด้วยวิภัตตินามที่ 4 (จตุตถีวิภัตติ) เอกพจน์ ได้รูปเป็น “อภิวาทนสีลิสฺส” แปลว่า (ธรรม 4 ประการย่อมเจริญ) “แก่ผู้มีการไหว้กราบเป็นปกติ

ดูเพิ่มเติม: “อัญชลี วันทา อภิวาท” บาลีวันละคำ (1,504) 17-7-59

…………..

อภิปราย :

คนประเภท “อภิวาทนสีลี” นี้ ภาษาไทยเรียกว่า “มืออ่อน” (นอบน้อม, ไหว้คนง่าย) ซึ่งตรงกันข้ามกับคน “มือแข็ง” (ไม่ค่อยไหว้คนง่าย ๆ)

กล่าวตามสำนวน “ยาขอบ” นักประพันธ์เรืองนามของไทย “อภิวาทนสีลี” ก็คือ “ผู้พนมมือให้แก่ชนทุกชั้น

คติธรรมแสดงไว้ว่า รวงข้าวที่มีเมล็ดเต่งเต็มรวงย่อมน้อมลงสู่พื้น ส่วนรวงข้าวลีบย่อมชี้ขึ้นฟ้า

ผู้พนมมือให้แก่ชนทุกชั้น” เปรียบเหมือนข้าวเต็มรวง

ผู้กระด้างด้วยทิฐิมานะ เปรียบเหมือนข้าวรวงลีบ

…………..

ดูก่อนภราดา!

ถ้าเป็นไทย จงเข้าใจเสียให้ถูก –

: การหมอบกราบไม่ได้แปลว่ายอมเป็นทาส

: การอภิวาทไม่ได้หมายความว่ายอมเป็นขี้ข้ารับใช้ใคร

4-8-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย