บาลีวันละคำ

อุทริยํ (บาลีวันละคำ 2,035)

อุทริยํ = อาหารใหม่

ลำดับ 18 ในอาการสามสิบสอง

อ่านว่า อุ-ทะ-ริ-ยัง

อุทริยํ” รูปคำเดิมเป็น “อุทริย” (อุ-ทะ-ริ-ยะ) รากศัพท์มาจาก อุทร + อิย ปัจจัย

(๑) “อุทร” อ่านว่า อุ-ทะ-ระ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, บน, นอก) + ทรฺ (ธาตุ = ไป) + ปัจจัย

: อุ + ทรฺ = อุทรฺ + = อุทรฺ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นที่เดินขึ้นข้างบนแห่งลม

อุทร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ท้อง, กระเพาะอาหาร (the belly, stomach)

(2) ช่อง, ภายใน, ข้างใน (cavity, interior, inside)

อุทร” ในภาษาไทยอ่านว่า อุ-ทอน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

อุทร : (คำนาม) ท้อง. (ป., ส.).”

(๒) อุทร + อิย ปัยจัย

: อุทร + อิย = อุทริย (คำคุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันมีในท้อง” “สิ่งอันตกลงสู่ท้อง” หมายถึง อาหารที่กินเข้าไปอยู่ในกระเพาะอาหาร

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุทริย” ว่า the stomach (ท้อง)

อุทริย” ในภาษาไทยใช้เป็น “อุทริยะ” (อุ-ทะ-ริ-ยะ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

อุทริยะ : (คำนาม) อาหารที่กินเข้าไปใหม่ ๆ. (ป. อุทริย; ส. อุทรฺย).”

อุทริย” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “อุทริยํ

…………..

ขยายความ :

คัมภีร์วิสุทธิมรรคบรรยายสภาพของ “อุทริยํ” ไว้ดังนี้ –

อุทริยนฺติ  อุทเร  ภวํ  อสิตปีตขายิตสายิตํ.

คำว่า อุทริยํ แปลว่า สิ่งที่มีอยู่ในอุทร หมายถึงสิ่งที่เรากิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มเข้าไป

ตํ  วณฺณโต  อชฺโฌหฏาหารวณฺณํ.

สีของอุทริยะนั้นก็เหมือนสีอาหารที่กลืนเข้าไป

สณฺฐานโต  ปริสฺสาวเน  สิถิลพนฺธตณฺฑุลสณฺฐานํ.

อุทริยะมีเค้ารูปเหมือนข้าวสารที่บรรจุหลวมๆ ในผ้ากรองที่ทำเป็นถุง

โอกาสโต  อุทเร  ฐิตํ.

ที่ของอุทริยะก็คือในอุทร (กระเพาะอาหาร)

อุทรํ  นาม  อุภโต  นิปฺปีฬิยมานสฺส  อลฺลสาฏกสฺส  มชฺเฌ สญฺชาตโปฏกสทิสํ  อนฺตปฏลํ 

ที่เรียกว่า “อุทร” ก็คืออวัยวะที่ต่อเนื่องกับลำไส้ ลักษณะป่องคล้ายโปงผ้าตรงกลางผ้าเปียกน้ำที่รวบชายทั้ง ๒ ข้างเข้าด้วยกัน

พหิ  มฏฺฐํ  อนฺโต  มํสกสมฺพุกปลิเวฐนกิลิฏฺฐํ  ปาวารปุปฺผกสทิสํ 

อุทรนั้นข้างนอกเกลี้ยง ข้างในมีสภาพคล้ายผ้าซับระดูที่เปื้อนแล้วห่อเศษเนื้อไว้

กุฏฺฐิตปนสตจสฺส  อพฺภนฺตรสทิสนฺติปิ  วตฺตุํ  วฏฺฏติ 

จะว่าข้างในอุทรนั้นไม่ผิดกับภายในของขนุนละมุดที่สุกเละก็ได้

ยตฺถ  ตกฺโกฏกา  คณฺฑุปฺปาทกา  ตาลหีรกา  สูจิมุขกา  ปฏตนฺตู  สุตฺตกา  อิจฺเจวมาทิทฺวตฺตึสกุลปฺปเภทา  กิมโย  อากุลพฺยากุลา  สณฺฑสณฺฑจาริโน  หุตฺวา  นิวสนฺติ 

เป็นที่อาศัยอยู่ของหมู่พยาธิต่างๆ ถึง 32 ตระกูล เป็นต้นว่าชนิดตักโกฏกะ (พยาธิปากขอ) ชนิดคัณฑุปปาทกะ (พยาธิตัวกลม) ชนิดตาลหีรกะ (พยาธิเสี้ยนตาล) ชนิดสูจิมุขกะ (พยาธิตัวจี๊ดหรือพยาธิปากเข็ม) ชนิดปฏตันตุ (พยาธิตัวแบน) ชนิดสุตตกะ (พยาธิเส้นด้าย) พยาธิเหล่านี้อยู่กันเป็นกลุ่มๆ คลาคล่ำไปในอุทรนั้น

เย  ปานโภชนาทิมฺหิ  อวิชฺชมาเน  อุลฺลงฺฆิตฺวา  วิรวนฺตา  หทยมํสํ  อภิหนนฺติ  ปานโภชนาทิอชฺโฌหรณเวลายญฺจ  เต  อุทฺธํมุขา  หุตฺวา  ปฐมชฺโฌหเฏ  เทฺว  ตโย  อาโลเป  ตุริตตุริตา  วิลุมฺปนฺติ 

เวลาท้องว่างไม่มีข้าวน้ำอยู่ในกระเพาะ พวกพยาธิก็จะพลุ่งพล่านกันให้ระงมไป ท่านว่าถึงขนาดพล่านไปถึงหัวใจก็มี และพอคนกลืนข้าวลงไป 2-3 คำแรก มันจะพากันชูปากตะลีตะลานเข้าแย่งอาหารกันเป็นอลหม่าน

ยํ  เตสํ  กิมีนํ  สูติฆรํ  วจฺจกุฏิ  คิลานสาลา  สุสานญฺจ  โหติ 

เป็นอันว่าอุทรนั้นเป็นทั้งที่เกิด ที่ขับถ่าย เป็นทั้งโรงพยาบาล และเป็นสุสานของพยาธิทั้งหลายอยู่พร้อมเสร็จ

เอวเมว  นานปฺปการํ  ปานโภชนาทิ  ทนฺตมูสลสญฺจุณฺณิตํ  ชิวฺหาหตฺถปริวตฺติตํ  เขฬลาลาปลิพุทฺธํ  ตํขณํ  วิคตวณฺณคนฺธรสาทิสมฺปทํ  ตนฺตวายขลิสุวานวมถุสทิสํ  นิปติตฺวา  ปิตฺตเสมฺหวาตปลิเวฐิตํ  หุตฺวา  อุทรคฺคิสนฺตาปเวคกุฏฺฐิตํ  หุตฺวา  กิมิกุลากุลํ  อุปรูปริ  เผณปุพฺพุฬกานิ  มุญฺจนฺตํ  ปรมกสมฺพุกทุคฺคนฺธเชคุจฺฉภาวํ  อาปชฺชิตฺวา  ติฏฺฐติ

ระบบการทำงานของอุทรก็คือ บรรดาข้าวน้ำของกินทั้งปวงเมื่อแหลกด้วยสากคือฟัน คลุกด้วยมือคือลิ้น เคล้าด้วยน้ำย่อยคือเขฬะแล้ว ครั้นกลืนลงไป ประดาความสวยงามน่ากิน ทั้งสี ทั้งกลิ่น ทั้งรส ก็ปลาสนาการไปสิ้น ขณะนั้นมันจะเขละๆ คล้ายแป้งมันที่เขาเอามาย้อมผ้าทอ หรือไม่ก็อาหารที่สุนัขรากออกมา เมื่อตกถึงท้องก็ประสมไปด้วยน้ำดีและเสมหะ ทั้งลมในท้องก็อัดซ้ำเข้าไป กลั้วเป็นไอขึ้นด้วยกำลังความร้อนของไฟธาตุ อุทรก็อากูลเกลื่อนกลาดไปด้วยหมู่หนอนปล่อยฟองฝ้าปูดปุดมิได้หยุดหย่อนอยู่ทุกระยะ อาหารนั้นก็กลับกลายเป็นขยะเหม็นเน่าและน่าเกลียดอย่างยิ่งอยู่ในอุทร

ยตฺถ  เสยฺยถาปิ  นาม  จณฺฑาลคามทฺวาเร  จนฺทนิกาย  นิทาฆสมเย  ถูลผุสิตเก  เทเว  วสฺสนฺเต  อุทเกน  วุยฺหมานํ  มุตฺตกรีสจมฺมอฏฺฐินฺหารุขณฺฑเขฬสิงฺฆาณิกโลหิตปฺปภูติ  นานากุณปชาตํ  นิปติตฺวา  กทฺทโมทกาลุลิตํ  ทฺวีหตีหจฺจเยน สญฺชาตกิมิกุลํ  สูริยาตปสนฺตาปเวคกุฏฺฐิตํ  อุปริ  เผณปุพฺพุฬเก  มุญฺจนฺตํ  อภินีลวณฺณํ  ปรมทุคฺคนฺธํ  เชคุจฺฉํ  เนว  อุปคนฺตุํ  น  ทฏฺฐุํ  อรหรูปตํ  อาปชฺชิตฺวา  ติฏฺฐติ  ปเคว  ฆายิตุํ  สายิตุํ  วา 

อุปมาเหมือนแอ่งน้ำครำโสโครกข้างประตูหมู่บ้านพวกจัณฑาลเมื่อยามร้อน พอมีฝนหนาเม็ดหลั่งลงมา บรรดาซากชนิดต่างๆ จับแต่ปัสสาวะอุจจาระ ท่อนหนัง ท่อนกระดูก ท่อนเอ็น น้ำลาย น้ำมูกและเลือด ที่ถูกน้ำฝนพัดพามาก็ไหลมารวมลง ประสมเข้ากับน้ำโคลนในแอ่งอีกเล่า ได้สัก 2-3 วันหนอนเน่าก็เกิดขึ้นเกลื่อนกล่น ครั้นถูกไอแดดไอร้อนลนเข้าก็เน่าคลุ้ง เกิดเป็นฟองเป็นฝ้าฟุ้งปูดปุดขึ้นข้างบน สีก็เปลี่ยนปนเป็นเขียวคล้ำเหม็นเน่าน่าเกลียดเป็นที่สุด ถึงภาวะที่ไม่มีมนุษย์ที่ไหนอยากจะกรายเข้าไปใกล้หรือเหลือบแลมอง ไม่ต้องกล่าวถึงว่าจะสูดดมหรือลิ้มเลียลองให้รู้รสกระนั้นแหละ

ยํ  สุตฺวาปิ  ปานโภชนาทีสุ  อมนุญฺญตา  สณฺฐาติ  ปเคว  ปญฺญาจกฺขุนา  อวโลเกตฺวา 

เมื่อได้ฟังดังที่กล่าวมาก็จะรู้สึกได้ว่า บรรดาข้าวปลาที่กลืนลงไปเป็นสิ่งไม่น่าพอใจจริง ยิ่งผู้ที่พิจารณาดูด้วยปัญญาจักษุด้วยแล้วเป็นอันไม่ต้องพูดละว่าจะยินดี

ยตฺถ  จ  ปติตํ  ปานโภชนาทิ  ปญฺจธา  วิภาคํ  คจฺฉติ  เอกํ  ภาคํ  ปาณกา  ขาทนฺติ  เอกํ  ภาคํ  อุทรคฺคิ  ฌาเปติ  เอโก  ภาโค  มุตฺตํ  โหติ  เอโก  กรีสํ  เอโก  รสภาวํ  อาปชฺชิตฺวา  โลหิตมํสาทีนิ  อุปพฺรูหยติ.

อนึ่ง ของกินตกลงไปถึงอุทรนั้นแล้ว ท่านว่าย่อมแบ่งออกเป็น 5 ส่วน คือ ตัวพยาธิกินเสียส่วนหนึ่ง ไฟธาตุเผาเปล่าเปลืองไปเสียส่วนหนึ่ง เป็นปัสสาวะส่วนหนึ่ง เป็นอุจจาระส่วนหนึ่ง และเป็นโอชารสไปหล่อเลี้ยงร่างกายเป็นเลือดเป็นเนื้อส่วนหนึ่ง

(คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 2 อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส หน้า 41-42)

…………..

ข้อสังเกต :

อาการสามสิบสองข้อนี้มีคำซ้อนกันอยู่ 2 คำ คือ –

อุทร = ท้อง ซึ่งในที่นี้หมายถึงกระเพาะอาหาร

อุทริยํ = สิ่งที่มีอยู่ในท้อง ซึ่งหมายถึงอาหารที่กินเข้าไปตกถึงท้อง

ในที่นี้ท่านไม่นับ “อุทร” เป็นหนึ่งในอาการสามสิบสอง ทั้งนี้เพราะอุทรรวมอยู่ใน “อนฺตํ” ไส้ใหญ่แล้ว

ในข้อ “อนฺตํ” ท่านบรรยายว่า ปลายของลำไส้ข้างหนึ่งอยู่ที่คอหอย และอีกข้างหนึ่งอยู่ที่ทวารหนัก นั่นแปลว่ารวมเอากระเพาะอาหารคือ “อุทร” เข้าไว้ด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง อุทรก็คือลำไส้ใหญ่ส่วนที่เป็นที่พักอาหารนั่นเอง

อุทริยํ” อาหารใหม่ ท่านจัดเข้าเป็นหนึ่งในอาการสามสิบสอง ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วอาหารไม่ใช่ส่วนที่เกิดขึ้นในร่างกาย หากแต่เป็นส่วนที่นำเข้าไปจากภายนอก ไม่น่าจะนับเป็นอาการสามสิบสอง

อาการสามสิบสองข้ออื่นๆ ล้วนเป็นของที่เกิดภายในร่างกายทั้งสิ้น มี “อุทริยํ” ข้อเดียวที่แปลกกว่าเพื่อน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะอาหารเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่มีอาหารก็ไม่มีชีวิต ตามหลักที่ว่า “สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิติกา” สิ่งมีชีวิตทั้งมวลดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร

ดังนั้น “อุทริยํอาหารใหม่ ท่านจึงจัดเข้าเป็นหนึ่งในอาการสามสิบสองด้วย

…………..

ในบทสวด “พระอาการสามสิบสอง” กล่าวถึง “อุทริยํ” ไว้ดังนี้ –

๏ อุทะริยัง………..อาหารใหม่ตั้ง…….เอมโอชโภชนา

เมื่อตกแต่งไว้…….ให้กำลังกล้า……..สำรอกออกมา

ดูน่าบัดสี๚ะ๛

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คิดว่าทำอย่างไรจึงจะมีกิน แก้ปัญหาได้เฉพาะชาตินี้

: คิดว่าทำอย่างไรจึงจะได้ทำความดี แก้ปัญหาได้ถึงชาติหน้า

—————-

(ตามคำอาราธนาของคุณครูอนันต์ นาควิจิตร)

ภาพประกอบ: จาก google

ควรตามไปดูคำว่า “อาการ 32” ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ด้วย:

#บาลีวันละคำ (2,035)

7-1-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย