วสา (บาลีวันละคำ 2,049)
วสา = มันเหลว
ลำดับ 27 ในอาการสามสิบสอง
อ่านว่า วะ-สา
“วสา” รูปคำเดิมเป็น “วสา” (วะ-สา) รากศัพท์มาจาก วสฺ (ธาตุ = อยู่อาศัย) + อ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: วสฺ + อ = วส + อา = วสา แปลตามศัพท์ว่า “มันที่อยู่ในร่างกาย” หมายถึง มัน, ไข, ไขมัน (fat, tallow, grease)
“วสา” (อิตถีลิงค์) แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ คงรูปเป็น “วสา”
“วสา” ในภาษาไทยใช้เป็น “วสา” ตามรูปเดิม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“วสา : (คำนาม) มันเหลว; ไข, นํ้ามัน. (ป., ส.).”
ข้อสังเกต:
“เมโท” = มันข้น (ลำดับ 25 ในอาการสามสิบสอง) ภาษาอังกฤษแปลว่า fat
“วสา” = มันเหลว ภาษาอังกฤษก็แปลว่า fat อีก
จะแยกความแตกต่างได้อย่างไรว่า อะไรคือ “เมโท” และอะไรคือ “วสา”
ข้อสังเกตเพื่อความเข้าใจง่าย คือ ส่วนเกินที่เห็นพองพอกอยู่ตามเอว สะโพก และหน้าท้องเป็นต้น นั่นคือ “เมโท” = มันข้น
ส่วนที่ฉาบผิวหนังให้เป็นมันในที่บางแห่ง เช่นที่ปลายจมูก และหน้าผากเป็นต้น นั่นคือ “วสา” = มันเหลว
แต่พึงทราบว่า ทั้ง “เมโท” และ “วสา” ท่านจัดอยู่ในกลุ่ม “อาโปธาตุ” = ธาตุที่เอิบอาบซึมซาบอยู่ในร่างกาย หรือที่เรียกรู้กันง่ายๆ ว่า “ธาตุน้ำ” เหมือนกัน ทั้งๆ ที่ “เมโท” คือไขมัน เราเห็นว่าเป็นกำเป็นก้อนซึ่งน่าจะอยู่ในจำพวก “ปฐวีธาตุ” ธาตุที่แข้นแข็ง หรือ “ธาตุดิน”
ข้อนี้พึงพิจารณาโดยโยนิโสมนสิการ
…………..
ขยายความ :
คัมภีร์วิสุทธิมรรคบรรยายลักษณะของ “วสา” ไว้ดังนี้ –
วสาติ วิลีนสิเนโห.
คำว่า “วสา” หมายถึง มันเหลว
สา วณฺณโต นาฬิเกรเตลวณฺณา. อาจาเม อาสิตฺตเตลวณฺณาติปิ วตฺตุํ วฏฺฏติ.
วสานั้นสีเหมือนน้ำมันมะพร้าว แต่จะว่ามีสีเหมือนน้ำมันที่กวนประสมในน้ำข้าวก็ได้
สณฺฐานโต นฺหานกาเล ปสนฺนอุทกสฺส อุปริ ปริพฺภมนฺตสิเนหพินฺทุวิสฏสณฺฐานา.
รูปทรงของวสานั้นจะเห็นได้ในเวลาเราล้างผิวหนังส่วนที่เป็นมัน (เช่นล้างหน้า) คือจะเหมือนหยดน้ำมันลงไปในน้ำใสๆ แล้วกวนน้ำให้แตกกระจาย รูปทรงของวสาก็จะเหมือนน้ำมันที่แตกตัวอยู่ในน้ำนั่นแหละ
โอกาสโต เยภุยฺเยน หตฺถตลหตฺถปิฏฺฐิปาทตลปาทปิฏฺฐินาสปูฏนลาฏอํสกูเฏสุ ฐิตา.
ในตัวคนเรานี้ ที่มีวสาอยู่โดยมากก็คือตามฝ่ามือ หลังมือ ฝ่าเท้า หลังเท้า ปลายจมูก หน้าผาก และจะงอยบ่า
น เจสา เอเตสุ โอกาเสสุ สทา วิลีนาว หุตฺวา ติฏฺฐติ
แต่ไม่ใช่ว่ามันละลายฉาบอยู่ตามที่เหล่านี้ตลอดเวลา
ยทา ปน อคฺคิสนฺตาปสูริยสนฺตาปอุตุวิสภาคธาตุวิสภาเคหิ เต ปเทสา อุสฺมาชาตา โหนฺติ
ต่อเมื่อใดตำแหน่งเหล่านั้นเกิดอบขึ้นเพราะร้อนไฟ ร้อนแดด ผิดอากาศ หรือธาตุในตัวแปรปรวน
ตทา ตตฺถ นฺหานกาเล ปสนฺนอุทกุปริสิเนหพินฺทุวิสโฏ วิย อิโตจิโตจ สญฺจรติ.
เมื่อนั้นมันจึงจะกระจายอาบไปตามที่นั้นๆ แบบเดียวกับหยาดน้ำมันที่ซ่านไปบนน้ำใสเวลาล้างอะไรที่เปื้อนน้ำมันกระนั้น
(คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 2 อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส หน้า 47-48)
ในบทสวด “พระอาการสามสิบสอง” กล่าวถึง “วสา” ไว้ดังนี้ –
๏ วะสาน้ำมันเหลว….ซึมซาบเป็นเปลว…..ตามผิวหนังนั่น
ฝ่าเท้าฝ่ามือ…………หน้าหรือเป็นมัน……อาบน้ำทุกวัน
ยังไม่น่ามอง๚ะ๛
…………..
ดูก่อนภราดา!
: หน้าเป็นมันเพราะทำงานสุจริต
: งามกว่าหน้านวลอยู่เป็นนิตย์ที่นั่งคิดแต่เรื่องโกงกิน
—————-
(ตามคำอาราธนาของคุณครูอนันต์ นาควิจิตร)
ภาพประกอบ: จาก google
ควรตามไปดูคำว่า “อาการ 32” ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ด้วย:
#บาลีวันละคำ (2,049)
21-1-61