บาลีวันละคำ

22 มกราคม วัน “สวัสดี” (บาลีวันละคำ 2,050)

22 มกราคม วัน “สวัสดี

คำว่า “สวัสดี” เป็นรูปคำที่เขียนอิงภาษาสันสกฤตว่า “สฺวสฺติ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของคำว่า “สฺวสฺติ” ไว้ดังนี้ – 

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) สฺวสฺติ : (คำนาม) นิบาตคือคำอวยชัยให้พร; มงคลนิบาต (ดุจคำว่า – ‘สวัสติ’ จงเปนสุขๆ); ธันยวาทศัพท์; a particle of benediction; an auspicious particle (as- ‘adieu, farewell’); a term of approbation.

(2) สฺวสฺติ : (คำกริยาวิเศษณ์) ‘สวัสติ’ จงเปนสุขๆ, ‘จงสวัสดีมีชัย’ ก็ใช้ตามมติไท [ตามมติสํสกฤตเปน-สฺวสฺติ, ภทฺรํ ภูยาตฺ, ฯลฯ]; adieu, farewell.

สันสกฤต “สฺวสฺติ” บาลีเป็น “โสตฺถิ” (โสด-ถิ) และ “สุวตฺถิ” (สุ-วัด-ถิ)

โสตฺถิ” รากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี งาม ง่าย) + อตฺถิ (คำกริยา = ย่อมมี ย่อมเป็น), แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ (สุ > โส)

: สุ > โส + อตฺถิ = โสตฺถิ (นปุงสกลิงค์, อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “มีดี” หรือ “ดีมี” หมายถึง การอยู่ดี, ความปลอดภัย, การได้รับพร (well-being, safety, blessing)

สุ + อตฺถิ ถ้าลง อาคมระหว่างกลาง ก็ได้รูปเป็น “สุวตฺถิ

: สุ + + อตฺถิ = สุวตฺถิ ความหมายอย่างเดียวกับ “โสตฺถิ

หมายเหตุ: รูปคำ “สุวตฺถิ” หรือ “สฺวตฺถิ” อาจมีคำอธิบายเป็นนัยอื่นได้อีก

โสตฺถิ > สุวตฺถิ > สฺวสฺติ เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “สวัสดี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) สวัสดิ-, สวัสดิ์ ๑, สวัสดี ๑ : (คำนาม) ความดี, ความงาม, ความเจริญรุ่งเรือง;ความปลอดภัย เช่น ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ ขอให้มีความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล ขอให้มีความสุขสวัสดี ขอให้สวัสดีมีชัย. (ส. สฺวสฺติ; ป. โสตฺถิ).

(2) –สวัสดิ์ ๒, สวัสดี ๒ : คำทักทายหรือพูดขึ้นเมื่อพบหรือจากกัน เช่น อรุณสวัสดิ์ ราตรีสวัสดิ์ สวัสดีปีใหม่ สวัสดีครับคุณครู.

ขยายความ :

บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า –

…………..

คำว่า สวัสดี ที่ใช้มาแต่เดิม ไม่ใช่คำทักทาย ผู้ที่เริ่มให้ใช้คำว่า สวัสดี เป็นคำทักทายเมื่อพบหน้ากันและจากกันคือ พระยาอุปกิตศิลปสาร โดยได้เริ่มใช้ครั้งแรก พ.ศ. 2476 ในหมู่อาจารย์และนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศให้ใช้กันทั่วไปใน พ.ศ. 2486

…………..

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “สวัสดี” ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2486 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเห็นชอบให้ใช้คำว่า “สวัสดี” เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม เป็นต้นมา

…………..

ดูก่อนภราดา!

พระตถาคตเจ้าตรัสไว้ดังนี้ :

นาญฺญตฺร  โพชฺฌา  ตปสา

นาญฺญตฺร  อินฺทฺริยสํวรา

นาญฺญตฺร  สพฺพนิสฺสคฺคา

โสตฺถึ  ปสฺสามิ  ปาณินํ.

(สังยุตตนิกาย สคาถวรรค 15/265)

โพชฌะ-ปัญญาหยั่งรู้ทันรู้เท่า-หนึ่ง

ตบะ-พากเพียรแผดเผาความชั่วร้าย-หนึ่ง

อินทรียสังวร-สติระวังใจกายเมื่อรับอารมณ์-หนึ่ง

นิสสัคคะ-ยกใจมิให้จมอยู่กับความยึดอยาก-หนึ่ง

ผิว่าปราศจากธรรมทั้งสี่ประการดังกล่าวมา

ตถาคตไม่เห็นว่าปวงประชาจะมีความสวัสดีได้เลย

…………..

หมายเหตุ:

ญาติมิตรท่านใดถนัดในการค้นเรื่องเก่า ขอแรงช่วยค้นเอกสารคำประกาศของรัฐบาลสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ให้ใช้คำว่า “สวัสดี” เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม เป็นต้นมา จะได้ทราบว่าข้อความในคำประกาศนั้นว่าอย่างไร ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักฐานแห่งความรู้ร่วมกัน – ผู้เขียนบาลีวันละคำขอขอบคุณมา ณ ที่นี้

#บาลีวันละคำ (2,050)

22-1-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย