บาลีวันละคำ

บิดามารดา (บาลีวันละคำ 1,890)

บิดามารดา

อ่านว่า บิ-ดา-มาน-ดา

ประกอบด้วยคำว่า บิดา + มารดา

(๑) “บิดา

บาลีเป็น “ปิตา” (ปิ-ตา) รูปคำเดิมเป็น “ปิตุ” (ปิ-ตุ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ปา (ธาตุ = รักษา, คุ้มครอง) + ริตุ ปัจจัย, ลบ ที่ ริตุ (ริตุ > อิตุ), ลบสระที่สุดธาตุ (ปา > )

: ปา > + ริตุ > อิตุ : + อิตุ = ปิตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้คุ้มครองบุตร

(2) ปิ (ธาตุ = ยินดี, ชอบใจ) + ริตุ ปัจจัย, ลบ ที่ ริตุ (ริตุ > อิตุ), ลบสระที่สุดธาตุ (ปิ > )

: ปิ > + ริตุ > อิตุ : + อิตุ = ปิตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักบุตร

ปิตุ + สิ วิภัตติ, แปลง อุ กับ สิ เป็น อา = ปิตา หมายถึง พ่อ (father)

ปิตา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บิดา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บิดา : (คำนาม) พ่อ (ใช้ในภาษาทางการ), โดยปริยายหมายความว่า ผู้ให้กำเนิด เช่น บิดาแห่งประวัติศาสตร์. (ป. ปิตา; ส. ปิตฤ).”

ในภาษาไทยยังมีใช้อีกรูปหนึ่งเป็น “บิดร” (บิ-ดอน) พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

บิดร : (คำแบบ) (คำนาม) พ่อ. (ป. ปิตุ; ส. ปิตฺฤ).”

(๒) “มารดา

บาลีเป็น “มาตา” (มา-ตา) รูปคำเดิมเป็น “มาตุ” (มา-ตุ) รากศัพท์มาจาก –

(1) มานฺ (ธาตุ = รัก, ทะนุถนอม) + ราตุ ปัจจัย, ลบ ที่ าตุ (ราตุ > อาตุ), ลบพยัญชนะที่สุดธาตุและสระ (มานฺ > มา > )

: มานฺ > มา > + ราตุ > อาตุ = มาตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักบุตรโดยธรรมชาติ

(2) ปา (ธาตุ = ดื่ม) + ตุ ปัจจัย, แปลง ที่ ปา เป็น (ปา > มา)

: ปา + ตุ = ปาตุ > มาตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังบุตรให้ดื่มนม

มาตุ + สิ วิภัตติ, แปลง อุ กับ สิ เป็น อา = มาตา หมายถึง แม่ (mother)

มาตา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “มารดา” และมีใช้อีกรูปหนึ่งเป็น “มารดร” (มาน-ดอน)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มารดร, มารดา : (คำนาม) แม่. (ป. มาตา; ส. มาตฺฤ).”

…………..

ข้อสังเกต ๑ :

พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “มารดร, มารดา” ไว้รวมกัน ไม่แยกเป็น “มารดร” คำหนึ่ง “มารดา” อีกคำหนึ่ง แต่เก็บคำว่า “บิดร” กับ “บิดา” แยกกัน คือเก็บ “บิดร” คำหนึ่ง และ “บิดา” อีกคำหนึ่ง ไม่ได้เก็บรวมกันเป็น “บิดร, บิดา” เหมือน “มารดร, มารดา”

ที่พจนานุกรมฯ เก็บต่างกันเช่นนี้อาจเป็นเพราะ “มารดร, มารดา” ใช้ในความหมายเท่ากัน แต่ “บิดร” กับ “บิดา” ใช้ในความหมายกว้างแคบกว่ากัน

ดูตามคำนิยามของพจนานุกรมฯ :

บิดร : พ่อ.

บิดา : พ่อ (ใช้ในภาษาทางการ), โดยปริยายหมายความว่า ผู้ให้กำเนิด เช่น บิดาแห่งประวัติศาสตร์

จะเห็นความแตกต่างได้ตรงที่คำว่า “บิดา” เรามีคำพูดว่า “บิดาแห่งประวัติศาสตร์” แต่เราไม่พูดว่า “บิดรแห่งประวัติศาสตร์” เพราะฉะนั้น “บิดร” กับ “บิดา” จึงเก็บรวมกันไม่ได้

นี่เป็นเพียงการสันนิษฐาน (คือเดา) ราชบัณฑิตยฯ อาจมีเหตุผลเป็นอย่างอื่นก็ได้

ข้อสังเกต ๒ :

ในภาษาบาลี ถ้าพูดถึงพ่อกับแม่รวมกันจะใช้คำว่า “มาตาปิตา” รูปศัพท์อาจเป็น “มาตาปิตโร” หรือ “มาตาปิตุ” เช่นในมงคลสูตรที่ว่า “มาตาปิตุอุปฏฺฐาน” (การบำรุงเลี้ยงพ่อแม่)

โปรดสังเกตว่า คำบาลีว่า “มาตาปิตา” = แม่พ่อ ยกแม่ขึ้นก่อน

คำไทยนิยมพูดว่า “พ่อแม่” ยกพ่อขึ้นก่อน

ผู้รู้ท่านบอกว่า ที่พูดว่า “มาตาปิตา” เพราะลูกเห็นแม่ก่อนพ่อ (บางคนไม่เคยเห็นพ่อด้วยซ้ำ)

ที่พูดว่า “พ่อ-แม่” เพราะเปล่งเสียงง่ายกว่า “แม่-พ่อ

จำสั้นๆ – บาลีพูดว่า “แม่พ่อ” ไทยพูดว่า “พ่อแม่

ข้อสังเกต ๓ :

เมื่อพูดถึงความสำคัญของบิดามารดาหรือพ่อแม่ ตามธรรมดาก็จะพูดควบคู่กันไป หมายความว่าทั้งพ่อทั้งแม่มีความสำคัญเท่าเทียมกันจนแยกกันไม่ได้

แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ไทยสมัยใหม่แยก “วันแม่” กับ “วันพ่อ” เป็นคนละวันกัน จึงทำให้เกิดความรู้สึกแปลกๆ คือ เมื่อถึงวันพ่อ เราก็พูดถึงความสำคัญของพ่อโดยไม่เอ่ยถึงแม่ และเมื่อถึงวันแม่ เราก็พูดถึงความสำคัญของแม่โดยไม่เอ่ยถึงพ่อ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าเห็นว่าพ่อแม่มีพระคุณที่สุด

: เพียงแค่มีไว้กำหนดวันหยุดบนปฏิทิน

12-8-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย