ยามกาลิก (บาลีวันละคำ 1,891)
ยามกาลิก
คำนี้อุทิศให้เธอ
อ่านว่า ยา-มะ-กา-ลิก
แยกคำเป็น ยาม + กาลิก
(๑) “ยาม”
บาลีอ่านว่า ยา-มะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ยา (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ม ปัจจัย
: ยา + ม = ยาม แปลตามศัพท์ว่า “กาลที่ดำเนินไปตามปกติ”
(2) ยมุ (ธาตุ = กำหนด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาตุคือ อะ ที่ ย-(มฺ) เป็น อา (ยมฺ > ยาม)
: ยมฺ + ณ = ยมณ > ยม > ยาม แปลตามศัพท์ว่า “กาลเป็นเครื่องกำหนดวันและคืน”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “ยาม” ในภาษาบาลีไว้ดังนี้ –
(1) restraint (การสำรวม)
(2) a watch of the night. There are 3 watches, given as paṭhama, majjhima & pacchima [first, middle & last] (ยามในเวลากลางคืน. มี 3 ยาม คือ ปฐม, มชฺฌิม และ ปจฺฉิม [ยามต้น ยามกลาง ยามปลาย])
(3) one who belongs to Yama or the ruler of the Underworld; a subject of Yama; the realm of Yama; inhabitants of Yamaloka (ผู้เป็นพญายม หรือผู้ปกครองยมโลก; คนในบังคับของพระยม, อาณาจักรของพระยม; ผู้อยู่ในยมโลก)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายคำว่า “ยาม” ไว้ดังนี้ –
(1) ชื่อส่วนแห่งวัน ยามหนึ่งมี ๓ ชั่วโมง รวมวันหนึ่งมี ๘ ยาม; ในบาลีแบ่งกลางคืนเป็น ๓ ยาม ยามหนึ่งมี ๔ ชั่วโมง เรียกว่า ปฐมยาม มัชฌิมยาม และปัจฉิมยาม
(2) (คำที่ใช้ในโหราศาสตร์) ช่วงแห่งวัน เป็นเวลายามละชั่วโมงครึ่ง กลางวันมี ๘ ยามตามลำดับคือ สุริยะ ศุกระ พุธะ จันเทา เสารี ครู ภุมมะ สุริยะ กลางคืนมี ๘ ยามตามลำดับคือ รวิ ชีโว ศศิ ศุโกร ภุมโม โสโร พุโธ รวิ
(3) คราว, เวลา, เช่น ยามสุข ยามทุกข์ ยามเช้า ยามกิน
(4) คนเฝ้าสถานที่หรือระวังเหตุการณ์ตามกําหนดเวลา เช่น แขกยาม ไทยยาม คนยาม, เรียกอาการที่อยู่เฝ้าสถานที่หรือระวังเหตุการณ์เช่นนั้นว่า อยู่ยาม หรือ เฝ้ายาม
“ยาม” ตามความหมายข้อ (4) น่าจะมาจากการอยู่เฝ้าระวังเหตุการณ์ตาม “ยาม” คือตามเวลาที่กําหนด จึงเรียกผู้ทำหน้าที่เช่นนั้นว่า “ยาม” ไปด้วย
(๒) “กาลิก”
บาลีอ่านว่า กา-ลิ-กะ รูปคำเดิมมาจาก กาล + อิก ปัจจัย
ก) “กาล” (กา-ละ) รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ, สิ้นไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ก-(ลฺ) เป็น อา (กลฺ > กาล)
: กลฺ + ณ = กลณ > กล > กาล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน
“กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ :
1 เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)
2 เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)
ข) กาล + อิก = กาลิก แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบด้วยกาล” (คือขึ้นอยู่กับเวลา) หมายถึง เป็นของเวลา, ประกอบด้วยกาล, ทันเวลา, ชั่วกาล (belonging to time, in time)
ยาม + กาลิก = ยามกาลิก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ประกอบด้วยเวลาชั่วยามหนึ่ง” หมายถึง เวลาที่จำกัด, เวลาอันสั้น (of a restricted time, for a short period)
“ยามกาลิก” เป็นศัพท์ทางวิชาการ หรือคำวัด แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็ยังอุตส่าห์เก็บไว้ บอกไว้ดังนี้ –
“ยามกาลิก : (คำนาม) ของที่พระสงฆ์เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวเพียงวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ได้แก่ นํ้าอัฐบาน. (ป.). (ดู กาลิก).”
ตามไปดูที่คำว่า “กาลิก” พจนานุกมฯ บอกไว้ดังนี้ –
“กาลิก : (คำนาม) ของที่พระสงฆ์เก็บไว้ฉันได้ตามเวลาที่กําหนดให้ มี ๓ อย่าง คือ ๑. ยาวกาลิก-ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงวัน ได้แก่ข้าวปลาอาหาร ๒. ยามกาลิก-ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวเพียงวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ได้แก่นํ้าอัฐบาน ๓. สัตตาหกาลิก-ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวเพียง ๗ วัน ได้แก่ เภสัชทั้ง ๕. (ป.).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “กาลิก” อธิบายขยายความไว้ดังนี้ –
“กาลิก : เนื่องด้วยกาล, ขึ้นกับกาล, ของอันจะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไปซึ่งพระวินัยบัญญัติให้ภิกษุรับเก็บไว้และฉันได้ภายในเวลาที่กำหนด จำแนกเป็น ๔ อย่าง คือ
๑. ยาวกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น เช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้ ขนมต่างๆ
๒. ยามกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือก่อนรุ่งอรุณของวันใหม่ ได้แก่ ปานะ คือ น้ำคั้นผลไม้ที่ทรงอนุญาต
๓. สัตตาหกาลิก รับประเคนไว้แล้วฉันได้ภายในเวลา ๗ วัน ได้แก่เภสัชทั้งห้า
๔. ยาวชีวิก รับประเคนแล้ว ฉันได้ตลอดไปไม่จำกัดเวลา ได้แก่ของที่ใช้ปรุงเป็นยา นอกจากกาลิก ๓ ข้อต้น (ความจริง ยาวชีวิก ไม่เป็นกาลิก แต่นับเข้าด้วยโดยปริยาย เพราะเป็นของเกี่ยวเนื่องกัน).”
…………..
แรงบันดาลใจ :
เมื่อวานนี้ (12 สิงหาคม) เป็นวันแม่ ผู้เขียนบาลีวันละคำได้เห็นได้ยินได้ฟังผู้ที่เป็นลูกๆ แสดงความรักแม่กระหึ่มไปทั้งแผ่นดิน
แต่เพียงชั่วข้ามคืน บรรยากาศนั้นก็หายวับไปกับตา
จึงนึกถึงคำบาลี “ยามกาลิก = สิ่งที่ประกอบด้วยเวลาชั่วยามหนึ่ง” ด้วยความสงสารคุณแม่อย่างจับใจ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: แม่รักเราทุกวันมั่นคงแท้
: เรารักแม่แค่คืนวันเท่านั้นหรือ
: รักเหมือนยามกาลิกชั่วพลิกมือ
: หรือแม่คือคนข้างแค่ค้างคืน?
13-8-60