อรัญญิก (บาลีวันละคำ 1,892)
อรัญญิก
แดนของนักบุญ
อ่านว่า อะ-รัน-ยิก
แยกศัพท์เป็น อรัญญ + อิก ปัจจัย
(๑) “อรัญญ”
บาลีเป็น “อรญฺญ” (อะ-รัน-ยะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) อรฺ (ธาตุ = ไป) + อญฺญ ปัจจัย
: อรฺ + อญฺญ = อรญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ไปของผู้คน”
(2) อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ญ ปัจจัย, ซ้อน ญฺ
: อรฺ + ญฺ + ญ = อรญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่ถึงกัน”
3) น (ไม่มี, ไม่ใช่) + ราช (พระราชา), แปลง น เป็น อ, รัสสะ อา ที่ รา-(ช) เป็น อะ (ราช > รช), แปลง ช ที่ (ราช > ) รช เป็น ญฺ (รช > รญ), ซ้อน ญฺ
: น + ราช = นราช > อราช > อรช > อรญ + ญ = อรญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ไม่มีพระราชา”
“อรญฺญ” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ป่า (forest)
(๒) อรญฺญ + อิก ปัจจัย
: อรญฺญ + อิก = อรญฺญิก (อะ-รัน-ยิ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “-อันมีอยู่ในป่า” หมายถึง ผู้ที่อยู่ป่า, สิ่งที่เกิด หรือมี หรือสร้างไว้ในป่า (belonging to the forest, living in the forest)
“อรญฺญิก” ในภาษาไทยเขียนเป็น “อรัญญิก”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อรัญญิก : (คำนาม) ป่า, บริเวณป่า, โบราณเขียนเป็น อรญญิก หรือ อไรญิก ก็มี เช่น ในกลางอรญญิก, เมืองสุโขทัยนี้มีอไรญิก. (จารึกสยาม), (คำโบราณ) วัดอรัญญิก เช่น ไปสูดญัดกฐินเถิงอไรญิกพู้น. (จารึกสยาม). (คำวิเศษณ์) ที่เกี่ยวกับป่า เช่น อรัญญิกาวาส. (ป. อารญฺญก ว่า เกี่ยวกับป่า).”
ข้อสังเกต:
ถ้าหมายถึงตัว “ป่า” ตรงๆ บาลีใช้คำว่า “อรญฺญ” (อะ-รัน-ยะ) แต่เมื่อปรุงรูปศัพท์เป็น “อรญฺญิก” (อรัญญิก) ในบาลีจะไม่หมายถึง “ป่า” ตรงๆ แต่จะหมายถึง “-อันมีอยู่ในป่า” เช่น ของป่า คนที่อยู่ในป่า วัดที่สร้างไว้ในป่า เป็นต้น
หลักการครองชีวิตตามวัฒนธรรมชมพูทวีปจะมี 2 แบบ คือ –
๑ อาคาริยะ (หรือ อาคาริก) อยู่ครองเรือน มีครอบครัว แสวงหาทรัพย์ เลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว
๒ อนาคาริยะ (หรือ อนาคาริก) ออกบวช ดำรงตนเป็นผู้ไม่มีบ้านเรือน แสวงหาธรรม คือความสงบพ้นทุกข์
ที่อยู่ของผู้ครองชีวิต 2 แบบนี้ก็ต่างกัน คือ อาคาริยะอยู่ในบ้านในเมือง ส่วนอนาคาริยะนิยมอยู่ป่า อันเป็นที่สงบวิเวกตามธรรมชาติ จนเกิดคำพูดติดปากว่า “… แล้วก็เข้าป่าแสวงหาโมกขธรรม”
เพราะเหตุนี้จึงเกิดมีที่อยู่แบบที่เรียกว่า “อรัญญิก” หรือ “อรัญญิกาวาส” สำหรับนักบวช ที่ภาษาไทยนิยมเรียกกันว่า “วัดป่า”
คำว่า อรัญ = ป่า อรัญญิก = วัดป่า จึงเป็นสัญลักษณ์ของความสงบอันเป็นแนวดำเนินชีวิตของนักบวช-นักบุญ
ดูเพิ่มเติม: “คามวาสี – อรัญวาสี” บาลีวันละคำ (1,491) 4-7-59
…………..
: บ้านเมืองเป็นหัวใจของนักรบ
: ความสงบเป็นหัวใจของนักบุญ
ดูก่อนภราดา!
: นักบุญที่ไม่รักสงบ
: จะต่างอะไรกับนักรบที่ไม่รักบ้านเมือง?
14-8-60