พระมหากรุณาธิคุณ (บาลีวันละคำ 1,893)

พระมหากรุณาธิคุณ
อ่านว่า พฺระ-มะ-หา-กะ-รุ-นา-ทิ-คุน
แยกศัพท์เป็น พระ + มหา + กรุณา + อธิ + คุณ
(๑) “พระ”
มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง ว เป็น พ ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พระ” ไว้ 13 อย่าง ในที่นี้คำว่า “พระ” เป็นคำใช้ประกอบหน้าคําอื่นแสดงความยกย่องพระเจ้าแผ่นดินหรือของที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์
(๒) “มหา” (มะ-หา)
รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย
: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)
“มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”
ในที่นี้ มหนฺต เข้าสมาสกับ –กรุณา เปลี่ยนรูปเป็น “มหา”
(๓) “กรุณา”
อ่านว่า กะ-รุ-นา รากศัพท์มาจาก –
(1) กรฺ (ธาตุ = ทำ) + อุณ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: กรฺ + อุณ = กรุณ + อา = กรุณา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่สร้างความสะเทือนใจแก่คนดีเมื่อผู้อื่นมีทุกข์”
(2) ก (ความสุข) + รุธิ (ธาตุ = ปิด, กั้น) + อ ปัจจัย, แปลง อิ ที่ (รุ)-ธิ เป็น อะ, แปลง ธ เป็น ณ (รุธิ > รุธ > รุณ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ก + รุธิ = กรุธิ > กรุธ > กรุณ + อ = กรุณ + อา = กรุณา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่กั้นความสุขไว้” (คือห้ามความสุขตัวเองเพื่อช่วยคนอื่น)
(3) กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ยุ ปัจจัย, แปลง อ ที่ (ก)-รฺ เป็น อุ,(กรฺ > กรุ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, น เป็น ณ (ยุ > อน > อณ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: กรฺ > กรุ + ยุ > อน = กรุน > กรุณ + อา = กรุณา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเครื่องทำตนให้เป็นที่พึ่งอาศัยของคนอื่น”
(4) กิรฺ (ธาตุ = กำจัด, ปัดเป่า; กระจาย) + ยุ ปัจจัย, แปลง อิ ที่ กิ-(รฺ) เป็น อ, อ ที่ (กิ)-รฺ เป็น อุ (กิรฺ > กร > กรุ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, น เป็น ณ (ยุ > อน > อณ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: กิรฺ > กร > กรุ + ยุ > อน = กรุน > กรุณ + อา = กรุณา แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมชาติที่กำจัด” (คือกำจัดทุกข์ของผู้อื่น) (2) “ธรรมชาติที่กระจาย” (คือแบ่งปันความสุขแก่ผู้อื่น)
(5) กิ (ธาตุ = เบียดเบียน) + รุณ ปัจจัย, แปลง อิ ที่ กิ เป็น อ (กิ > ก) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: กิ > ก + รุณ = กรุณ + อา = กรุณา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่เบียดเบียน” (คือเบียดเบียนความเห็นแก่ตัวออกไป)
“กรุณา” หมายถึง ความกรุณา, ความสงสาร (pity, compassion)
“กรุณา” เป็นธรรมข้อที่ 2 ในพรหมวิหาร 4
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“กรุณา : ความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์, ความหวั่นใจ เมื่อเห็นผู้อื่นมีทุกข์ คิดหาทางช่วยเหลือปลดเปลื้องทุกข์ของเขา.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “กรุณา” ไว้ว่า –
“กรุณา : (คำนาม) ความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ เป็น ๑ ในพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา; ใช้ประกอบหน้ากริยาแสดงความขอร้องอย่างสุภาพ เช่น กรุณาส่ง; ใช้ร่วมกับคำ พระ เป็นสรรพนามสําหรับพระเจ้าแผ่นดิน เช่น กราบบังคมทูลพระกรุณา. (ป.).”
(๔) “อธิ”
อ่านว่า อะ-ทิ เป็นคำอุปสรรค (คำที่ใช้ประกอบข้างหน้าคำนามหรือกริยาให้มีความหมายยักเยื้องออกไป) นักเรียนบาลีแปลกันว่า ยิ่ง, ใหญ่, ทับ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายไว้ว่า –
(1) บอกทิศทาง, จุดหมาย = จนถึง, เหนือ, ไปยัง, บน (up to, over, toward, to, on)
(2) บอกสถานที่ = บนยอด, ข้างบน, เหนือ, บน (on top of, above, over)
(๕) “คุณ”
บาลีอ่านว่า คุ-นะ รากศัพท์มาจาก คุณฺ (ธาตุ = ประกาศ, ผูก, มัด, สั่งสม) + อ ปัจจัย
: คุณฺ + อ = คุณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “สิ่งที่ประกาศความดีของตน” = เมื่อทำสิ่งนั้น ก็จะประกาศให้รู้ว่าสิ่งที่ทำหรือผู้ทำสิ่งนั้นมีความดี
(2) “สิ่งที่ผูกผลไว้กับตน” = เมื่อทำสิ่งนั้นก็เท่ากับได้ผลของสิ่งนั้นติดพันมาด้วย
(3) “สิ่งอันผู้ต้องการความดีสั่งสม” = ใครต้องการความดีก็ต้องสั่งสมสิ่งนั้น ถ้าไม่สั่งสมก็ไม่มีและไม่ได้สิ่งที่ต้องการ
“คุณ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) เชือก, ด้าย (a string, a cord)
(2) ส่วนที่ประกอบขึ้น, ส่วนผสม, สิ่งที่ประกอบ (constituent part, ingredient, component, element)
(3) คุณภาพ, คุณความดี, ผลประโยชน์, ผลบุญ (quality, good quality, advantage, merit)
(4) เมื่อใช้กับ “จำนวน” หรือสิ่งที่นับจำนวน หมายถึง ประการ, ส่วน, เท่า (-fold)
การประสมคำ :
๑. อธิ + คุณ = อธิคุณ (อะ-ทิ-คุน) แปลว่า “คุณอันยิ่งใหญ่”
๒. กรุณา + อธิคุณ = กรุณาธิคุณ (กะ-รุ-นา-ทิ-คุน)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กรุณาธิคุณ : (คำนาม) คุณอันยิ่งใหญ่ คือ กรุณา. (ป. กรุณา + อธิ + คุณ).”
๓. มหันต > มหา + กรุณาธิคุณ = มหากรุณาธิคุณ แปลว่า “คุณอันยิ่งใหญ่ คือกรุณาอย่างใหญ่หลวง” “คุณอันยิ่งใหญ่ คือมหากรุณา”
๔. พระ + มหากรุณาธิคุณ = พระมหากรุณาธิคุณ คำนี้ไม่จำต้องแปลอีก แต่หากจะแปลก็แปลว่า “คุณอันยิ่งใหญ่ คือมหากรุณาของเจ้านาย”
“พระมหากรุณาธิคุณ” เป็นคำที่ใช้พูดเมื่อกล่าวถึงการกระทำของเจ้านายที่มุ่งจะขจัดปัดเป่าปัญหาและก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ทวยราษฎร์
…………..
เหตุผลที่เขียนคำนี้ :
สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดราชบุรีและสมาคมกีฬาจักรยานจังหวัดราชบุรีได้จัดกิจกรรมปั่นเทิดพระเกียรติวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระบรมราชินีนาถ “แม่ของแผ่นดิน” เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา 12 สิงหาคม 2560 เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2560 ณ สนามกีฬาจังหวัดราชบุรี การจัดกิจกรรมดังกล่าวปรากฏว่าป้ายประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมพิมพ์ตัวอักษรไม่ถูกต้อง
ในการนี้ นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้มีหนังสือลงวันที่ 14 สิงหาคม 2560 ถึงราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานอภัยโทษแล้ว
ผู้เขียนบาลีวันละคำในฐานะพสกนิกรคนหนึ่งที่เป็นชาวราชบุรี ขอมีส่วนร่วมในการขอพระราชทานอภัยโทษในความผิดพลาดครั้งนี้ โดยวิธีให้ความรู้ทางภาษาเท่าที่สามารถจะทำได้ตามสติปัญญา
ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยเสนอแนะผ่านสื่อต่างๆ ว่า บรรดาป้ายโฆษณาทั้งปวงที่ปรากฏต่อสาธารณชนควรจะมีขั้นตอนให้ผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานราชการหรือคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อกลั่นกรองตรวจสอบความถูกต้องทุกด้านก่อนที่จะผลิตและเผยแพร่
แว่วๆ ว่ามีผู้แสดงความเห็นว่า ข้อเสนอเช่นนี้ไม่สามารถปฏิบัติได้เนื่องจากมีขั้นตอนหลายอย่างที่อาจทำให้เกิดความล้าช้าจนไม่ทันการณ์
จึงหวังได้ว่า เหตุการณ์ทำนองนี้คงจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก จนกว่าจะมีผู้มีบุญมาเกิดและคิดมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งได้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: การพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ผิดพลาด
: และบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ทวยราษฎร์
: คือพระมหากรุณาธิคุณ
15-8-60