บาลีวันละคำ

ครุฐานียะ (บาลีวันละคำ 2,044)

ครุฐานียะ

อ่านว่า คะ-รุ-ถา-นี-ยะ

ประด้วยคำว่า ครุ + ฐานียะ

(๑) “ครุ” (คะ-รุ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ครฺ (ธาตุ = ไหลไป; ลอยขึ้น) + อุ ปัจจัย

: ครฺ + อุ = ครุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เลื่อนไหลกว้างขวางไป” (2) “ผู้ลอยเด่น

(2) คิรฺ (ธาตุ = คาย, หลั่ง) + อุ ปัจจัย, ลบสระต้นธาตุ (คิรฺ > ครฺ)

: คิรฺ + อุ = คิรุ > ครุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้คายความรักให้หมู่ศิษย์” (2) “ผู้หลั่งความรักไปในหมู่ศิษย์

ครุ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) หนัก, น้ำหนักบรรทุก (heavy, a load)

(2) สำคัญ, ควรเคารพ, พึงเคารพ (important, venerable, reverend)

(3) คนที่ควรนับถือ, ครู (a venerable person, a teacher)

(๒) “ฐานียะ

บาลีเป็น “ฐานีย” (ถา-นี-ยะ) คำเดิมมาจาก ฐาน + อีย ปัจจัย

(ก) “ฐาน” (ถา-นะ) รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ฐา + ยุ > อน = ฐาน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตั้งแห่งผล

ฐาน” ใช้ในความหมายหลายอย่างตามแต่บริบท เช่น สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ฐานะ, การตั้งอยู่, การดำรงอยู่, การหยุดอยู่, การยืน, ที่ตั้ง, ตำแหน่ง, เหตุ, โอกาส (ภาษาอังกฤษอาจใช้ได้หลายคำ เช่น place, region, locality, abode, part, state, condition, standing position, location, ground)

(ข) ฐาน + อีย ปัจจัย = ฐานีย แปลตามศัพท์ว่า “อันเป็นที่เกื้อกูลแก่การตั้งขึ้น” (คือเหมาะที่จะอยู่ในสถานะอย่างใดอย่างหนึ่ง) ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง มีสถานะ, มีตำแหน่งบางอย่าง, มีรากฐานอยู่บน – หรือเกิดขึ้นโดย – (standing, having a certain position, founded on or caused by)

ครุ + ฐานีย = ครุฐานีย แปลตามศัพท์ว่า “ควรแก่ฐานะแห่งบุคคลที่พึงเคารพ” หมายถึง ผู้ที่ควรแก่การเคารพนับถือ ผู้ที่เหมาะที่จะเป็นครู

…………..

ข้อสังเกต :

คำว่า “ครุ” มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ

คำว่า “ฐานียะ” ก็มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ

แต่ถ้าใครค้นคำว่า “ครุฐานียะ” จะไม่พบในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เพราะพจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บคำนี้ไว้ ไม่ว่าจะเป็นแม่คำหรือลูกคำ

แต่พจนานุกรมฯ ยกคำนี้เป็นตัวอย่างในบทนิยามของคำว่า “ฐานียะ” ดังนี้ –

ฐานียะ : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) ควรแก่ตําแหน่ง, ตั้งอยู่ในฐานะ, มักประกอบท้ายศัพท์ เช่น ครุฐานียะ ว่า ตั้งอยู่ในฐานะเป็นครู. (ป.).”

คำที่ยกเป็นตัวอย่างในบทนิยาม แต่ไม่มีเก็บไว้เป็นแม่คำหรือลูกคำในพจนานุกรมฯ เช่นนี้ มีอยู่เป็นจำนวนมาก ยังไม่ทราบเหตุผลของราชบัณฑิตยฯ ว่าไฉนจึงเป็นเช่นนั้น

…………..

คุณสมบัติของบุคคลผู้เป็น “ครุฐานียะ” พระพุทธศาสนาแสดงไว้ดังนี้ –

1. ปิโย = น่ารักน่าชื่นชม (lovable; endearing)

2. ครุ = อารมณ์หนักแน่นอยู่เป็นนิตย์ (estimable; respectable; venerable)

3. ภาวนีโย = จรรโลงจิตให้ใฝ่ดีใฝ่เจริญ (adorable; cultured; emulable)

4. วตฺตา = ไม่ละเมินในการอบรมสอนสั่ง (being a counsellor)

5. วจนกฺขโม = แม้กระทบกระทั่งก็อดทน (being a patient listener)

6. คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา = เรื่องลึกล้นสอนให้เข้าใจได้ง่าย (able to deliver deep discourses or to treat profound subjects)

7. โน จฏฺฐาเน นิโยชเย = เรื่องเลวร้ายไม่ชักนำ (never exhorting groundlessly; not leading or spurring on to a useless end)

บาลีที่มา: อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 23 ข้อ 34

ภาษาอังกฤษ: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ข้อ [278] ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ยอดมงคลของครู คือการที่ได้รู้ว่าศิษย์ฉลาดกว่าตน

: แต่ยอดแห่งอัปมงคล คือศิษย์ที่คิดว่าตนฉลาดกว่าครู

#บาลีวันละคำ (2,044)

16-1-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย