บาลีวันละคำ

พระพิฆเนศ (บาลีวันละคำ 1,896)

พระพิฆเนศ

เทพผู้เป็นเครื่องชี้วัดระดับของคน

อ่านว่า พฺระ-พิ-คะ-เนด

ชื่อนี้ ดูตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เขียนได้หลายแบบ คือ คเณศ พิฆเนศ พิฆเนศวร วิฆเนศ วิฆเนศวร

แต่คำที่ได้ยินเรียกกันมากที่สุดคือ พฺระ-พิ-คะ-เนด > พระพิฆเนศ

ขอนำคำในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มาเสนอดังนี้ –

(1) คเณศ [คะเนด] : (คำนาม) ชื่อเทพองค์หนึ่ง มีเศียรเป็นช้าง ถือว่าเป็นเทพแห่งศิลปะ เชื่อกันว่าถ้าบูชาแล้วจะป้องกันความขัดข้องที่อาจเกิดมีขึ้นได้, วิฆเนศ พิฆเนศ วิฆเนศวร หรือ พิฆเนศวร ก็เรียก. (ส.).

(2) พิฆเนศ, พิฆเนศวร [พิคะเนด, พิคะเนสวน] : (คำนาม) ชื่อเทพองค์หนึ่ง มีเศียรเป็นช้าง ถือว่าเป็นเทพแห่งศิลปะ ถ้าบูชาแล้วป้องกันความขัดข้องที่จะเกิดมีขึ้นได้, คเณศ วิฆเนศ หรือ วิฆเนศวร ก็เรียก. (ส. วิฆน + อีศฺวร)

(3) วิฆเนศ, วิฆเนศวร [วิคะเนด, วิคะเนสวน] : (คำนาม) ชื่อเทพองค์หนึ่งมีพระเศียรเป็นช้าง ถือว่าถ้าบูชาแล้วป้องกันความขัดข้องที่จะเกิดมีขึ้นได้, คเณศ พิฆเนศ หรือ พิฆเนศวร ก็เรียก. (ส. วิฆน + อีศ; วิฆน + อีศฺวร).

พจนานุกรมฯ บอกว่า ชื่อนี้มาจากสันสกฤต วิฆน + อีศ; วิฆน + อีศฺวร

ตรวจดูใน สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่พบคำที่มีรากศัพท์เช่นว่านั้น พบแต่คำว่า “คเณศ” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

คเณศ : (คำนาม) นามพระศิวะ; พระคเณศ, ผู้โอรสพระศิวะและปารวตี; เธอเปนพุทธิเทพ, และเปนผู้อันตรายหาร; เธอรับนมัสการของฮินดูชนา; เขาทำรูปของเธอไว้เปนนรเตี้ยล่ำ, มีเศียรเปนช้าง; และนามอันนี้ท้าวไปถึงน่าที่ของเธอผู้เปนประธานแก่พิพิธคณะเทพดาชั้นต่ำ ซึ่งนับว่าเปนบริวารของพระศิวะ; a name of Śiva; Gaṇeśa, the son of Śiva and Pārvati; he is the deity of wisdom, and the remover of obstacles; he receives the reverential homage of the Hindus; he is represented as a short, fat man, with the head of an elephant; and the present appellation alludes to his office as the chief of the various classes of subordinate gods who are regarded as Śiva’s attendants.”

ถ้าจับเอา “คเณศ” เป็นหลัก ก็พอแยกเป็นบาลีได้ คือ คณ + อิสฺสร

(๑) “คณ

บาลีอ่านว่า คะ-นะ รากศัพท์มาจาก คณฺ (ธาตุ = นับ) + ปัจจัย

: คณฺ + = คณ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนย่อยที่นับรวมกัน

(1) เมื่อใช้คำเดียว หมายถึง กลุ่มคน, ฝูงชน, คนจำนวนมากมาย (a crowd, a multitude, a great many)

(2) เมื่อใช้เป็นส่วนท้ายคำสมาส หมายถึงการรวมเป็นหมู่ของสิ่งนั้นๆ (a collection of) กล่าวคือ กลุ่ม, ฝูงชน, มวล; ฝูง, ฝูงสัตว์; โขลง, หมู่, การรวมกันเป็นหมู่ (a multitude, mass; flock, herd; host, group, cluster)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “คณ-, คณะ” ไว้ดังนี้ –

(1) หมู่, พวก, (ซึ่งแยกมาจากส่วนใหญ่).

(2) กลุ่มคนผู้ร่วมกันเพื่อการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น คณะกรรมการ คณะสงฆ์ คณะนักท่องเที่ยว.

(3) หน่วยงานในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่เทียบเท่าซึ่งรวมภาควิชาต่าง ๆ ที่จัดการเรียนการสอนวิชาในสายเดียวกัน เช่น คณะนิติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์.

(4) จำนวนคำที่กำหนดไว้ในการแต่งร้อยกรองแต่ละประเภท โดยแบ่งเป็นบท บาท และวรรค เช่น คณะของกลอนแปด ๑ บท มี ๒ บาท แต่ละบาทมี ๒ วรรค แต่ละวรรคมี ๖ ถึง ๙ คำ.

(๒) “อิสฺสร

บาลีอ่านว่า อิด-สะ-ระ รากศัพท์มาจาก –

1) อิ (ตัดมาจาก “อิฏฺฐ” = น่าปรารถนา) + อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อิ + อสฺ

: อิ + สฺ + อสฺ = อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มี คือผู้เกิดในภูมิที่น่าปรารถนา” (อยากมี อยากเป็น อยากได้อะไร สมปรารถนาทั้งหมด ไม่มีใครขัดขวาง)

2) อิสฺสฺ (ธาตุ = เป็นใหญ่) + อร ปัจจัย

: อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่

3) อีสฺ (ธาตุ = ครอบงำ) อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อีสฺ + อร, รัสสะ อี ที่ อี-(สฺ) เป็น อิ (อีสฺ > อิสฺ)

: อีส > อิสฺ + สฺ + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ครอบงำ” หมายถึงปกครอง

อิสฺสร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ผู้เป็นเจ้า, ผู้ปกครอง, ผู้เป็นนาย, หัวหน้า (lord, ruler, master, chief)

(2) พระเจ้าผู้สร้างโลก, พระพรหม (creative deity, Brahmā)

อิสฺสร” ตรงกับสันสกฤตว่า “อีศฺวร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ

อีศฺวร : (คำนาม) พระอีศวรเปนเจ้า, พระเจ้า; ศัพท์นี้ใช้หมายความถึงเทพดาต่างๆ ทั่วไป; ‘īśvara’ the supreme ruler o f the universe, God; this word is applied to all the different divinities.”

พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “อีศวร” ไว้ โดยบอกว่า อีศวร คือ “อิศวร” หมายความว่าคำหลักเขียนเป็น “อิศวร” แต่จะเขียนเป็น “อีศวร” ก็ได้ ถ้าเขียนเป็น “อีศวร” ก็ให้หมายถึง “อิศวร” นั่นเอง

ที่คำว่า “อิศวร” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –

อิศวร : (คำนาม) ชื่อเรียกพระศิวะซึ่งเป็นพระเจ้าองค์หนึ่งของพราหมณ์; ความเป็นเจ้าเป็นใหญ่, มักใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส และแผลงเป็น เอศวร เช่น นเรศวร ราเมศวร, ใช้ย่อเป็น อิศร (อ่านว่า อิสวน) ก็มี เช่น ใยยกพระธำมรงค์ สำหรับองค์อิศรราช. (เพชรมงกุฎ). (ส. อีศฺวร).”

สรุปว่า “อิศร” มาจาก “อีศฺวร” และมักใช้เป็น “อิศวร

และ “อีศฺวร” หรือ “อิศวร” บาลีเป็น “อิสฺสร” เขียนแบบไทยเป็น “อิสร

อิศร” (อีศฺวร) และ “อิสร” (อิสฺสร) เป็นคำที่มีมูลอันเดียวกัน

คณ + อิสฺสร = คเณสฺสร แปลว่า “ผู้เป็นใหญ่แห่งคณะ” เขียนแบบไทยเป็น “คเณศ

ส่วนชื่ออื่นๆ คือ พิฆเนศ พิฆเนศวร วิฆเนศ วิฆเนศวร ถ้าจะแปลงเป็นบาลีก็น่าจะเป็น วิฆน + อิสฺสร

ในบาลีมีศัพท์ “ฆน” (คะ-นะ) เป็นคำนาม แปลว่า กระบอง, ท่อนไม้, ค้อน (a club, a stick, a hammer) เป็นคุณศัพท์ แปลว่า แข็ง, แน่น, เป็นก้อน, ทึบ, หนา (solid, compact, massive; dense, thick)

แต่ยังค้นไม่พบศัพท์ “วิฆน” ในคัมภีร์ ตรวจดูในสํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ก็ไม่พบศัพท์ว่า “วิฆน” เช่นกัน

ตามที่ปรากฏในคำอธิบายชื่อพระพิฆเนศ “วิฆน” หมายถึง อุปสรรค ข้อขัดข้อง หรืออันตราย ดังที่สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกว่า “ผู้อันตรายหาร” คือผู้ขจัดอุปสรรคอันตราย (the remover of obstacles)

วิฆน + อิสฺสร ได้รูปศัพท์ออกมาเป็น วิฆเนศ วิฆเนศวร พิฆเนศ พิฆเนศวร

…………..

อภิปราย :

โปรดทราบว่า ทั้งรูปศัพท์ ทั้งชื่อ ทั้งเรื่องราวของเทพองค์นี้ เท่าที่บอกได้ในเวลานี้คือ ไม่ปรากฏในคัมภีร์บาลี พูดตรงๆ ก็คือ ไม่ใช่คติในพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนามีพระรัตนตรัยเป็นสรณะสูงสุด ดังคำที่ชาวพุทธสวดสาธยายอยู่ว่า นตฺถิ เม สรณํ อญฺญํ พุทฺโธ เม สรณํ วรํ เป็นต้น ซึ่งแปลว่า ที่พึ่งอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า ขยายความว่า หากจะยังระลึกถึงคุณของผู้ใดสิ่งใดอยู่อีกบ้าง ก็ไม่สูงสุดหรือประเสริฐยิ่งไปกว่าพระรัตนตรัย

แต่สังคมไทยมีผู้คนหลายระดับ จึงยังมีผู้นับถือเทพเจ้าและสิ่งอื่นนอกเหนือไปจากพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ดังที่พระพิฆเนศเป็นเทพที่คนไทยนับถือในฐานะเทพแห่งศิลปะมาเป็นเวลาช้านาน ทำนองเดียวกับที่นับถือพระวิษณุกรรมในฐานะเป็นเทพแห่งการช่าง

เวลานี้การนับถือพระพิฆเนศในเมืองไทยขยายวงกว้างออกไป จนถึงกับมีรูปพระพิฆเนศมหึมาอลังการยิ่งกว่าพระพุทธปฏิมา เกิดขึ้นในวัดพระพุทธศาสนาหลายแห่ง

คำสอนในพระพุทธศาสนาบ่งบอกว่า ศรัทธากับปัญญาจะต้องสม่ำเสมอสมดุลกันจึงจะเกื้อกูลให้เกิดสัมมาปฏิบัติ

พระพิฆเนศเป็นเครื่องชี้วัดระดับศรัทธากับปัญญาของชาวพุทธได้อย่างหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ดูสิ่งที่เขาพึ่งพา

: จะเห็นระดับสติปัญญาของเขาเอง

18-8-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย