ดอกไม้จันทน์ (บาลีวันละคำ 1,897)
ดอกไม้จันทน์
ไม่ใช่ดอกไม้?
อ่านว่า ดอก-ไม้-จัน
ประกอบด้วย ดอกไม้ + จันทน์
“ดอกไม้” เป็นคำไทย
“จันทน์” เป็นคำบาลี
(๑) “ดอกไม้”
เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) ดอกไม้ ๑ : (คำนาม) ฟันของเด็กที่แรกขึ้น.
(2) ดอกไม้ ๒ : (คำนาม) ดู นวลจันทร์ ๒.
ดูที่คำว่า “นวลจันทร์” ได้ความว่าเป็นชื่อปลา คือปลานวลจันทร์ แต่ปลาชนิดนี้เรียกว่า ปลาดอกไม้ อีกชื่อหนึ่ง
ดูที่คำว่า “ดอก” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“ส่วนหนึ่งของพรรณไม้ที่ผลิออกจากต้นหรือกิ่ง มีหน้าที่ทําให้เกิดผลและเมล็ดเพื่อสืบพันธุ์ มีเกสรและเรณูเป็นเครื่องสืบพันธุ์, เรียกเต็มว่า ดอกไม้.”
แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็น –
“ส่วนหนึ่งของพรรณไม้ที่ผลิออกจากต้นหรือกิ่ง มีหน้าที่ทําให้เกิดผลและเมล็ดเพื่อสืบพันธุ์ มีเกสรและเรณูเป็นเครื่องสืบพันธุ์.”
เป็นอันว่า ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 คำว่า “ดอกไม้” หมายถึง “ส่วนหนึ่งของพรรณไม้” ตามที่เราพูดกัน
แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ท่านตัดคำว่า “เรียกเต็มว่า ดอกไม้” ออกไป ดังนั้น “ส่วนหนึ่งของพรรณไม้” จึงต้องเรียกว่า “ดอก” เท่านั้น ไม่ใช่ “ดอกไม้” คำว่า “ดอกไม้” จึงไม่ได้หมายถึง “ส่วนหนึ่งของพรรณไม้” ตามที่เราพูดกันอีกต่อไป คงหมายถึงเฉพาะ-ฟันของเด็กที่แรกขึ้น และเป็นชื่อปลาชนิดหนึ่ง-เท่านั้น
(ประเด็นนี้สมควรอภิปรายกันต่อไป)
(๒) “จันทน์”
บาลีเป็น “จนฺทน” (จัน-ทะ-นะ) รากศัพท์มาจาก จทิ (ธาตุ = ยินดี, พอใจ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) ลงนิคหิตอาคมต้นธาตุแล้วแปลงเป็น นฺ (จทิ > จํทิ > จนฺทิ), “ลบสระหน้า” คือ อิ ที่ (จ)-ทิ (จทิ > จท)
: จทิ > จํทิ > จนฺทิ > จนฺท + ยุ > อน : จนฺท + อน = จนฺทน (ปุงลิงค์ และนปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้ที่ยังสัตว์โลกให้พอใจ” หมายถึง ต้นจันทน์, ไม้จันทน์หรือน้ำมันจันทน์ หรือเครื่องหอมกลิ่นจันทน์ (sandal [tree, wood or unguent, also perfume])
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“จันทน์ : (คำนาม) ชื่อพรรณไม้บางชนิดที่มีเนื้อไม้ ดอก หรือผลหอม ใช้ทํายาและปรุงเครื่องหอม. (ป., ส.).”
ดอกไม้ + จันทน์ = ดอกไม้จันทน์
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ดอกไม้จันทน์ : (คำนาม) เนื้อไม้จันทน์เป็นต้นที่ไสเป็นแถบบางนํามาประดิษฐ์เป็นช่อขนาดเล็ก ใช้ในการเผาศพ.”
…………..
อภิปราย :
ในคัมภีร์บาลี เมื่อกล่าวถึง “จนฺทน” ย่อมหมายถึงเนื้อไม้ของไม้จันทน์ซึ่งมีกลิ่นหอม ไม่ได้เล็งไปที่ดอก หรือผลของไม้จันทน์ และเมื่อกล่าวถึงพรรณไม้ ไม้จันทน์ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในฐานะมีดอกชั้นเลิศ มีผลชั้นเลิศ หรือมีรสชั้นเลิศ แต่จะถูกกล่าวถึงในฐานะ “ไม้ที่มีกลิ่นหอมชั้นเลิศ” นั่นแปลว่าเล็งถึงกลิ่นของเนื้อไม้นั่นเอง
คำว่า “ดอกไม้จันทน์” ในภาษาไทยชวนให้เข้าใจว่า เราใช้ “ดอก” ของ “ไม้จันทน์” มาใช้ในการเผาศพ แต่ความจริงเราใช้เนื้อไม้จันทน์ เพราะเนื้อไม้มีกลิ่นหอม ช่วยดับกลิ่นไม่พึงปรารถนาที่เกิดจากการเผาซากศพได้เป็นอย่างดี
แต่เดิมนั้นไม้จันทน์ใช้ในการเผาศพเจ้านายเท่านั้น สามัญชนห้ามใช้ ส่วนการที่เนื้อไม้จันทน์กลายมาเป็น “ดอกไม้จันทน์” นั้น มีผู้แสดงความเห็น (พงษ์ศักดิ์ เกษมพันธ์ 20 สิงหาคม 2560) ว่า เนื่องมาจากคนไทยไปเห็นธรรมเนียมฝรั่งวางดอกไม้ในงานศพ จึงคิดเอาเนื้อไม้จันทน์มาประดิษฐ์ทำเป็นดอกไม้ เรียกว่า “ดอกไม้จันทน์” ใช้วางในงานศพเจ้านาย ต่อมาธรรมเนียมวางดอกไม้จันทน์ก็แพร่ออกไปถึงศพขุนนาง ข้าราชบริพาร ตลอดไปจนถึงศพสามัญชนดังที่เห็นในปัจจุบัน
แต่เนื่องจากไม้จันทน์เป็นของหายากและราคาแพง ต่อมาจึงมีการใช้ไม้และวัสดุอื่นมาประดิษฐ์เป็นดอกไม้แทนไม้จันทน์ แต่ก็ยังคงเรียกว่า “ดอกไม้จันทน์” ติดปากกันมา
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ความหอมเป็นคุณค่าของไม้จันทน์ ฉันใด
: พระธรรมวินัยก็เป็นคุณค่าของสมณะ ฉันนั้น
19-8-60