เทศนาบัติ (บาลีวันละคำ 1,902)
อ่านว่า เท-สะ-นา-บัด
ประกอบด้วย เทศนา + อาบัติ
(๑) “เทศนา”
บาลีเป็น “เทสนา” (เท-สะ-นา) รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = แสดง, ชี้แจง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อิ ที่ ทิ-(สฺ) เป็น เอ (ทิสฺ > เทส) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ทิสฺ + ยุ > อน = ทิสน > เทสน + อา = เทสนา แปลตามศัพท์ว่า “วาจาเป็นเครื่องแสดงเนื้อความ”
“เทสนา” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การเทศน์, การสั่งสอน, บทเรียน (discourse, instruction, lesson)
(2) ควบกับ ธมฺม+เทสนา = ธมฺมเทสนา หมายถึง การสั่งสอนธรรม, การแสดงธรรม, การเทศน์, คำเทศน์หรือสั่งสอน (moral instruction, exposition of the Dhamma, preaching, sermon)
(3) การยอมรับ (โดยชอบด้วยกฎหมาย) ([legal] acknowledgment)
“เทสนา” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “เทศน์” “เทศนา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เทศน์, เทศนา : (คำนาม) การแสดงธรรมสั่งสอนในทางศาสนา. (คำกริยา) แสดงธรรม เช่น พระเทศน์, (ภาษาปาก) โดยปริยายหมายความว่า ดุด่าว่ากล่าวอย่างยืดยาว เช่น วันนี้ถูกเทศน์เสียหลายกัณฑ์. (ป. เทสนา).”
(๒) “อาบัติ”
บาลีเป็น “อาปตฺติ” (อา-ปัด-ติ) รากศัพท์มาจาก อา (ทั่วไป) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ติ ปัจจัย, แปลง ทฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (ปทฺ > ปตฺ)
: อา + ปทฺ + ติ = อาปทฺติ > อาปตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “การถึงทั่ว” คำแปลเก่าแปลว่า “ความต้อง”
ตำราเรียนขยายความว่า “กิริยาที่ล่วงละเมิดพระบัญญัตินั้น และมีโทษเหนือตนอยู่ ชื่อว่า อาบัติ แปลว่า ความต้อง” (วินัยมุข เล่ม 1 หน้า 11)
คำในภาษาไทยที่น่าจะออกมาจากคำนี้ คือ ผู้ต้องขัง ต้องคดี ต้องโทษ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาปตฺติ” ว่า an ecclesiastical offence (โทษทางวินัยของสงฆ์)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า “อาบัติ (āpatti) an ecclesiastical offence; offence.”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อาปตฺติ : (คำนาม) เคราะห์ร้าย; ทุกข์; โทษ; misfortune; affliction; fault.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาบัติ : (คำนาม) โทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทหรือข้อห้ามแห่งภิกษุ มี ๗ อย่าง คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาษิต มีโทษ ๓ สถาน คือ ๑. โทษสถานหนัก เรียกว่า ครุโทษ หรือ มหันตโทษ ทําให้ภิกษุผู้ต้องอาบัติขาดจากความเป็นภิกษุ ได้แก่ อาบัติปาราชิก ซึ่งเรียกว่า ครุกาบัติ ๒. โทษสถานกลาง เรียกว่า มัชฌิมโทษ ทําให้ภิกษุผู้ต้องอาบัติต้องอยู่กรรมก่อนจึงจะพ้นโทษ ได้แก่ อาบัติสังฆาทิเสส และ ๓. โทษสถานเบา เรียกว่า ลหุโทษ ทําให้ภิกษุผู้ต้องอาบัติที่ตํ่ากว่าอาบัติสังฆาทิเสสต้องปลงอาบัติ คือ บอกอาบัติของตนแก่ภิกษุด้วยกัน ได้แก่ อาบัติถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ และทุพภาษิต ซึ่งเรียกว่า ลหุกาบัติ. (ป., ส. อาปตฺติ).”
สรุปความหมายอย่างง่ายๆ เป็นพื้นฐานของการหาความรู้ต่อไปว่า –
๑ “อาบัติ” คือ ความผิดของพระที่เกิดจากการละเมิดศีล
๒ พระที่ทำผิดเช่นนั้น เรียกว่า “ต้องอาบัติ”
๓ กิริยาที่กระทำเพื่อให้พ้นโทษตามกระบวนการทางพระธรรมวินัย เรียกว่า “ปลงอาบัติ”
เทศนา + อาบัติ = เทศนาบัติ เป็นการประสมคำแบบไทย แปลจากหน้าไปหลังว่า “การแสดงอาบัติ”
ในวงการชาววัดมีคำพูดที่รู้กันทั่วไป ว่า “แสดงอาบัติ” เข้าใจว่าคงมีผู้เอาคำว่า “แสดงอาบัติ” นี่เองไปผูกเป็นศัพท์ว่า “เทศนาบัติ”
เทศนา = แสดง
อาบัติ = อาบัติ
เทศนาบัติ = แสดงอาบัติ
“เทศนาบัติ” เป็นการประสมคำแบบไทย คือ เทศนา + อาบัติ = เทศนาบัติ แปลจากหน้าไปหลังว่า “การแสดงอาบัติ”
เป็นหน้าที่ที่พระจะต้องตรวจสอบความประพฤติปฏิบัติของตนเองทุกวันว่าวันนี้ทำอะไรผิดพลาดบกพร่องไปอย่างไรบ้างหรือไม่ ทั้งเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก เมื่อเห็นความบกพร่องของตนเองก็บอกกล่าวเปิดเผยต่อเพื่อนพระด้วยกัน นี่เป็นวิธีที่จะสำรวมระวังไม่ให้ทำผิดพลาดอีกในครั้งต่อไป วิธีเปิดเผยความผิดพลาดบกพร่องของตัวเองท่านเรียกว่า “ปลงอาบัติ” หรือแสดงอาบัติ ซึ่งในที่นี้ท่านใช้คำว่า “เทศนาบัติ”
…………..
อภิปราย :
“มีบาตรไม่โปรด
มีโบสถ์ไม่ลง
มีอาบัติไม่ปลง
เป็นสงฆ์อยู่ได้อย่างไร”
ผู้เขียนบาลีวันละคำได้พบข้อความนี้ในหนังสือ มนต์พิธี ของ พระครูสมุห์เอี่ยม สิริวณฺโณ อันเป็นหนังสือที่รู้จักกันแพร่หลาย เป็นข้อความที่พิมพ์เสริมไว้ในหน้าว่าง ไม่ได้บอกที่มาว่าใครเป็นเจ้าของวาทะนี้ (หนังสือมนต์พิธีดังกล่าวนี้พิมพ์หลายครั้ง เป็นอย่างที่เรียกกันว่าหลาย version บาง version อาจไม่มีข้อความนี้)
“มีบาตรไม่โปรด” บาตรเป็นบริขารสำคัญของภิกษุ อยู่ในจำนวนอัฐบริขาร ถ้ามีไม่ครบก็บวชไม่ได้ เป็นการยืนยันว่าวิถีชีวิตของภิกษุต้องบิณฑบาตเลี้ยงชีพ
“มีโบสถ์ไม่ลง” หมายถึงลงโบสถ์เพื่อฟังพระปาติโมกข์ตามพุทธ บัญญัติทุกวันพระกลางเดือนและสิ้นเดือน เป็นการทบทวนศีลของภิกษุว่ายังรักษากันเคร่งครัดอยู่หรือไม่ และหมายรวมถึงการลงทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็นด้วย
“มีอาบัติไม่ปลง” หมายถึงการสำรวจความประพฤติของตัวเองในแต่ละวันว่าปฏิบัติพระธรรมวินัยบกพร่องอย่างไรบ้างหรือไม่ ถ้าเห็นข้อบกพร่องผิดพลาดก็ให้เปิดเผยความผิดพลาดนั้นให้เพื่อนภิกษุด้วยกันรับรู้พร้อมทั้งรับปากว่าจะไม่กระทำสิ่งที่ผิดพลาดนั้นอีก เรียกว่า “แสดงอาบัติ” หรือ “ปลงอาบัติ”
ทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นการยืนยันว่าสงฆ์คือภิกษุแต่ละรูปต้องดำรงตนอยู่ในวิถีชีวิตของสมณะ ถ้าไม่ปฏิบัติเช่นนั้นก็ควรถูกถามว่า “เป็นสงฆ์อยู่ได้อย่างไร”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: รักษาวิถีชีวิตสงฆ์ไว้ได้
: รักษาพระศาสนาไว้ได้
24-8-60