ดาวประกายพรึก (บาลีวันละคำ 1,919)
ดาวประกายพรึก
ไม่ใช่ ดาวประกายพฤกษ์
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ประกายพรึก : (คำนาม) ดาวรุ่ง คือ ดาวพระศุกร์ที่เห็นในเวลาเช้ามืด, ถ้าเห็นในเวลาหัวคํ่า เรียกว่า ดาวประจําเมือง. (ข. ผกาย ว่า ดาว + พรึก ว่า รุ่ง).”
ภาษาบาลีมีคำว่า “โอสธิตารกา” (โอ-สะ-ทิ-ตา-ระ-กา) ซึ่งนักเรียนบาลีแปลกันว่า ดาวประจำรุ่ง หรือ ดาวประกายพรึก
“โอสธิ” หรือ “โอสธี” รากศัพท์มาจาก โอส (แสงสว่าง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อิ ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ ธา ธาตุ (ธา > ธ)
: โอส + ธา = โอสธา > โอสธ + อิ = โอสธิ (ทีฆะ อิ เป็น อี = โอสธี) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทรงไว้ซึ่งแสงสว่าง” “ผู้เป็นที่ดำรงอยู่แห่งแสงสว่าง”
ขยายความ :
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความเห็นที่คำว่า “โอสธี” ไว้ดังนี้ (ดูภาพประกอบ) –
[Vedic avaṣa + dhī: bearer of balm, comfort, refreshment]
[สันสกฤตยุคพระเวท อวษ + ธี: ผู้ถือหรือนำมาซึ่งยาทา (สำหรับระงับความเจ็บปวด), ความสะดวกสบาย, เครื่องทำให้สดชื่น]
There is no difference in meaning between osadha and osadhī; both mean equally any medicine, whether of herbs or other ingredients.
ไม่มีความแตกต่างกันในความหมายระหว่าง โอสธ และ โอสธี; ทั้งสองคำหมายเท่า ๆ กันถึงยาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ซึ่งจะทำจากสมุนไพรหรือส่วนประกอบอื่น ๆ.
(? trsln. medicinal herb), Figuratively, ‘ balm of salvation ʼ (amatosadha).
(? แปล สมุนไพรที่เป็นยา, โดยอุปมา ‘โอสถอมฤตʼ (อมโตสธ).
Osadhi-tārakā, star of healing.
โอสธิ-ตารกา, ดาวแห่งการบำบัดรักษา (หรือดาวแห่งสุขภาพ).
The only thing we know about this star is its white brilliance,
สิ่งที่เราทราบอย่างเดียวเกี่ยวกับดาวดวงนี้ได้ ก็คือประกายเปล่งปลั่งเป็นสีขาว,
Childers calls it Venus, but gives no evidence;
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ของ Childers เรียกดาวดวงนี้ว่า Venus (ดาวพระศุกร์), แต่ก็ไม่ได้แสดงหลักฐานอะไร;
other translators render it ‘morning starʼ.
ผู้แปลคนอื่น ๆ แปลว่า ‘morning star = ดาวประกายพรึกʼ.
According to Hindu mythology the lord of medicine is the moon (oṣadhīśa), not any particular star.
ตามเทพนิยายของฮินดูนั้น พระเจ้าแห่งโอสถก็คือพระจันทร์ (โอษธีศ), หาใช่ดาวดวงใดไม่.
……………
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล morning star เป็นบาลีว่า osadhītārakā โอสธีตารกา (โอ-สะ-ที-ตา-ระ-กา)
สรุปว่า
๑ คำว่า “โอสธี” นิยมแปลเป็นอังกฤษว่า morning star ซึ่งตรงกับคำที่เราเรียกกันว่า “ดาวประจำรุ่ง” (พจนานุกรมฯ เรียก “ดาวรุ่ง” และไม่ได้เก็บคำว่า “ดาวประจำรุ่ง” ไว้) หรือ “ดาวประกายพรึก”
๒ พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ (ฉบับสมาคมบาลีปกรณ์ [The Pali Text Society’s Pali-English dictionary] คือฉบับที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้อ้างอิงอยู่-ตามภาพประกอบ) ไม่ได้แปลคำว่า “โอสธี” ว่า morning star แต่แปลว่า star of healing และขยายความว่า คำว่า “โอสธี” มีความหมายอย่างเดียวกับ “โอสธ” หรือ “โอสถ” ที่เราคุ้นกันดี ซึ่งหมายถึงยารักษาโรค ดังนั้น “โอสธิตารกา” จึงต้องหมายถึงดาวที่เกี่ยวพันอยู่กับยารักษาโรค
…………..
อภิปราย :
ในประวัติหมอชีวกโกมารภัจจ์ที่ปรากฏในคัมภีร์ มีร่องรอยที่แสดงว่า การเก็บเครื่องยาสมุนไพรตอนกลางคืนมีความสัมพันธ์กับดาวบางดวง กล่าวคือสมุนไพรบางชนิดถ้าเก็บในเวลาที่ดาวบางดวงส่องแสงสุกสว่าง จะมีสรรพคุณพิเศษมากกว่าที่เก็บในเวลาอื่น ดังนั้นแพทย์แผนโบราณจึงต้องมีความรู้เรื่องดวงดาวด้วยพอสมควร
คำว่า “ดาวประกายพรึก” มักมีผู้เขียนเป็น “ดาวประกายพฤกษ์” กันทั่วไป (สังเกต –พรึก กับ –พฤกษ์) (แม้แต่หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) ซึ่งผู้เขียนบาลีวันละคำใช้อ้างอิงเป็นประจำก็ยังเผลอสะกดผิดตามไปด้วย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ก็ยังไม่ได้แก้ให้ถูกตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน-ดูภาพประกอบ)
พจนานุกรมฯ บอกว่า “พรึก” เป็นคำเขมร แปลว่า รุ่ง ซึ่งตรงตามความหมายของชื่อดาวดวงนี้ (morning star) ตามที่เข้าใจกัน ส่วน “พฤกษ์” บาลีเป็น “รุกฺข” (รุก-ขะ) แปลว่า ต้นไม้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับชื่อดาวดวงนี้แต่ประการใดเลย แต่เป็นเพราะคนส่วนมากคุ้นเคยกับรูปคำ “พฤกษ์” เมื่อได้ยินเสียง “พรึก” ก็จึงนึกถึง “พฤกษ์” ได้ก่อนรูปคำอย่างอื่น
คำว่า “ดาวประกายพรึก” จึงกลายเป็น “ดาวประกายพฤกษ์” ทั่วไปหมด-แม้แต่ในตำรา!
สำหรับท่านที่ชอบอธิบายผิดให้เป็นถูก ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอเหตุผลข้อหนึ่งในการอธิบายคำว่า “ดาวประกายพฤกษ์” ให้กลายเป็นคำที่ถูกต้อง นั่นคือ ดาวดวงนี้เกี่ยวพันอยู่กับการเก็บเครื่องยาสมุนไพรในเวลากลางคืนตามตำรับแพทย์แผนโบราณ เมื่อดาวดวงนี้ขึ้น จะส่องแสงสุกสว่างทำให้ต้นไม้-โดยเฉพาะที่เป็นสมุนไพร-เกิดประกายพร่างพราวขึ้น การเรียกดาวดวงนี้ว่า “ดาวประกายพฤกษ์” จึงสมเหตุสมผลและถูกต้องที่สุด (ในโลก)
ทั้งนี้-เช่นเดียวกับคำว่า “ผาสุก” (ก ไก่ สะกด) ที่คนทั้งหลายชอบเขียนเป็น “ผาสุข” (ข ไข่ สะกด) เคยมีผู้อธิบาย (ผิดๆ) ว่า “ผาสุข” คือ มีความสุขมั่นคงเหมือนภูผา เป็นคำที่สะกดถูกต้องที่สุด (ในโลก) ถ้าเขียนเป็น “ผาสุก” ก็จะหมายความว่า หินที่ถูกเผาจนสุก ซึ่งไม่ใช่สัญลักษณ์แห่งความสุขแต่ประการใดเลย!!
จำได้ว่าผู้อธิบายดังว่านี้เป็นนักเขียนตำราวิชาการด้วย ตอนนั้นผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่ได้เรียนบาลี จึงเคลิบเคลิ้มไปตามคำอธิบายนี้เป็นอันมาก
ต่อมาเมื่อได้เรียนบาลีแล้วจึงรู้ว่า คำว่า “ผาสุก” (ก ไก่ สะกด) เราเอามาจากบาลีว่า “ผาสุก” (ผา-สุ-กะ) แปลว่า ความสบาย, ความสะดวก, ความง่าย, ความรื่นรมย์, ความพอใจ, ความเพลิดเพลิน
ไม่ใช่มาจาก ผา + สุข แต่ประการใดทั้งสิ้น
ขอบพระคุณครูบาอาจารย์ที่นำเข้าสู่โลกแห่งบาลี ซึ่งทำให้หูตาสว่างขึ้นเป็นอันมากกว่า
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เก็บเครื่องยาต้องรอเวลาดาวโอสธี
: ทำความดีไม่ต้องรอดาวดวงใดๆ
10-9-60