สารบรรณ (บาลีวันละคำ 1,920)
สารบรรณ
คนละคำกับ “สารบัญ”
อ่านว่า สา-ระ-บัน
แยกศัพท์เป็น สาร + บรรณ
(๑) “สาร”
บาลีอ่านว่า สา-ระ รากศัพท์มาจาก –
(1) สรฺ (ธาตุ = ขยาย, พิสดาร) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ ส-(รฺ) เป็น อา (สรฺ > สาร)
: สรฺ + ณ = สรณ > สร > สาร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายออก”
(2) สา (ธาตุ = มีกำลัง, สามารถ) + ร ปัจจัย
: สา + ร = สาร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีกำลัง”
“สาร” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) สำคัญ, ประเสริฐยิ่ง, แข็งแรง (essential, most excellent, strong)
(2) ชั้นในที่สุด และส่วนที่แข็งที่สุดของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง, แก่นหรือแกนของไม้ (the innermost, hardest part of anything, the heart or pith of a tree)
(3) แก่นสาร, ส่วนสำคัญ, ส่วนที่ดีที่สุด (substance, essence, choicest part)
(4) คุณค่า (value)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สาร” ไว้หลายคำ ขอยกมา 2 คำดังนี้ –
(1) สาร ๑, สาร– ๑ : (คำนาม) แก่น, เนื้อแท้, มักใช้เข้าคู่กับคำ แก่น เป็น แก่นสาร; ข้อความ, ถ้อยคำ, เรื่องราว, เช่น กล่าวสาร สื่อสาร, หนังสือ เช่น นิตยสาร วารสาร, จดหมาย เช่น เขียนสาร สารของนายกรัฐมนตรีถึงเยาวชน. (ป., ส.).
(2) สาร ๒ : (คำนาม) สิ่งที่มีองค์ประกอบเป็นอย่างเดียวกัน มีสมบัติเฉพาะของตนเอง และไม่สามารถใช้วิธีกลใด ๆ มาแบ่งแยกให้เป็นส่วนอื่นที่มีองค์ประกอบและสมบัติแตกต่างออกไปได้; (คำโบราณ) เรียกธาตุจําพวกหนึ่งและธาตุที่เข้าแทรกในต้นไม้ว่า สาร.
(๒) “บรรณ”
บาลีเป็น “ปณฺณ” (ปัน-นะ) รากศัพท์มาจาก
(1) ปูร (ธาตุ = เต็ม) + อ ปัจจัย, แปลง ปูร เป็น ปณฺณ
: ปูรฺ + อ = ปูร > ปณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ทำให้เต็ม” (คือทำให้ต้นไม้เต็มต้น)
(2) ปต (ธาตุ = ตกไป) + อ ปัจจัย, แปลง ต เป็น ณฺณ
: ปตฺ + อ = ปต > ปณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะร่วงไปโดยไม่นาน”
(3) ปณฺณฺ (ธาตุ = เขียวสด) + อ ปัจจัย
: ปณฺณฺ + อ = ปณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เขียวสด”
“ปณฺณ” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ใบไม้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใบพลู) (a leaf [esp. betel leaf])
(2) ใบไม้ที่ใช้เขียน, ใบไม้ที่มีหนังสือจารึกอยู่, จดหมาย; ของบริจาค, เครื่องบรรณาการ (a leaf for writing upon, written leaf, letter; donation, bequest)
(3) ขนนก, ปีกนก (a feather, wing)
ชั้นเดิมศัพท์นี้หมายถึง “ใบไม้” แต่ต่อมาความหมายขยายไปถึง “หนังสือ” อาจเป็นเพราะแต่เดิมมนุษย์ใช้ใบไม้เป็นที่ขีดเขียนลายลักษณ์ลงไป “ปณฺณ” จึงหมายถึงหนังสือไปด้วย
“ปณฺณ” ในภาษาไทยใช้เป็น “บรรณ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บรรณ, บรรณ– : (คำนาม) ปีก; หนังสือ; ใบไม้. (ส. ปรฺณ; ป. ปณฺณ).”
สาร + ปณฺณ = สารปณฺณ > สารบรรณ แปลว่า “หนังสือที่มีสาระ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สารบรรณ : (คำนาม) หนังสือที่เป็นหลักฐาน, เรียกงานที่เกี่ยวกับการบริหารงานเอกสาร เริ่มตั้งแต่การจัดทำ การรับ การส่ง การเก็บรักษา การยืม จนถึงการทำลายเอกสาร ว่า งานสารบรรณ.”
…………..
ขยายความ :
ในสายงานทหาร งานสารบรรณมีความสำคัญมากถึงกับตั้งเป็นหน่วยงานระดับ “กรม” ฝ่ายอำนวยการ เรียกว่า “กรมสารบรรณ-” (ต่อด้วยนามเหล่าทัพ) เช่น กรมสารบรรณทหารบก กรมสารบรรณทหารเรือ กรมสารบรรณทหารอากาศ
เฉพาะในกองทัพเรือซึ่งแบ่งกำลังพลออกเป็นพรรค-เหล่า “สารบรรณ” เป็นนามเรียก “เหล่า” คือ “เหล่าสารบรรณ” จัดอยู่ใน “พรรคพิเศษ” เรียกรวมว่า “พรรคพิเศษ เหล่าสารบรรณ” (พรรคพิเศษนี้มีอีกหลายเหล่ารวมอยู่ด้วย เช่น เหล่าพลาธิการ เหล่าการเงิน เหล่าแพทย์ ฯลฯ)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: หนังสือ ดีตรงที่มีสาระ
: ชีวิตคนจะไร้ค่ายิ่งกว่าเศษขยะ ถ้าไม่คุณธรรมประจำใจ
————–
(ตอบคำถามบางส่วนของ ฉัตรบดินทร์ ฉัตรมิตร)
#บาลีวันละคำ (1,920)
11-9-60