ปฏิเวธธรรม (บาลีวันละคำ 1,925)
ปฏิเวธธรรม
ปลายทางของปริยัติธรรม
อ่านว่า ปะ-ติ-เว-ทะ-ทำ
แยกศัพท์เป็น ปฏิเวธ + ธรรม
(๑) “ปฏิเวธ”
บาลีอ่านว่า ปะ-ติ-เว-ทะ รากศัพท์มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + วิธฺ (ธาตุ = แทง, เจาะ; รู้) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ วิ-(ธฺ) เป็น เอ (วิธฺ > เวธ)
: ปฏิ + วิธฺ = ปฏิวิธฺ + ณ = ปฏิวิธณ > ปฏิวิธ > ปฏิเวธ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “การแทงตลอด” (2) “การรู้ตลอด” หมายถึง การแทงทะลุ, การเจาะเข้าถึง, ความเข้าใจ, การบรรลุ, การหยั่งทราบ, การหยั่งรู้ (piercing, penetration, comprehension, attainment, insight, knowledge)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“ปฏิเวธ : (คำกริยา) เข้าใจตลอด, ตรัสรู้, ลุล่วงผลปฏิบัติ. (ป.).”
(๒) “ธรรม”
บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)
(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)
(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)
(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้”
“ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายเน้นที่-คําสั่งสอนและหลักประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
ปฏิเวธ + ธมฺม = ปฏิเวธธมฺม (ปะ-ติ-เว-ทะ-ทำ-มะ) แปลว่า “ธรรมคือการบรรลุผล” หมายถึง การเข้าถึงหรือบรรลุด้วยการปฏิบัติ ได้แก่ มรรค ผล และนิพพาน
…………..
ขยายความ :
ในบาลี คำที่ใช้แทน “ปฏิเวธธมฺม” มีอีก 2 คำ คือ –
“ปฏิเวธสทฺธมฺม” (ปะ-ติ-เว-ทะ-สัด-ทำ-มะ) = ธรรมอันดีคือผลอันจะพึงเข้าถึงหรือบรรลุด้วยการปฏิบัติ บางแห่งเรียก “อธิคมสัทธรรม” มีความหมายอย่างเดียวกัน
“ปฏิเวธสาสน” (ปะ-ติ-เว-ทะ-สา-สะ-นะ) = ศาสนาคือผลอันจะพึงเข้าถึงหรือบรรลุด้วยการปฏิบัติ
คำในชุดนี้มี 3 คำ คือ –
(ปริยัตติ– ปฏิปัตติ– ปฏิเวธ– สะกดตามบาลี)
(1) ปริยัตติธรรม (ปะ-ริ-ยัด-ติ-ทำ) คือคำสั่งสอนอันจะต้องเล่าเรียน ได้แก่ พุทธพจน์
(2) ปฏิปัตติธรรม (ปะ-ติ-ปัด-ติ-ทำ) คือปฏิปทาอันจะต้องปฏิบัติ ได้แก่ อัฏฐังคิกมรรค หรือ ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
(3) ปฏิเวธธรรม (ปะ-ติ-เว-ทะ-ทำ) คือผลอันจะพึงเข้าถึงหรือบรรลุด้วยการปฏิบัติ ได้แก่ มรรค ผล และนิพพาน
มักพูดกันสั้นๆ ว่า ปริยัติ (ปะริ-ยัด) ปฏิบัติ (ปะ-ติ-บัด) ปฏิเวธ (ปะ-ติ-เวด)
ปริยัติ ถ้ามิได้เป็นไปเพื่อปฏิบัติ ก็ไร้ค่า อย่างดีก็มีไว้เพื่ออวดกัน หลอกกัน
ปฏิบัติ ถ้าผิดทางก็เสียเวลาเปล่า หรือแม้ถูกทาง แต่มิได้ปฏิบัติเพื่อมุ่งบรรลุผล ก็ไร้ประโยชน์
ถ้าปฏิบัติเพื่อมุ่งบรรลุผล หากแม้จะยังไม่ได้บรรลุ ก็เป็นอุปนิสัยปัจจัย อุปมาเหมือนการเดินทาง ถ้าเดินถูกทางแล้วแม้วันนี้จะยังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ผิว่ายังไม่หยุดเดินแล้วไซร้ ก็จักถึงปลายทางเข้าได้สักวันหนึ่งเป็นแท้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: “เป้าหมายมีไว้พุ่งชน”
: มรรคผลไม่ได้มีไว้นั่งมอง
#บาลีวันละคำ (1,925)
16-9-60