บาลีวันละคำ

กาบุรุษ (บาลีวันละคำ 1,927)

กาบุรุษ

แปลให้ตรงที่สุดว่า-คนระยำ

อ่านว่า กา-บุ-หฺรุด

กาบุรุษ” บาลีเป็น “กาปุริส” อ่านว่า กา-ปุ-ริ-สะ ตำราไวยากรณ์แสดงรูปวิเคราะห์ (กระบวนการแยกแยะเพื่อหาความหมาย) ไว้ว่า –

กุจฺฉิตพฺโพ จ โส ปุริโส จาติ กาปุริโส

แปล: บุรุษนั้นด้วย ผู้อันบุคคลพึงรังเกียจด้วย ดังนั้นจึงชื่อว่า กาปุริโส > กาปุริส = คนที่น่ารังเกียจ

ได้ความว่า “กาปุริส” รูปคำเดิมคือ กุ (ตัดมาจาก “กุจฺฉิตพฺพ” = อันบุคคลพึงรังเกียจ) + ปุริส แปลง กุ เป็น กา หรือแปลง อุ ที่ กุ เป็น อา (กุ > กา)

: กุ + ปุริส = กุปุริส > กาปุริส แปลตามศัพท์ว่า “บุรุษผู้อันบุคคลพึงรังเกียจ” หมายถึง คนต่ำช้า, คนเลวทราม, คนถ่อย, คนระยำ (a low, vile, contemptible man, a wretch)

บุรุษ” บาลีเป็น “ปุริส” (ปุ-ริ-สะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ปุร (ธาตุ = เต็ม) + อิส ปัจจัย

: ปุร + อิส = ปุริส แปลว่า “ผู้ยังดวงใจของบิดามารดาให้เต็ม

(2) ปุ ( = นรก) + ริส (ธาตุ = เบียดเบียน, กำจัด)

: ปุ + ริส = ปุริส แปลว่า “ผู้เบียดเบียนนรก” คือทำให้นรกว่าง เพราะเกิดมาทำให้บิดามารดาไม่ต้องตกนรกขุมที่ชื่อ “ปุตตะ

(3) ปุริ ( = เบื้องบน) + สี (ธาตุ = อยู่)

: ปุริ + สี > = ปุริส แปลว่า “ผู้อยู่ในเบื้องสูง” หมายถึงเป็นหัวหน้า

(4) ปุร ( = เบื้องหน้า) + สี (ธาตุ = เป็นไป)

: ปุร + อิ = ปุริ + สี > = ปุริส แปลว่า “ผู้เป็นไปในเบื้องหน้า” หมายถึงผู้นำหน้า

(5) ( = ปกติ) + อุร ( = อก) + สี (ธาตุ = นอน)

: + อุร = ปุร + อิ = ปุริ + สี > = ปุริส แปลว่า “ผู้นอน บน อก โดยปกติ

ปุริส” สันสกฤตเป็น “ปุรุษ” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “บุรุษ

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บุรุษ : (คำนาม) ผู้ชาย, เพศชาย, คู่กับ สตรี, ใช้ในลักษณะที่สุภาพ; (ไว) คําบอกผู้พูด เรียกว่า บุรุษที่ ๑, คําบอกผู้ที่พูดด้วย เรียกว่า บุรุษที่ ๒, คําบอกผู้ที่พูดถึง เรียกว่า บุรุษที่ ๓. (ส. ปุรุษ; ป. ปุริส).”

พึงทราบว่า “ปุริส” ในภาษาบาลีไม่ได้เล็งที่ “ผู้ชาย” เสมอไป ในที่หลายแห่งหมายถึง “คน” หรือมนุษย์ทั่วไป ไม่แยกว่าชายหรือหญิง เช่นเดียวกับคำว่า man ในภาษาอังกฤษ แปลว่า “ผู้ชาย” ก็ได้ แปลว่า “คน” หรือมนุษย์ทั่วไปก็ได้

…………..

อภิปราย :

ในภาษาบาลีมีคำว่า “กาก” อ่านว่า กา-กะ หมายถึง “กา” หรือ “อีกา

กา” หรือ “อีกา” นี้ผู้ร้อนวิชารุ่นเก่าเคยเขียนเป็น “กาก์” (การันต์ที่ ท้ายศัพท์ อ่านว่า “กา”) เพราะเชื่อว่าชื่อนกชนิดนี้มาจากบาลีสันสกฤตว่า “กาก” แน่นอน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “กาก” บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(1) (คำนาม) กาก์; คนเสียขา a crow; a cripple, one whose legs are useless.

(2) ฝูงกาก์ an assemblage of crows.

(3) (คำคุณศัพท์) อหังการ, ไม่มีความละอาย; arrogant, shameless.

ในคัมภีร์มักเอ่ยถึง “กาก” ในฐานะสัตว์ขี้ขโมย นิสัยไม่ดี ชอบมั่วสุมกับสัตว์จำพวกเลวในสถานที่ที่น่ารังเกียจ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “กาก” บอกความหมายไว้ว่า –

กาก : (คำนาม) สิ่งที่เหลือเมื่อคั้นหรือคัดเอาส่วนดีออกแล้ว เช่น กากมะพร้าว; หยากเยื่อ; เดนเลือก (ใช้เป็นคําด่า) เช่น กากมนุษย์ คนกาก.”

กาปุริส” ถ้าอธิบายรากศัพท์ว่า มาจาก กาก (อีกา = กาก) + ปุริส (คน) = กากปุริส แล้วลดรูปลงเป็น “กาปุริส” แปลลากเข้าวัดว่า “คนกาก” สอดรับกับคำและความหมายในพจนานุกรมเป็นอย่างดี

เวลาจะเรียกคนต่ำช้าเลวทรามระยำถ่อย ถ้านึกคำไทยไม่ออก ก็ขอเสนอคำว่า “กาบุรุษ” ไว้ในอ้อมใจของมิตรรักแฟนบาลีวันละคำด้วยสักคำหนึ่ง

…………..

พุทธภาษิต :

ผลํ  เว  กทลึ  หนฺติ

ผลํ  เวฬุํ  ผลํ  นฬํ

สกฺกาโร  กาปุริสํ  หนฺติ

คพฺโภ  อสฺสตรึ  ยถา.

ผลกล้วยฆ่าต้นกล้วย

ขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่

ดอกอ้อฆ่าไม้อ้อ

ลูกม้าอัสดรฆ่าแม่ม้า ฉันใด

ผลประโยชน์ก็ฆ่ากาบุรุษ ฉันนั้น

ที่มา: สังฆเภทขันธกะ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 7 ข้อ 360 เป็นต้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บัณฑิต รู้ว่าผิดแล้วไม่ทำ

: คนระยำ ทำทั้งที่รู้ว่าผิด

#บาลีวันละคำ (1,927)

18-9-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย