บาลีวันละคำ

อุปัฏฐาก (บาลีวันละคำ 1,940)

อุปัฏฐาก

คนวัดอีกคนหนึ่ง

อ่านว่า อุ-ปัด-ถาก ก็ได้ อุบ-ปัด-ถาก ก็ได้

(ตามพจนานุกรมฯ)

อุปัฏฐาก” บาลีเขียน “อุปฏฺฐาก” อ่านว่า อุ-ปัด-ถา-กะ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + ฐา (ธาตุ = ยืน, ตั้งอยู่) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), ซ้อน ฏฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุป + ฏฺ + ฐา)

: อุป + ฏฺ + ฐา = อุปฏฺฐา + ณฺวุ > อก = อุปฏฺฐาก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เข้าไปยืน (รับใช้)” “ผู้ยืนใกล้” หมายถึง ผู้อุปัฏฐาก, ผู้รับใช้, ผู้ปรนนิบัติ (“famulus”, a servitor, personal attendant, servant)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุปัฏฐาก : (คำนาม) ผู้อุปถัมภ์บํารุงพระภิกษุสามเณร, ถ้าเป็นหญิงใช้ อุปัฏฐายิกา. (ป.).”

อุปัฏฐายิกา” บาลีเขียน “อุปฏฺฐายิกา” อ่านว่า อุ-ปัด-ถา-ยิ-กา คือ อุปฏฺฐา + อาคม + อิ อาคม + ณฺวุ > อก + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: อุปฏฺฐา + + อิ = อุปฏฺฐายิ + ณฺวุ > อก = อุปฏฺฐายิก + อา = อุปฏฺฐายิกา แปลเหมือนกัน เปลี่ยนแต่เป็นเพศหญิง

…………..

อภิปราย :

ความหมายของ “อุปัฏฐาก” คือผู้อุปถัมภ์บํารุงพระภิกษุสามเณร ตามที่พจนานุกรมฯ ว่าไว้นั้นเป็นความหมายตามรูปศัพท์ แต่โดยความเป็นจริงตามที่เป็นมาแต่เดิมนั้น อุปัฏฐากคือผู้ที่ทำหน้าที่รับใช้วัด อุทิศเวลาทำกิจทั้งปวงตามแต่วัดหรือพระภิกษุสามเณรในวัดนั้นๆ จะเรียกใช้ โดยเฉพาะกิจที่พระภิกษุสามเณรไม่สะดวกที่จะทำด้วยตนเองเช่นการรับเงินจ่ายเงินเป็นต้น ทำนองเดียวกับที่ในปัจจุบันเรียกว่า “ไวยาวัจกร

กล่าวอีกนัยหนึ่ง บุคคลที่ปัจจุบันเรียกกันว่า “ไวยาวัจกร” นั้นคนสมัยก่อนเรียกว่า “อุปัฏฐาก” หรือ “อุปัฏฐากวัด

ไวยาวัจกร” พจนานุกรมฯ บอกความหมายไว้ว่า “คฤหัสถ์ผู้ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัตและมีอํานาจหน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดตามที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็นหนังสือ”

ดูตามพจนานุกรมฯ “อุปัฏฐาก” สมัยก่อนทำหน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัต (คือเงิน) และดูแลทรัพย์สินของวัดด้วย รับใช้กิจทั้งปวงของวัดอีกด้วย

นั่นคือ “อุปัฏฐาก” สมัยก่อนทำงานมากกว่า “ไวยาวัจกร” สมัยนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ดูแลปกป้องวัด ยังพอมองเห็นอุปัฏฐากอุปัฏฐายิกา

: แต่ยอยกพระพุทธศาสนา ยังมองไม่เห็นหน้าใครใด

#บาลีวันละคำ (1,940)

1-10-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย