ลายกนก – ลายกระหนก (บาลีวันละคำ 1,941)
ลายกนก – ลายกระหนก
สะกดอย่างไร
อ่านว่า ลาย-กะ-หฺนก / ลาย-กฺระ-หฺนก
คำบาลีที่มีในคำนี้คือ “กนก”
“กนก” บาลีอ่านว่า กะ-นะ-กะ รากศัพท์มาจาก กนฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)
: กนฺ + ณฺวุ > อก = กนก แปลตามศัพท์ว่า “วัตถุที่แวววาวโดยสภาพของตน” หมายถึง ทองคำ (gold)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “กนก” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“กนก : (คำนาม) ทองคำ; ต้นปลาศ; ต้นดำดง; gold; the name of a tree which bears red flowers, called palāśa or thorn-apple; mountain ebony.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กนก : (คำแบบ) (คำนาม) ทองคํา เช่น มาลากนก = มาลัยทอง, โดยมากใช้ประกอบเป็นส่วนหน้าของสมาสเช่น กนกนัครา. (สมุทรโฆษ). (ป.; ส.).”
ลาย + กนก = ลายกนก เป็นคำประสมแบบไทย
คำว่า “ลาย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ที่ “ลาย ๑” ดังนี้ –
(๑) (คำนาม) รูปแบบทางทัศนศิลป์ประเภทหนึ่ง ประกอบขึ้นด้วยเส้นเป็นสำคัญ ลักษณะเป็นแบบซํ้า ๆ เป็นหมู่ ๆ หรือต่อเนื่องกันไปก็มี มีทั้งลายแบบธรรมชาติและลายแบบประดิษฐ์ ใช้เขียน ปั้น หรือแกะสลัก เป็นต้น เพื่อตกแต่งให้สวยงาม เช่น ลายกระหนก ลายเทพนม ลายก้านขด, กรรมวิธีประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ให้เป็นลวดลาย เช่น ลายกำมะลอ ลายปิดทองรดนํ้า ลายแทงหยวก;
(๒) (คำนาม) โดยปริยายหมายถึงลักษณะสำคัญของตน เช่น ทิ้งลาย ไว้ลาย.
(๓) (คำวิเศษณ์) เป็นแนวยาว ๆ เช่น ลายพาดกลอน, เป็นแผลยาว ๆ เช่น หลังลาย, เป็นจุด ๆ เป็นแต้ม ๆ เป็นดวง ๆ หรือเป็นเส้น ๆ เช่น หน้าลาย ท้องลาย;
(๔) (คำวิเศษณ์) เรียกผ้านุ่งที่เขียนหรือพิมพ์ลายเป็นดอกดวงต่าง ๆ มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้เป็นผ้านุ่งโจงกระเบน ปัจจุบันทำเป็นผ้าถุง ว่า ผ้าลาย.
…………..
อภิปราย :
: ลายกนก หรือ ลายกระหนก ?
ตามความหมายของคำว่า “ลาย ๑” ในข้อ (๑) พจนานุกรมฯ ยกตัวอย่างคำว่า “ลายกระหนก” เป็นอันยืนยันว่า คำนี้สะกดว่า “ลายกระหนก”
แต่ที่คำว่า “กระหนก” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –
“กระหนก ๑ : (คำนาม) ชื่อลายไทยประเภทหนึ่ง ใช้ผูกเขียนเป็นลวดลาย มีทั้งระบายสี ปิดทองรดนํ้า ปั้น หรือแกะสลักเป็นต้น มีหลายแบบ เช่น กระหนกเปลว กระหนกก้านขด กระหนกเครือ, เขียนเป็น กนก ก็มี.”
ถ้าตามนี้ก็แปลว่าคำนี้สะกดเป็น “ลายกนก” ก็ได้
ตามที่สังเกต พบว่า คำนี้คนส่วนมากมักสะกดเป็น “ลายกนก”
: สันนิษฐาน (แปลว่าเดา)
๑ “ลายกนก”
“กนก” แปลว่า ทอง “ลายกนก” ก็คือ ลายทอง
สันนิษฐานว่า อาจเป็นเพราะคนมักเห็นลายไทยต่างๆ เขียนเป็นสีทองหรือปิดทอง จึงเรียกว่า “ลายทอง” แล้วนักภาษาก็แปลงคำเป็น “ลายกนก”
๒ “ลายกระหนก”
สันนิษฐานว่า –
(1) เขียนพลิกแพลงมาจาก “ลายกนก” นั่นเอง คือกลายคำ ก– เป็น กระ– ทำนองเดียวกับคำไทยที่ครั้งหนึ่งสะกดได้ทั้ง กะ– และ กระ– (ดูพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ที่คำว่า กะ– ๕)
(2) “กระหนก” แผลงมาจาก “ตระหนก” ที่แปลว่า ตกใจ, สะดุ้ง โดยจินตนาการพาไปว่า ลายไทยมักมีเส้นเป็นเปลวสะบัดปลายแสดงอารมณ์ตื่นเต้นหรือตื่นตระหนก จึงเรียกว่า “ลายตระหนก” แล้วแผลงเป็น “ลายกระหนก”
หมายเหตุ: โปรดอย่าลืมว่าข้างต้นนั้นบอกไว้ว่า สันนิษฐาน (แปลว่าเดา)
อนึ่ง ผู้เขียนบาลีวันละคำได้เห็นคำที่มีผู้เขียนว่า –
… รายการ “Line กนก” ทางช่องเนชั่นชาแนล …
คำว่า “Line กนก” เป็นการพลิกแพลงเอาคำฝรั่งมาประสมบาลีให้ได้เสียงเป็นคำไทย คือประสงค์จะให้อ่านว่า “ลายกนก” นั่นเอง
และโปรดสังเกตว่า คำนี้ไม่ได้สะกดว่า “Line กระหนก”
…………..
ดูก่อนภราดา!
อันลวดลายภายนอกหลอกให้หลง
ช่างประจงจัดฉากเป็นหลากหลาย
เหมือนลิ้นลมคมคำทำถึงตาย
อย่าหลงลายเลยธงเหมือนหลงลม.
—————–
(ภาพประกอบจาก google)
#บาลีวันละคำ (1,941)
2-10-60