ปริสังกา (บาลีวันละคำ 1,944)
ปริสังกา
พูดได้ แต่อาจไม่รู้จัก
อ่านว่า ปะ-ริ-สัง-กา
“ปริสังกา” แยกคำเป็น ปริ + สังกา
(๑) “ปริ” (ปะ-ริ)
เป็นคำอุปสรรค (คำสำหรับใช้เติมข้างหน้าคำนามหรือคำกริยาที่เป็นรูปคำบาลีหรือสันสกฤตให้มีความหมายแผกเพี้ยนไปจากเดิม หรือมีความหมายตรงข้ามกับความหมายเดิมเป็นต้น และถือเป็นคำเดียวกับคำนามหรือคำกริยานั้น เพราะตามปรกติจะไม่ใช้ตามลำพัง) มีความหมายว่า รอบ, เวียนรอบ; ทั่วไป, เต็มไปหมด, รวมหมด (around, round about; all round, completely, altogether)
(๒) “สังกา”
บาลีเป็น “สงฺกา” (สัง-กา) รากศัพท์มาจาก สงฺกฺ (ธาตุ = สงสัย) + อ ปัจจัย + อา ปัจจัยอิตถีลิงค์
: สงฺกฺ + อ = สงฺก + อา = สงฺกา แปลตามศัพท์ว่า “ความสงสัย” หมายถึง ความสงสัย, ความไม่แน่ใจ, ความเกรงกลัว (doubt, uncertainty, fear)
“สงฺกา” ภาษาไทยใช้ว่า “สงกา” (สง-กา) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บรูปคำ “สังกา” (สัง-กา) ไว้ด้วย บอกว่าคือ “สงกา”
คำว่า “สงกา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สงกา : (คำนาม) ความสงสัย. (ป. สงฺกา; ส. ศงฺกา).”
เพื่อให้สิ้นสงสัย ควรตามไปดูความหมายของคำว่า “สงสัย” ซึ่งก็คือความหมายของ “สงกา” ด้วย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “สงสัย” ไว้ดังนี้ –
(1) ไม่แน่ใจในข้อเท็จจริง เช่น สงสัยว่าทำดีจะได้ดีจริงหรือ.
(2) ลังเล เช่น เมื่อเดินไปถึงทาง ๒ แพร่ง สงสัยว่าจะไปทางไหนจึงจะถูก.
(3) ทราบไม่ได้แน่ชัด, เคลือบแคลง, เช่น สงสัยว่าคำตอบข้อไหนถูก สงสัยว่าเขาจะเป็นขโมย.
(4) เอาแน่ไม่ได้ เช่น สงสัยว่าเขาจะมาหรือไม่มา.
ปริ + สงฺกา = ปริสังกา แปลว่า “ความสงสัยรอบด้าน” หมายถึงความแคลงใจ, ความสงสัย (suspicion, misgiving)
…………..
อภิปราย :
วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (ปีนี้ตรงกับวันที่ 5 ตุลาคม 2560 คือวันนี้) เป็นวันที่มีพุทธานุญาตให้พระสงฆ์ทำปวารณากรรมแทนอุโบสถสังฆกรรม (คือสวดพระปาติโมกข์) เรียกว่า วันมหาปวารณา
ปวารณากรรมคือการที่ภิกษุเปิดโอกาสให้กันและกันว่ากล่าวตักเตือนกันได้ คำปวารณาว่าดังนี้ –
สงฺฆํ ภนฺเต ปวาเรมิ
ทิฏฺเฐน วา สุเตน วา ปริสงฺกาย วา,
วทนฺตุ มํ อายสฺมนฺโต อนุกมฺปํ อุปาทาย,
ปสฺสนฺโต ปฏิกริสฺสามิ.
แปลเป็นใจความว่า –
ข้าพเจ้าขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ตาม ด้วยได้ยินก็ตาม ด้วยน่าระแวงสงสัยก็ตาม (ว่าข้าพเจ้าทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง), ขอท่านทั้งหลายจงว่ากล่าวข้าพเจ้าด้วยอาศัยความหวังดีเอ็นดู, เมื่อข้าพเจ้ามองเห็น (ความผิดพลาดนั้น) จักแก้ไข
พึงสังเกตว่า เหตุผลที่อ้างได้ในการว่ากล่าวตักเตือนมี 3 กรณี คือ –
1 ทิฏฺฐะ: รู้เห็นเรื่องนั้นๆ มาด้วยตัวเอง = เห็นประจักษ์ซึ่งหน้า
2 สุตะ: ได้รับคำบอกเล่า เช่นมีผู้รายงานให้ทราบ = มีพยานหลักฐาน
3 ปริสังกา: นึกสงสัยขึ้นมาเอง = ไม่เห็น ไม่มีพยาน แต่สงสัย
เรามักกล่าวอ้างกันว่า จะว่ากล่าวใคร ต้องมีพยานหลักฐาน อย่าพูดลอยๆ
แต่จากคำปวารณาจะเห็นว่า แม้แต่สงสัย (ปริสงฺกาย วา) ก็สามารถยกขึ้นเป็นเหตุให้ว่ากล่าวกันได้ แต่ทั้งนี้พึงกระทำด้วยเจตนาบริสุทธิ์ หวังความถูกต้องดีงามเป็นที่ตั้ง
คนส่วนมากไม่ได้คิดถึงเหตุผลข้อนี้ พอถูกทักเรื่องพยานหลักฐานก็พากันนิ่งงันไม่กล้าว่ากล่าวอะไรกันอีกต่อไป เป็นช่องโหว่ให้คนทำผิดยังคงทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องนั้นต่อไปได้เรื่อยๆ
ปริสงฺกาย วา … กล่าวคำปวารณากันทุกปี เป็นเหตุผลที่ดี แต่เรามักเกรงใจ จึงไม่เอาไปใช้เพื่อเตือนกันและกัน
“ปริสังกา” โดยเจตนาก็คือไม่ประมาท จึงต้องระแวงด้วยความระวังไว้เสมอนั่นเอง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: บริหารบ้านเมืองถ้าไม่ระวัง สักวันจะต้องจ่ายแพง
: บริหารพระศาสนาถ้าไม่ระแวง สักวันก็จะพัง
#บาลีวันละคำ (1,944)
5-10-60