ศรีธนญชัย (บาลีวันละคำ 1,945)
ศรีธนญชัย
เจ้าตำรับเล่ห์ลิ้น
อ่านว่า สี-ทะ-นน-ไช
แยกศัพท์เป็น ศรี + ธน + ชัย
(๑) “ศรี”
บาลีเป็น “สิริ” อ่านว่า สิ-ริ (บาลีมี “สิรี” อีกรูปหนึ่ง) รากศัพท์มากจาก สิ (ธาตุ = เสพ, คบหา, อาศัย) + ร ปัจจัย + อิ (หรือ อี) ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สิ + ร = สิร + อิ (อี) = สิริ (สิรี) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งอันผู้ทำความดีไว้ได้สัมผัส” (2) “สิ่งที่อาศัยอยู่ในบุคคลผู้ทำความดีไว้”
พจนานุกรมบาลี-อังฤษ แยกความหมายของ “สิริ” ไว้ดังนี้ –
(1) ความโอ่อ่าอลังการ, ความสวยงาม (splendour, beauty)
(2) โชค, ความรุ่งโรจน์, ความมีเดช, ความรุ่งเรือง (luck, glory, majesty, prosperity)
(3) เทพธิดาแห่งโชคลาภ (the goddess of luck)
(4) (เมื่อ + คพฺภ = สิริคพฺภ) ห้องบรรทม (the royal bed-chamber)
“สิริ” สันสกฤตเป็น “ศฺรี” เขียนตามสันสกฤตเป็น “ศรี” อ่านว่า สี
คำว่า “ศฺรี” ในสันสกฤตมีความหมายอย่างไรบ้าง สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศฺรี : (คำนาม) ‘ศรี,’ ภาคย์, สัมฤทธิหรือบุณโยทัย; ธน, ทรัพย์; เสาวภาคย์, ความงาม; อาภา, อาโลก; ความรัก, หน้าที่, และทรัพย์; เครื่องแต่งตัว, เครื่องประดับ; ภาวะหรือสถิติ; ทิพยศักดิ์, อมานุษศักดิ์; มติ, พุทธิ, ความรู้, ความเข้าใจ; ผล; เกียรติ; พระลักษมี, ผู้ชายาของพระวิษณุ, และเปน ‘ภควดีศรี’ หรือเจ้าทรัพย์และความเจริญ; นามของสรัสวดี; กานพลู; อุปสรรคหรือบทน่านามเทวดา (ย่อมใช้ซ้ำ), ดุจคำว่า ศรีศรีทุรคา; บทน่าบอกความเคารพต่อวิสามานยนามของบุรุษ, ดุจคำว่า ศรีชัยเทพ; บทน่าครันถ์, ดุจคำว่า ศรีภาควัต; ต้นศรัลหรือต้นสน; fortune, prosperity; wealth, riches; beauty, splendor; light; love, duty, and wealth; dress, decoration; state; superhuman power; intellect, understanding; consequence; fame or glory; the goddess Lakshmi, the wife of Vishṇu, and deity of plenty and prosperity; a name of Sarasvati; cloves; a prefix to the name of deities (often used repeatedly), as Śri Śri Durgā; a prefix of respect to proper names of persons, as Śri Jayadeva; a prefix to works, as Śri Bhāgavat; the Śaral or pine tree.”
(๒) “ธน”
บาลีอ่านว่า ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ธนฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + อ ปัจจัย
: ธนฺ + อ = ธน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้คนออกเสียงว่าเป็นของเรา” (คือแสดงความเป็นเจ้าของด้วยความชื่นชม)
(2) ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + อ ปัจจัย, แปลง ช เป็น ธ
: ชนฺ + อ = ชน > ธน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งยังภาวะคนจนให้เกิด” (คำแปลนี้ฟังเหมือนขัดแย้ง คือถ้ามี “ธน” ความจนก็จะไม่เกิด แต่มองในมุมกลับก็คือ “เพราะไม่มีสิ่งนี้ จึงทำให้มีคนจน”)
“ธน” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ทรัพย์สมบัติ, โดยปกติได้แก่ทรัพย์สินเงินทอง, ความร่ำรวย, สมบัติ (wealth, usually wealth of money, riches, treasures)
(๓) “ชัย”
บาลีเป็น “ชย” (ชะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก ชิ (ธาตุ = ชนะ) + อ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ชิ เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย (ชิ > เช > ชย)
: ชิ > เช > ชย + อ = ชย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความชนะ” หมายถึง การปราบ, การพิชิต, ชัยชนะ (vanquishing, overcoming, victory)
การประสมคำ :
๑ ธน + ชย ซ้อน ญ ตามกฎการซ้อน กล่าวคือ ชย คำหลังอักษรนำคือ ช พยัญชนะที่สุดวรรคของ ช คือ ญ (จ ฉ ช ฌ ญ)
: ธน + ญฺ + ชย = ธนญฺชย บาลีอ่านว่า ทะ-นัน-ชะ-ยะ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ชนะด้วยทรัพย์” หรือ “ผู้มีทรัพย์เป็นชัยชนะ” (ตั้งเป้าแห่งชัยชนะไว้ที่ทรัพย์ เมื่อหาทรัพย์ได้ตามเป้าก็คือได้ชัยชนะ = ผู้มีทรัพย์เป็นชัยชนะ)
อีกนัยหนึ่งแปลว่า “ผู้มีชัยชนะเป็นทรัพย์” หมายความว่า ทำอะไรมีชัยชนะครั้งหนึ่ง ก็ถือว่าชัยชนะนั้นคือทรัพย์ชนิดหนึ่ง แสวงหาชัยชนะ (ในเรื่องใดๆ ก็ตาม) ได้มากเท่าไร ก็เหมือนได้ทรัพย์มากเท่านั้น = ผู้มีชัยชนะเป็นทรัพย์
“ธนญฺชย” เขียนในภาษาไทยได้ 2 แบบ คือ “ธนัญชัย” (ทะ-นัน-ไช) และ “ธนญชัย” (ทะ-นน-ไช) ในที่นี้เขียน “ธนญชัย”
ในคัมภีร์ คำว่า “ธนญฺชย” มักใช้เป็นชื่อบุคคล ภาษาไทยนิยมเขียนเป็น “ธนัญชัย”
“ธนัญชัย” ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาคือ “ธนัญชัยเศรษฐี” บิดาของวิสาขามหาอุบาสิกา
๒ ศรี + ธนญชัย = ศรีธนญชัย
“ศรี” ในที่นี้ทำหน้าเป็น “บทน่าบอกความเคารพต่อวิสามานยนามของบุรุษ” (สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน-ดูข้างต้น)
เช่น ชวาหรลาล เนห์รู (जवाहरलाल नेहरू Jawaharlal Nehru) นายกรัฐมนตรีคนแรกและรัฐบุรุษของอินเดีย ก็มีผู้เรียกด้วยความยกย่องว่า “ศรีชวาหรลาล เนห์รู”
ชื่อ “ศรีปราชญ์” กวีเอกในประวัติศาสตร์ของไทยก็น่าจะมีคติเดียวกันนี้
…………..
ขยายความ :
“ศรีธนญชัย” เป็นชื่อตัวเอกในนิทานเชิงตำนานที่มีผู้เล่าขานกันมา เป็นผู้มีไหวพริบปฏิภาณแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เก่ง แต่มักกระเดียดไปในทางเล่ห์เหลี่ยมเอาตัวรอดด้วยโวหารพลิกแพลงต่างๆ
นิทานเรื่องศรีธนญชัยในระยะต้นๆ มีไม่มากเรื่อง ผู้เล่ามักอ้างอิงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เหมือนศรีธนญชัยมีตัวตนอยู่จริง แต่ภายหลังมีผู้แต่งเติมเสริมต่อจนเฟ้อทำให้เสียรสไปเป็นอันมาก
…………..
ดูก่อนภราดา!
อันว่าเล่ห์เหลี่ยมกลโกงนั้น
: เป็นสิ่งสุดประเสริฐเหลือหลาย-ถ้าใช้กับฝ่ายตรงข้าม
: แต่เป็นสิ่งสุดแสนเลวทราม-ถ้าใช้กับฝ่ายเดียวกัน
—————-
(หยิบคำมาจากเฟซบุ๊กของ Zomar Sib Oon โดยเจ้าของไม่คิดมูลค่า)
#บาลีวันละคำ (1,945)
6-10-60