บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนบาลีเพื่อทำงานบาลี

เรียนบาลีเพื่อทำงานบาลี

————————-

สมัยก่อน การสอบบาลีในเมืองไทยใช้วิธีสอบแบบแปลปากเปล่า 

วิธีการคือมีกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วยพระเถระผู้ทรงภูมิรู้ มีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธาน ทำหน้าที่สอบ 

นักเรียนที่จะสอบต้องไปศึกษาคัมภีร์ตามที่กำหนดในประโยคนั้นๆ ให้เชี่ยวชาญ 

เมื่อถึงกำหนดวันสอบ ก็แบกคัมภีร์เข้าไปในท่ามกลางคณะกรรมการที่นั่งคอยทีอยู่แล้ว แล้วแปลข้อความในคัมภีร์ให้กรรมการฟังแล้วแต่กรรมการจะกำหนดให้เดี๋ยวนั้นว่าให้แปลตั้งแต่ไหนถึงไหน

สถานที่สอบคือพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง

——————–

คัมภีร์พระธรรม ไม่ว่าจะเป็นพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกาใดๆ ตลอดจนคัมภีร์เทศน์ เวลาจะนำไปไหนๆ โบราณาจารย์ท่านนิยมใช้กิริยา “แบก” ไป โดยอธิบายว่าเพราะเป็นของหนัก คือเป็นสิ่งที่ควรแก่การเคารพอย่างสูงยิ่ง

พระธรรมกถึกที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาดีท่านจะรู้ธรรมเนียมเป็นอันดี คือเวลาจะนำคัมภีร์ไปเทศน์ท่านจะแบกไป

ถ้าไม่ได้แบกไปเอง มีศิษย์หรือใครก็ตามนำไปแทน ศิษย์นั้นจะต้องแบกนำหน้าพระเทศน์ คือถือหลักพระธรรมนำพระสงฆ์ ไม่ใช่พระเทศน์เดินนำหน้าคัมภีร์

และในระหว่างแบกคัมภีร์อยู่นั้น ต้องไม่แสดงความเคารพใครใดทั้งสิ้นจนกว่าจะได้วางคัมภีร์ลง ณ ที่อันสมควรแล้ว 

ถือตามหลักที่ว่าพระธรรมเป็นที่เคารพสูงสุด

แม้พระพุทธองค์ก็ยังทรงเคารพพระธรรม

ผมเคยเห็นพระรุ่นใหม่เอาคัมภีร์เทศน์หนีบรักแร้หรือถือแกว่งไปแกว่งมาเวลาไปเทศน์ หรือมีศิษย์ถือคัมภีร์ตามหลัง

เห็นแล้วสลดใจ 

การอบรมสั่งสอนเสื่อมลงไปถึงเพียงนี้แล้วหรือ

——————–

กลับมาที่แบกคัมภีร์เข้าไปสอบ

คัมภีร์ที่ว่านี้ไม่ใช่หนังสือที่เป็นเล่มกระดาษอย่างที่คนรุ่นเราจับถือกันอยู่ 

แต่เป็นใบลาน

และโปรดเข้าใจว่า คัมภีร์ใบลานที่บันทึกคำสอนในพระพุทธศาสนาในสมัยนั้นเป็นภาษาบาลี แต่จาร (คือเขียน) เป็นอักษรขอม 

ตรงนี้ต้องขออนุญาตทำความเข้าใจให้ชัดๆ เพราะคนสมัยนี้มักเข้าใจสับสนระหว่างคำว่า “อักษร” กับ “ภาษา” 

“อักษร” คือลายลักษณ์หรือตัวหนังสือที่ขีดเขียนบอกให้รู้ว่าหมายถึงอะไร คนที่รู้จักลายลักษณ์และกฎเกณฑ์ของลายลักษณ์นั้นๆ ก็จะสามารถอ่านออกมาเป็นเสียงได้

“ภาษา” -เฉพาะในที่นี้-คือเสียงที่เปล่งออกมาบอกให้รู้ว่าหมายถึงอะไร คนที่รู้ภาษานั้นๆ ก็จะสามารถฟังออกว่าเสียงนั้นคำนั้นมีความหมายว่าอย่างไร 

เราใช้ “อักษร” เขียน “ภาษา”

เพื่อความเข้าใจง่ายขึ้น โปรดดูภาพประกอบ

ในภาพประกอบ ยกคำว่า “นโม” เป็นตัวอย่าง 

ในที่นี้ “นโม” เป็นภาษาบาลี 

เอาคำว่า “นโม” ไปเขียนเป็นอักษรขอม ก็อ่านว่า นะ-โม 

“นโม” ที่เขียนอักษรขอมนั้นก็ยังคงเป็นภาษาบาลี ไม่ใช่ภาษาขอม

เอาคำว่า “นโม” ไปเขียนเป็นอักษรโรมัน (ที่เรามักเรียกกันว่า อังกฤษ) ก็อ่านว่า นะ-โม 

“นโม” ที่เขียนอักษรโรมันนั้นก็ยังคงเป็นภาษาบาลี ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ

จับหลักตรงนี้ให้ดี แยกให้ถูก ก็จะไม่สับสน

——————–

ผมเคยเข้าไปอ่านกระดานสนทนาในเว็บไซต์ของราชบัณฑิตยสภา พบว่าแทบทุกคนที่เขียนเข้าไปขอให้เจ้าหน้าที่ราชบัณฑิตยฯ เขียนชื่อของตัวเองเป็นอักษรโรมัน จะใช้คำพูดว่า 

“ชื่อ — เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่าอย่างไร” 

บางคนก็หนักกว่านั้น คือใช้คำว่า “แปลเป็นภาษาอังกฤษว่าอย่างไร”

ตัวอย่างเช่น ผมชื่อ ทองย้อย แสงสินชัย 

ถ้าถาม ก็จะถามว่า “ชื่อทองย้อย แสงสินชัย เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่าอย่างไร” หรือ “ชื่อทองย้อย แสงสินชัย แปลเป็นภาษาอังกฤษว่าอย่างไร”

คนตอบก็ตอบว่า Thongyoi Sangsinchai 

แล้วทั้งคนถามทั้งคนตอบก็จะเข้าใจตรงกันว่า Thongyoi Sangsinchai นี่แหละคือชื่อทองย้อย แสงสินชัย ที่เขียนเป็น “ภาษาอังกฤษ” หรือ แปลเป็น “ภาษาอังกฤษ” 

ความจริงคือ Thongyoi Sangsinchai ไม่ใช่ “ภาษาอังกฤษ” และยังไม่ได้แปลเป็น “ภาษาอังกฤษ” ใดๆ ทั้งสิ้น 

Thongyoi Sangsinchai ยังเป็น “ภาษาไทย” อยู่นั่นเอง

เพียงแต่เขียนเป็น “อักษรโรมัน” (ที่เรามักเรียกกันว่า อังกฤษ) 

วิธีการเช่นนี้ ภาษาวิชาการของราชบัณฑิตยสภาท่านเรียกว่า “ถอดเป็นอักษรโรมันตามหลักการถ่ายเสียง” (ถ้อยคำอาจคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่ความหมายเป็นแบบนี้) 

แต่คนสมัยนี้ไม่ยอมรับรู้ ไม่ยอมเรียนรู้ และไม่ยอมเข้าใจ

ยังดึงดันที่จะใช้คำว่า “เขียนเป็นภาษาอังกฤษ” หรือ “แปลเป็นภาษาอังกฤษ” อยู่นั่นแล้ว 

แสดงให้เห็นว่า แยกไม่ออกบอกไม่เป็นว่า “อักษร” กับ “ภาษา” ต่างกันอย่างไร 

ครั้นพอพูดถึงคัมภีร์ใบลานภาษาบาลีที่เขียนเป็น “อักษรขอม” ก็เอาความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนั้นมาพูดว่า คัมภีร์ใบลาน “ภาษาขอม” 

ดังที่สุภาพสตรีท่านหนึ่งเล่าว่า ท่านไปวัดระฆัง พระท่านให้พระคาถาชินบัญชร “ภาษาขอม” มาฉบับหนึ่ง 

ความจริงก็คือ พระคาถาชินบัญชร “ภาษาขอม” ไม่เคยมีในโลก

มีแต่พระคาถาชินบัญชรภาษาบาลีที่เขียนเป็น “อักษรขอม” 

ถ้ายังไม่พยายามแก้ความเข้าใจผิด แต่ปล่อยให้พูดผิดใช้ผิดกันไปเรื่อยๆ อย่างนี้ ผิดจะกลายเป็นถูก ความวิปริตก็จะเกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวง

——————–

กลับมาที่แบกคัมภีร์เข้าไปสอบ

เรื่องที่ผมตั้งใจจะเล่าคือเรื่องรัชกาลที่ ๔

คำว่า “รัชกาลที่ ๔” ในที่นี้หมายถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 

และขออนุญาตใช้ถ้อยคำธรรมดาแบบชาวบ้านคุยกัน ไม่ต้องราชาศัพท์ 

รัชกาลที่ ๔ ท่านเป็นลูกพระมเหสีรัชกาลที่ ๒ ควรจะสืบราชสันตติวงศ์เป็นรัชกาลที่ ๓ แต่เมื่อรัชกาลที่ ๒ สวรรคต กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ซึ่งเป็นลูกพระสนมรัชกาลที่ ๒ ทรงกำกับราชการแผ่นดินอยู่เป็นอันมาก เรียกว่ามีบารมีมาก ผู้คนเคารพยำเกรงทั่วไป 

ตอนนั้นรัชกาลที่ ๔ กำลังบวชอยู่ ท่านถามผู้หลักผู้ใหญ่ในแผ่นดินในเวลานั้นว่า จะสึกออกไปเอาราชสมบัติดีไหม 

ผู้หลักผู้ใหญ่ตอบว่า “ยังไม่ใช่เวลาที่ควรจะปรารถนา” 

กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้รับการอัญเชิญขึ้นเป็นรัชกาลที่ ๓

รัชกาลที่ ๔ ก็เลยต้องครองเพศบรรพชิตสืบต่อไป และทรงครองอยู่ถึง ๒๗ พรรษา คือตลอดรัชกาลที่ ๓ 

ตลอดเวลา ๒๗ พรรษานั้นทรงศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างแตกฉาน ในด้านภาษาบาลีทรงเข้าแปลบาลี (แปลปากเปล่า) รวดเดียวได้ถึงประโยค ๕ 

สมัยแปลปากเปล่านั้นไม่ได้จำกัดว่าปีหนึ่งสอบได้ประโยคเดียวเหมือนสมัยนี้ 

นักเรียนรูปใดมีความรู้ความสามารถในคัมภีร์ที่กำหนดไว้เป็นหลักสูตร เมื่อสอบได้ในประโยคไหนแล้วสมัครใจจะสอบประโยคสูงขึ้นไปอีก กรรมการก็ให้สิทธิ์ให้สอบต่อไปได้เลยในคราวเดียวนั้น 

รัชกาลที่ ๔ ท่านเก่ง สอบคราวเดียวผ่านตั้งแต่ประโยค ๓ ประโยค ๔ ประโยค ๕ 

กำลังจะสมัครสอบประโยค ๖ ติดต่อกันไป ก็พอดีกรรมการรูปหนึ่งซึ่งไม่สู้จะถูกชะตากับรัชกาลที่ ๔ พูดเปรยๆ ขึ้นว่า “นี่จะปล่อยกันไปถึงไหน” 

รัชกาลที่ ๔ ท่านได้ยินเข้า ท่านรู้ทันเพราะความเป็นบัณฑิต ท่านจึงยุติการเข้าสอบบาลีไว้แค่ประโยค ๕ 

เพราะฉะนั้น พูดถึงวุฒิการศึกษา รัชกาลที่ ๔ ท่านก็ได้แค่เปรียญธรรม ๕ ประโยคเท่านั้น 

แต่ผลงานภาษาบาลีของท่านที่ปรากฏออกมาให้เราได้เห็นกัน ณ เวลานี้ล้ำลึกเกินเปรียญธรรม ๙ ประโยคไปหลายชั้น

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ผู้ทรงเป็นพระโอรสในรัชกาลที่ ๔ ก็ทรงเจริญรอยตาม คือทรงเข้าสอบแค่ประโยค ๕ เท่านั้น ไม่สอบสูงกว่าพระราชบิดา 

และผลงานบาลีของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นี้ก็ล้ำลึกเป็นที่ประจักษ์ทั่วไปเช่นกัน 

——————–

ผมจำได้ว่า หนังสือธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑ เคยมีภาษาบาลีที่เรียกชื่อหัวข้อเรื่องว่า “อกฺขรวิธานํ” อยู่ต้นเล่ม และเคยเห็นที่แปลเป็นภาษาไทยด้วย

อกฺขรวิธานํ” ซึ่งหมายถึงคำชี้แจงเรื่องอักขรวิธีในคัมภีร์บาลีอักษรไทยที่พิมพ์ขึ้นมาในยุคสมัยนั้น เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นผลงานทางวิชาการที่ทรงไว้เป็นภาษาบาลีที่ลึกซึ้งเกินภูมิประโยค ๙ ไปหลายชั้น 

ส่วนคำแปลเป็นภาษาไทย ผมไม่แน่ใจว่าเป็นฝีมือแปลของปราชญ์ท่านใดระหว่างท่านอาจารย์นาวาอากาศเอก เมฆ อำไพจริต กับท่านอาจารย์สิริ เพ็ชรไชย หรืออาจไม่ใช่ท่านทั้ง ๒ นี้ แต่เป็นท่านอื่น 

ขอแรงญาติมิตรที่เป็นนักเลงบาลีช่วยหาพระนิพนธ์ “อกฺขรวิธานํ” พร้อมทั้งคำแปลมาเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กนี้หน่อย 

จะเป็นการขอที่มากเกินกำลังไปหรือเปล่าขอรับ? 

นี่คืองานบาลี

นี่คืองานที่นักเรียนบาลี-นักเลงบาลีควรถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันทำ 

ศึกษา รวบรวมงานของบูรพาจารย์ไปก่อนก็ได้-ถ้ายังคิดอะไรไม่ออก

เดี๋ยวก็จะคิดออกเองว่าควรจะทำงานอะไรอีก

ระหว่างที่คณะสงฆ์ท่านกำลังตรวจข้อสอบบาลีกันอยู่นี้ เราก็ทำได้ขอรับ-งานบาลี 

ไม่จำเป็นต้องรอให้ประกาศผลก่อน

และไม่จำเป็นต้องรอให้สอบประโยค ๙ ได้ก่อน 

บูรพาจารย์ของพวกเรา ท่านสอบได้แค่ประโยค ๕ เท่านั้น ท่านก็ลงมือทำงานบาลีแล้ว 

และทำได้อย่างดีเลิศด้วย 

เรียนบาลีเพื่อทำงานบาลีขอรับ

ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบได้อย่างเดียว 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๔ มีนาคม ๒๕๖๑

๑๖:๓๖

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *