บาลีวันละคำ

บรรจถรณ์ (บาลีวันละคำ 1,951)

บรรจถรณ์

ใครจะนอนแบบไหน

อ่านว่า บัน-จะ-ถอน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บรรจถรณ์ : (คำแบบ) (คำนาม) เครื่องลาด, เครื่องปู, ที่นอน. (ป. ปจฺจตฺถรณ).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “บรรจถรณ์” บาลีเป็น “ปจฺจตฺถรณ

ปจฺจตฺถรณ” อ่านว่า ปัด-จัด-ถะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + ถรฺ (ธาตุ = ปกปิด, ปูลาด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ปฏิ เป็น ปจฺจ, ซ้อน ตฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (ปฏิ > ปจฺจ + ตฺ + ถรฺ), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น

: ปฏิ > ปจฺจ + ตฺ + ถรฺ = ปจฺจตฺถรฺ + ยุ > อน = ปจฺจตฺถรน > ปจฺจตฺถรณ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “วัตถุเป็นเครื่องปกปิดโดยเฉพาะ” หรือ “วัตถุเป็นเครื่องปูลาดโดยเฉพาะ” หมายถึง เครื่องปูลาด, คือ ปูข้างล่างหรือข้างบน, เครื่องลาด, ผ้าปิด, เครื่องปู, ผ้าห่ม, เบาะรองนั่งหรือพรมปูนั่ง, สิ่งที่ปูเก้าอี้นอน (something spread against, i. e. under or over, a cover, spread, rug, cushion or carpet to sit on, bedding of a couch)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่า บาลี “ปจฺจตฺถรณ” สันสกฤตเป็น pratyāstaraṇa ถอดเป็นอักษรไทยว่า “ปฺรตฺยาสฺตรณ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่ได้เก็บศัพท์นี้ไว้

อาจเป็นเพราะรูปคำสันสกฤตยืดเสียงยาวไปและขรุขระพอๆ กับบาลี ไม่ถนัดลิ้นไทย เราจึงแปลงรูปเป็น “บรรจถรณ์

อย่างไรก็ตาม พจนานุกรมฯ ก็ยังเก็บรูปคำอื่นไว้อีก 2 รูป คือ “ปัจจัตถรณ์” และ “ปัจถรณ์” บอกความหมายว่า คือ บรรจถรณ์

…………..

อภิปราย :

ปัจถรณ์” พจนานุกรมฯ บอกคำอ่านว่า ปัด-จะ-ถอน ไม่มีปัญหา

แต่ “ปัจจัตถรณ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

ปัจจัตถรณ์ [-ถอน] (แบบ) น. บรรจถรณ์. (ป.).”

นั่นคือท้ายคำ คือ –ถรณ์ อ่านว่า -ถอน แต่ต้นคำ คือ ปัจจัต– ไม่ได้บอกคำอ่านไว้

ครั้นมาถึงพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปัจจัตถรณ์ [-จัดตะถอน] (แบบ) น. บรรจถรณ์. (ป.).”

นั่นคือ “-จัตถรณ์” พจนานุกรมฯ บอกให้อ่านว่า จัด-ตะ-ถอน

ผู้เขียนบาลีวันละคำนึกถึงคำว่า “วิตถาร” อ่านว่า วิด-ถาน แต่หลายคนชอบอ่านว่า วิด-ตะ-ถาน

และคำว่า “อุตสาหกรรม” อ่านว่า อุด-สา-หะ-กํา ก็เคยได้ยินมีคนอ่านว่า อุด-ตะ-สา-หะ-กํา

วิตถาร” อ่านว่า วิด-ถาน ไม่ใช่ วิด-ตะ-ถาน

อุตสาหกรรม” อ่านว่า อุด-สา-หะ-กํา ไม่ใช่ อุด-ตะ-สา-หะ-กํา

ดังนั้น ตามหลักภาษา “ปัจจัตถรณ์” ควรอ่านว่า ปัด-จัด-ถอน ไม่ใช่ ปัด-จัด-ตะ-ถอน

เว้นไว้แต่ราชบัณฑิตยฯ มีหลักการอย่างอื่นที่ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่ทราบ หรืออาจจะนึกไม่ถึง

…………..

แถม :

เห็นคำว่า “บรรจถรณ์” ผู้เขียนบาลีวันละคำเป็นต้องนึกถึงวรรณคดีเรื่อง “นิราศนรินทร์”

สมัยเป็นเณรน้อยอยู่บ้านนอก ไปเห็นหนังสือนิราศนรินทร์ อ่านแล้วประทับใจ ไม่มีสตางค์ซื้อ ลงทุนคัดลอกด้วยลายมือตัวเองลงในเล่มสมุด

สมุดเล่มนั้นยังเก็บรักษาไว้จนบัดนี้

“นิราศนรินทร์” ที่ประทับใจบทหนึ่งว่าดังนี้ –

๏ บรรจถรณ์หมอนม่านมุ้ง….เตียงสมร

เตียงช่วยเตือนนุชนอน……..แท่นน้อง

ฉุกโฉมแม่จักจร……………..จากม่าน มาแฮ

ม่านอย่าเบิกบังห้อง…………หับให้คอยหน ฯ

เชิญญาติมิตรถอดความกันตามอัธยาศัย เทอญ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ประพฤติชั่ว นอนบนบรรจถรณ์ทองคำ

: ไม่สุขเท่าประพฤติธรรมนอนบนพื้นดินดาน

#บาลีวันละคำ (1,951)

12-10-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย