อันติมบุรุษ (บาลีวันละคำ 1,953)
อันติมบุรุษ
ผู้มาถึงจุดสิ้นสุดของเส้นทาง
อ่านว่า อัน-ติ-มะ-บุ-หฺรุด
(ไม่ใช่ อัน-ติม–)
แยกศัพท์เป็น อันติม + บุรุษ
(๑) “อันติม”
บาลีเขียน “อนฺติม” อ่านว่า อัน-ติ-มะ รูปคำเดิมมาจาก อนฺต + อิม ปัจจัย
(ก) “อนฺต” (อัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก อมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ต ปัจจัย, แปลง ม ที่สุดธาตุเป็น น (อมฺ > อนฺ)
: อมฺ > อน + ต = อนฺต (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ถึงที่สุด”
“อนฺต” ตามคำแปลนี้หมายถึง –
(1) ที่สุด, สำเร็จ, ที่หมาย (end, finish, goal)
(2) เขต, ชาย, ริม (limit, border, edge)
(3) ข้าง (side)
(4) ด้านตรงกันข้าม, ตรงกันข้าม, ตำแหน่งตรงกัน (opposite side, opposite, counterpart)
(ข) อนฺต + อิม = อนฺติม แปลตามศัพท์ว่า “มีในที่สุด” หมายถึง สุดท้าย, ที่สุด (last, final)
“อนฺติม” เขียนตามแบบไทยเป็น “อันติมะ” หรือ “อันติม-” (กรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) รูปคำดูไม่น่าจะมีใช้ในภาษาไทย แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็เก็บคำนี้ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –
“อันติม-, อันติมะ : (คำวิเศษณ์) สุดท้าย, สูงสุด, เช่น ความจริงอันติมะ คือ ความจริงสุดท้าย ความจริงสูงสุด. (ป.; อ. ultimate).”
(๒) “บุรุษ”
บาลีเป็น “ปุริส” (ปุ-ริ-สะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ปุร (ธาตุ = เต็ม) + อิส ปัจจัย
: ปุร + อิส = ปุริส แปลว่า “ผู้ยังดวงใจของบิดามารดาให้เต็ม”
(2) ปุ ( = นรก) + ริส (ธาตุ = เบียดเบียน, กำจัด)
: ปุ + ริส = ปุริส แปลว่า “ผู้เบียดเบียนนรก” คือทำให้นรกว่าง เพราะเกิดมาทำให้บิดามารดาไม่ต้องตกนรกขุมที่ชื่อ “ปุตตะ”
(3) ปุริ ( = เบื้องบน) + สี (ธาตุ = อยู่)
: ปุริ + สี > ส = ปุริส แปลว่า “ผู้อยู่ในเบื้องสูง” หมายถึงเป็นหัวหน้า
(4) ปุร ( = เบื้องหน้า) + สี (ธาตุ = เป็นไป)
: ปุร + อิ = ปุริ + สี > ส = ปุริส แปลว่า “ผู้เป็นไปในเบื้องหน้า” หมายถึงผู้นำหน้า
(5) ป ( = ปกติ) + อุร ( = อก) + สี (ธาตุ = นอน)
: ป + อุร = ปุร + อิ = ปุริ + สี > ส = ปุริส แปลว่า “ผู้นอน บน อก โดยปกติ”
“ปุริส” สันสกฤตเป็น “ปุรุษ” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “บุรุษ”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บุรุษ : (คำนาม) ผู้ชาย, เพศชาย, คู่กับ สตรี, ใช้ในลักษณะที่สุภาพ.”
พึงทราบว่า “ปุริส” ในภาษาบาลีไม่ได้เล็งที่ “ผู้ชาย” เสมอไป ในที่หลายแห่งหมายถึง “คน” หรือมนุษย์ทั่วไป ไม่แยกว่าชายหรือหญิง เช่นเดียวกับคำว่า man ในภาษาอังกฤษ แปลว่า “ผู้ชาย” ก็ได้ แปลว่า “คน” หรือมนุษย์ทั่วไปก็ได้
อนฺติม + ปุริส = อนฺติมปุริส (อัน-ติ-มะ-ปุ-ริ-สะ) > อันติมบุรุษ แปลตามศัพท์ว่า “คนผู้มีในที่สุด”
…………..
ขยายความ :
“อันติมบุรุษ” หมายถึงคนสุดท้ายที่ทำให้เรื่องที่ดำเนินมาเป็นเวลานานสิ้นสุดลง เช่น ตระกูลหนึ่งบำเพ็ญกรณียะอันสมควรสืบต่อกันมาไม่ขาดสาย เช่นตั้งโรงทานไว้สี่มุมเมืองแล้วให้ทานสืบต่อกันมาหลายชั่วคนเป็นต้น ต่อมาผู้สืบสันดานของตระกูลนั้นมายกเลิกกรณียะนั้นเสียทั้งๆ ที่ยังสามารถทำได้ ผู้สืบสันดานคนนั้นชื่อว่า “อันติมบุรุษ” คือผู้ทำให้กรณียะของตระกูลมาสิ้นสุดขาดตอนลงที่ตน
ตามนัยนี้ “อันติมบุรุษ” ก็มีความหมายในทางไม่ดี กล่าวตามภาษานิยมก็ว่ามีความหมายในทางลบ
อีกนัยหนึ่ง กรณียะของตระกูลที่ดำริริเริ่มกันไว้ แต่ยังทำไม่สำเร็จ เช่นตระกูลหนึ่งต้องการเรียนวิชาแพทย์มาตั้งแต่รุ่นทวด แต่สอบเข้าเรียนไม่ได้ รุ่นปู่ก็สอบเข้าเรียนไม่ได้ มาถึงรุ่นพ่อ รุ่นลูก ก็ยังสอบเข้าเรียนไม่ได้อยู่นั่นเอง แต่มาสอบเข้าเรียนได้ในรุ่นหลาน ดังนี้ คนในรุ่นหลานนั้นก็ได้ชื่อว่า “อันติมบุรุษ” ในความหมายว่าผู้ทำให้กรณียะของตระกูลบรรลุถึงที่สุดได้ในรุ่นของตน
แต่พึงทราบว่าความหมายตามนัยหลังนี้เป็นการอธิบายช่วยโดยอัตโนมัติ เพื่อให้ “อันติมบุรุษ” มีความหมายในทางบวก
การจะเป็นคนแรกหรือคนสุดท้ายในกรณีใด ย่อมขึ้นอยู่กับอัธยาศัยสันดานของแต่ละคน
…………..
ดูก่อนภราดา!
บุรุษดังนี้ยังพอจะหาได้ฤๅหาไม่ –
: เป็นคนแรกที่อาสา-แม้รู้ว่าจะต้องไปตาย
: เป็นคนสุดท้าย-ถ้าจะขอให้ได้รับรางวัล
#บาลีวันละคำ (1,953)
14-10-60