สุดารัตน์ (บาลีวันละคำ 1,956)
สุดารัตน์
เรียนบาลี ไม่มีการเมือง
อ่านว่า สุ-ดา-รัด
มีคำบาลี 2 ศัพท์ คือ สุดา + รัตน์
(๑) “สุดา”
ศัพท์เดิมในบาลีเป็น “สุต” (สุ-ตะ) รากศัพท์มาจาก สุ (ธาตุ = ปกครอง, ฟัง) + ต ปัจจัย
: สุ + ต = สุต = แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้อันบิดามารดาปกครอง” (2) “ผู้เชื่อฟัง”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่า “สุต” เป็นรูปกิริยากิตก์อดีตกาล รากศัพท์มาจาก สุ หรือ สู ธาตุ แต่บอกความหมายว่า to generate (ก่อให้เกิด)
ในที่นี้ “สุต” เป็นคำนาม หมายถึง ลูกชาย (son)
สุต + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ = สุตา หมายถึง ลูกสาว (daughter)
“สุตา” ในภาษาไทยเป็น “สุดา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุดา : (คำนาม) ลูกสาว. (ป., ส. สุตา); หญิงสาว.”
โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมฯ บอกว่า “สุดา” ที่แปลว่า ลูกสาว นั้นเป็นความหมายในบาลีสันสกฤต แต่ที่แปลว่า หญิงสาว ไม่ใช่ความหมายตามบาลีสันสกฤต
(๒) “รัตน์”
บาลีเป็น “รตน” (ระ-ตะ-นะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) รติ (ความยินดี) + ตนฺ (ธาตุ = ขยาย, แผ่ไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ลบ ติ ที่ รติ (รติ > ร)
: รติ + ตนฺ = รติตน + ณ = รติตนณ > รติตน > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายความยินดี” คือเพิ่มความยินดีให้
(2) รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ตน ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (รมฺ > ร)
: รมฺ + ตน = รมตน > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นที่ชื่นชอบแห่งผู้คน”
(3) รติ (ความยินดี) + นี (ธาตุ = นำไป) + อ ปัจจัย, ลบ อิ ที่ รติ (รติ > รต), ลบสระที่ธาตุ (นี > น)
: รติ + นี = รตินี + อ = รตินี > รตนี > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่นำไปสู่ความยินดี”
(4) รติ (ความยินดี) + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + อ ปัจจัย, แปลง อิ ที่ รติ เป็น อะ (รติ > รต), ลบ ช ต้นธาตุ (ชนฺ > น)
: รติ + ชนฺ = รติชนฺ + อ = รติชน > รตชน > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยังความยินดีให้เกิดขึ้น”
“รตน” ในภาษาไทยเขียน “รัตน-” (รัด-ตะ-นะ- กรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) “รัตน์” (รัด) “รัตนะ” (รัด-ตะ-นะ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“รัตน-, รัตน์, รัตนะ : (คำนาม) แก้วที่ถือว่ามีค่ายิ่ง เช่น อิตถีรัตนะ คือ นางแก้ว หัตถิรัตนะ คือ ช้างแก้ว; คน สัตว์ หรือสิ่งของที่ถือว่าวิเศษและมีค่ามาก เช่น รัตนะ ๗ ของพระเจ้าจักรพรรดิ ได้แก่ ๑. จักรรัตนะ-จักรแก้ว ๒. หัตถิรัตนะ-ช้างแก้ว ๓. อัสสรัตนะ-ม้าแก้ว ๔. มณิรัตนะ-มณีแก้ว ๕. อิตถีรัตนะ-นางแก้ว ๖. คหปติรัตนะ-ขุนคลังแก้ว ๗. ปริณายกรัตนะ-ขุนพลแก้ว; ของประเสริฐสุด, ของยอดเยี่ยม, เช่น รัตนะ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแก้วอันประเสริฐสุดของพุทธศาสนิกชน; ใช้ประกอบคําอื่นหมายถึงยอดเยี่ยมในพวกนั้น ๆ เช่น บุรุษรัตน์ นารีรัตน์ รัตนกวี. (ป. รตน; ส. รตฺน).”
สุดา + รัตน์ = สุดารัตน์ ถ้าเทียบกับคำว่า บุรุษรัตน์ นารีรัตน์ (ตามตัวอย่างในพจนานุกรมฯ) คำว่า “รัตน์” เป็นคำขยาย “สุดา” แปลว่า ลูกสาวผู้มีค่าดังแก้ว หรือ หญิงสาวผู้มีค่าดังแก้ว
การวางคำขยายไว้หลังเช่นนี้ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “วิเสสนุตรบท” (วิ-เส-สะ-นุด-ตะ-ระ-บด) แปลว่า “บทวิเศษณ์อยู่หลัง”
ถ้าวางคำขยายไว้หน้าซึ่งเป็นแบบที่เราคุ้นกันในภาษาบาลี ต้องเป็น “รัตนสุดา” (รัด-ตะ-นะ-สุ-ดา) แบบนี้ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “วิเสสนบุพบท” (วิ-เส-สะ-นะ-บุบ-พะ-บด) แปลว่า “บทวิเศษณ์อยู่หน้า”
…………..
ข้อสังเกต :
คำว่า “สุดารัตน์” มีสถานะเป็น 2 อย่าง คือ –
๑ ในฐานะคำทั่วไป เป็นการเอาคำว่า “สุดา” กับ “รัตน์” มาประสมกัน ซึ่งอาจใช้เป็น “สุดารัตน์” ตามรูปนี้ หรืออาจเป็น “รัตนสุดา” ก็ได้ (โปรดสังเกต ถ้า “รัตน์” อยู่หน้า ต้องไม่มีเครื่องหมายการันต์ที่ น คือไม่เขียนเป็น “รัตน์สุดา”) และต้องแปลตามความหมายของศัพท์ คือแปลว่า “ลูกสาวผู้มีค่าดังแก้ว” หรือ “หญิงสาวผู้มีค่าดังแก้ว”
๒ ในฐานะเป็นชื่อเฉพาะ เช่น ชื่อคน ชื่อสถานที่ ที่เรียกว่า “อสาธารณนาม” หรือ “วิสามานยนาม” ในสถานะนี้จะเขียนอย่างไร อ่านอย่างไร และมีความหมายอย่างไร ย่อมเป็นไปตามเจตนาของเจ้าของชื่อหรือตามเจตนาของผู้ตั้งชื่อ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ความนิยมนับถืออาจมีได้ด้วยการวิ่งหา
: แต่ชีวิตที่มีคุณค่ามีได้ด้วยการลงมือทำความดี
————-
หมายเหตุ :
เนื่องจากระยะนี้มีกระแสสังคมวิจารณ์คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่ได้สนใจสถานะทางสังคมและเรื่องราวที่ท่านถูกวิจารณ์ แต่สนใจเฉพาะชื่อและนามสกุล และสนใจในแง่ภาษาเท่านั้น ไม่ได้สนใจไปถึงแง่อื่น เช่นที่ไปที่มาของชื่อเป็นต้น
ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นว่า คำว่า “สุดา” “รัตน์” “เกยุรา” “พันธุ์” เป็นคำที่ผู้สนใจภาษาบาลีควรรู้ความหมาย อย่างคำว่า “เกยุรา” ถ้าถามกันว่าแปลว่าอะไร หลายคนคงตอบไม่ได้ เนื่องจากเป็นคำที่แปลกตา เราไม่ค่อยได้พบ เมื่อมองในแง่นี้ย่อมเป็นเรื่องที่ควรนำมาเสนอสู่กันอ่าน
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอร้องมายังญาติมิตรว่า กรุณางดเว้นการแสดงความเห็นในเชิงการเมืองหรือพาดพิงไปถึงท่านเจ้าของชื่อและนามสกุลนี้ไม่ว่าจะด้วยประการใดๆ ขอได้โปรดสนใจในแง่ภาษาเท่านั้น
#บาลีวันละคำ (1,956)
17-10-60